ข่าวบัณฑิตชาวอเมริกัน สายมนุษยศาสตร์และศิลปะศาสตร์หรือเรียกแบบไทยๆ คือ “สายสังคม” เสียใจที่ตัวเองมาเรียนสายนี้ เป็นเหตุให้รายรับไม่เพียงพอ สรุปความได้ว่า ราว 2 ใน 5 ของบัณฑิตสหรัฐฯ เกิดอาการเสียใจกับเส้นทางที่ตัวเองเลือก สมัยเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะบัณฑิตสายมนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ บุคคลสำคัญต่างๆ ในสังคมของอเมริกันจึงเรียกร้องให้ผู้คนหันมาเรียนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์มากขึ้น หลังจากที่สายมนุษยศาสตร์และศิลปะมีผู้สนใจศึกษาน้อยลง ที่จริงก็เหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นล่ะ
ผลสำรวจของ Federal Reserve ระบุว่า ในปี 2021 จำนวนผู้ศึกษาเกือบครึ่งหนึ่งของสาขาวิชามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ เสียใจที่ได้เลือกเรียนสายนี้ ขณะที่นักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์กลับมีความเสียใจน้อยที่สุด โดยมีเพียง 24% จากจำนวนที่สำรวจทั้งหมดเท่านั้นที่บอกว่า พวกน่าจะเลือกเรียนสายอื่น ทั้งผลการวิเคราะห์ข้อมูลของ Fed (Federal Reserve System) ยังแสดงให้เห็นด้วยว่า ยิ่งคนที่เรียนจบมามีรายได้สูงเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเสียใจกับวิชาเอกที่ตนได้เลือกเรียนไปในระดับมหาวิทยาลัยน้อยลงเท่านั้น (https://www.washingtonpost.com/…/02/college-major-regrets/)
ทั้งหมดทั้งมวลบอกสังคมไทยเราอย่างไรได้บ้าง เพราะหากจะดูบรรยากาศการเรียนการสอนในบ้านเราตอนนี้แล้ว ย่อมจะเห็นอย่างชัดเจนว่า สถาบันอุดมศึกษาของไทยยังมัวแต่สาละวนอยู่กับการแข่งขันกันเปิดหลักสูตรนานาพันธุ์แบบไม่สร่างซา บ้างก็กล่าวอ้างถึงหลักสูตรนานาชาติอันเป็นวิถีต้มตุ๋นดัดจริต ตอนนี้ผู้เรียนน้อยก็ขวนขวายหาผู้เรียนจากต่างประเทศเข้าเสริมบ้าง แลก็มีคนไทยตกเป็นเหยื่อการโฆษณาชวนเชื่อแบบนี้อยู่เนืองๆ ตามค่านิยม ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็น “หลักสูตรเป็ด”ไทยครึ่ง ฝรั่งครึ่ง ไม่เชื่อไปตรวจสอบได้ ย้ำว่า ไม่ใช่ทุกที่แต่ทำเป็นกันส่วนใหญ่
ทั้งแลดูเหมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ยังจะมีนโยบายจัดตั้งหนึ่งตำบลหนึ่งมหาวิทยาลัยอยู่ด้วยซ้ำ ซึ่งก็เป็นตรรกะแบบเดิมๆ หาได้เลยพ้นไปจาก “ตรรกะวาระแห่งชาติ” หรือ National Agenda แบบไทยๆ ไปไม่มากมายเท่าใดนัก ยิ่งไปกว่านั้น ตอนนี้เจ้ากระทรวงเดียวกันนี้ ในยุคการเมืองบั้นปลายเผด็จการของไทยผันผวน ก็ได้อันตรธานเข้ากลีบเมฆไปเป็นที่เรียบร้อยไม่ปรากฏร่องรอยความเป็นครูบาอาจารย์ในกาลก่อน ให้ชาวบ้านได้แลเห็นเอาเลย ซึ่งก็เป็นนวัตกรรมการหายตัวแบบไทยๆ นั่นเอง
ไม่นับรวมมหาวิทยาลัยตามหัวเมืองในประเทศไทยในขณะนี้ ที่อาศัยกระแสปริญญาบัตรนิยมของสังคมไทย พากันโหมประโคมหลักสูตรในระดับบัณฑิตศึกษากันอยู่โครมๆ แลเนืองๆ ดังเราจะเห็นป้ายคัทเอาท์โฆษณาทีเด็ดเมนูหลักสูตรริมถนนขึ้นโชว์อยู่ให้เกร่อในหลายๆ จังหวัด ทั้งที่ไม่มีการรับประกันผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในระดับหลักสูตรทำนองดังกล่าวแต่อย่างใดเลย
พูดง่ายๆ บัณฑิตจบออกมาจะเป็นอย่างไร เอาตัวรอดหรือไม่ ฉันไม่แคร์ ฉันมีหน้าที่สอนและรับเงินเดือน ผ่านค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษาเพียงอย่างเดียวก็พอแล้ว
ว่ากันตามตรง มหาวิทยาลัยไทยไม่ว่าจะอยู่ในเขตพื้นที่ไหน ไม่เคยรับผิดชอบต่อผลผลิตที่ตัวเองผลิตขึ้นมา ทั้งไม่สนใจเรื่องคุณภาพของการศึกษากันมานาน คุณภาพของผู้เรียนเป็นอย่างไรย่อมทราบกันดี แลคุณภาพของอาจารย์ผู้สอนกลับยิ่งน่าเห็นห่วงมากกว่า เส้นสายกันเข้ามาตามระบบอุปถัมภ์มีให้เห็นถมเถไป ทั้งนี้ เพราะสังคมคาดหวังเพียงดีกรีหรือปริญญาบัตรกันเพียงเท่านั้น
ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อให้สอดคล้องกับค่านิยมของสังคมไทย คือขอให้มีคำว่า “ดร.”นำหน้าชื่อในโลกโซเชียลก็พอแล้ว นี้จึงต่างจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันการอุดมศึกษาของอารยประเทศ ที่มีการสำรวจ มีการประเมินผลผลสัมฤทธิ์ของหลักสูตรเป็นระยะๆ เพื่อผู้สนับสนุน กรรมการหรือสภามหาวิทยาลัย ตลอดถึงผู้ปกครองของนักศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยเหล่านั้นจะพึงแลเห็นว่า พวกเขาควรสนับสนุนหลักสูตร หรือสนับสนุนมหาวิทยาลัยดีต่อไปหรือไม่ แลทำกันแบบโปร่งใส เปิดเผยทางออนไลน์ด้วยซ้ำ
หากเพราะมหาวิทยาลัยของไทยไม่เคยมีระบบการตรวจสอบประเมินผลฯ ที่ตรงเป้าหมาย หรือเอ้าท์คัมจากงานที่เป็นหน้าที่ของตัวเองอย่างเป็นกระบวนการ เป็นระบบ และเป็นไปตามวิถีโลกสมัยใหม่ จ้องกินแต่เงินภาษีชาวบ้าน ในนามหน่วยงานการศึกษาของรัฐกันมานาน(หน่วยงานราชการ) หน้าที่ในส่วนการวิจัยเองก็เป็นงานวิจัยขยะเสียเป็นส่วนใหญ่ ไร้คุณค่าต่อสังคมในแบบที่เห็นๆ กันอยู่ คือได้ใช้งบใช้ทุนในนามของการวิจัยแค่นั้นแล
ว่าไปแล้วการทำสายสังคมให้กินได้ ในฐานะที่สายนี้เป็นพื้นฐานของมนุษย์แลอุดมไปด้วยตรรกศาสตร์นั้น ก็ย่อมจะทำได้ ดังเราเห็นบุคคลตัวอย่างของไทยจำนวนมากเป็นกัน นั่นคือ การประสบความสำเร็จในชีวิตของบุคคลนั้นๆ ใช่แต่บุคคลจำพวกนักการเมืองเพียงอย่างเดียว
หากเพราะมหาวิทยาลัยไทยนิยมการซูฮกต่อกลุ่มผู้มีอำนาจเป็นหลัก หรือก็คือไม่ซื่อสัตย์ต่อวิชาการของตนนั้นแล การศึกษาสายสังคมจึงพลอยพังพาบไปด้วยประการทั้งปวง เอะอะไรก็โยนความผิดไปให้ค่านิยมของสังคม โยนไปให้สายวิทยาศาสตร์ โยนให้ความไม่สมดุลของโลกวัตถุสมัยใหม่ แทบทั้งสิ้น ทั้งที่สายสังคมเองกลับดูจะเป็นสายงานที่มีผลต่ออนาคตของชาติเป็นที่ยิ่งในแง่ของการวิเคราะห์อนาคตศาสตร์ด้านต่างๆ เป็นน้ำมันหล่อลื่นศาสตร์ทุกแขนง แม้แต่วิทยาศาสตร์เองก็ตาม
อันว่า ธรรมชาติของมนุษย์นั้น ย่อมตะครุบของกินที่วางตรงหน้าก่อน จะเป็นผลตอบแทนหรือรายได้ก็ตาม มนุษย์เกือบทุกคนนั่นล่ะ ที่จริงสายสังคมเป็นพวกสายนักคิด ถ้าบ้องตื้นไหลตามน้ำอยู่เอื่อยๆ เนืองๆ ก็ย่อมหากินยากลำบากแน่นอน ดังนั้น ถ้าสังเกตในแง่มุมการศึกษาบ้านเราบางส่วน ก็จะได้ว่า บ้านเรานั้น ลำพังแค่การอธิบายความเห็น ความคิดของตัวเองก็สอบตกแล้ว ยิ่งการอธิบายมันในฐานะของความร่วมสมัยของสังคม กลับยิ่งในสามารถประยุกต์สังคมศาสตร์เข้ากับศาสตร์แขนงอื่นอันเป็นองค์บูรณาการได้ด้วยซ้ำ การวิเคราะห์แยกแยะทั้งปวงล้วนอาศัยตรรกะที่แม่นยำ อาศัยการอธิบายเป็นหลักซึ่งก็แปลว่าต้องเข้าใจมันก่อนจึงอธิบายได้ ไม่ใช่การท่องมาเพียวๆ
ปัญหาคือกี่มหาวิทยาลัยที่เวลานี้อาจารย์ผู้สอน ผู้บริหาร กำลังต้มตุ๋นนิสิตนักศึกษาอยู่ ทำกันแบบมักง่ายกับผู้ที่จะเอาดีกรีไว้ลงรักปิดทอง ที่สำคัญสถาบันการศึกษาควรหัดรับผิดชอบต่อผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาที่ตัวเองคลอดออกมาด้วย ไม่ใช่ต้มตุ๋นเชิงหลักสูตรฯ ปั่นจนดูหรู หากินไปวันๆ
นวัตกรรมเป็นชื่อต่อท้ายกระทรวงอุดมศึกษาของไทยแต่ก็ไม่สะท้อนอะไรมากมายไปมากกว่าปาหี่ทางการศึกษา ที่จริงนวัตกรรมทางความคิดไม่ได้ต่างจากนวัตกรรมในทางเทคโนโลยีเลย มิหนำซ้ำดูจะยากกว่ากันด้วยซ้ำ เพราะว่าที่จริงแล้ว มันเป็นนามธรรม ยากในการจับต้อง เพียงคุณต้องคิด ต้องอธิบายอย่างเป็นกระบวนการ อยู่ในตรรกะ
ดังนั้น ถ้าบัณฑิตสายสังคมไม่กล้านำตนออกจากมุ้งของตัวเองแล้ว ดีแต่ประจบประแจงครูบาอาจารย์ ทหาร ข้าราชการ และนักการเมืองล่ะก็ อย่าพึงหวังสิ่งใดๆ ที่ประเสริฐเลอเลิศ รวมถึงผลตอบแทนแห่งรายได้ให้มากไปกว่านี้ฯ