‘ฟอลคอน เดอะ มิวสิคัล’
นิทาน อำนาจ
ประวัติศาสตร์ที่มีช่องว่างให้เติมคำ
เมื่อพูดถึงการเล่าประวัติศาสตร์หลายคนอาจจะจำภาพความน่าเบื่อ หรือการเล่าในรูปแบบเดิมๆ แต่จะน่าสนุกแค่ไหนหากถูกนำมาเล่าในรูปแบบของละครเพลงที่ปรับให้เข้าใจง่ายและสอดคล้องยุคสมัยมากขึ้น
ละครเพลงเรื่อง ‘ฟอลคอน กับ นารายณ์ เดอะ มิวสิคัล’ โดยฟ้าฝันโปรดักชั่น จัดแสดงจบไปแล้วเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ณ Buffalo Bridge Gallery ย่านสะพานควาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในเทศกาลละครกรุงเทพ สร้างปรากฏการณ์บัตรเต็มทั้ง 8 รอบ
บอกเล่าเรื่องราวแห่งมิตรภาพ ความฝันของหนุ่มสาว และการเมือง เมื่อคอนสแตนติน ฟอลคอน พ่อค้าชาวกรีกผู้กระหายอำนาจ เดินทางมาสู่ดินแดนสยามอันเต็มไปด้วยกลเกมราชบัลลังก์
นำเสนอประวัติศาสตร์ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมาเล่าผ่านละครเพลงที่นำเสนอทั้งการแสดง การร้อง และการเต้น สอดแทรกบทหรือคำพูดที่อยู่ในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อให้เข้ากับยุคสมัย เปลี่ยนการเล่าประวัติศาสตร์ไทยในรูปแบบเดิมให้น่าสนใจและทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
ปรุง‘จดหมายเหตุ’เป็นละครเพลง ตีความเพิ่ม เติมรสกลมกล่ม
รังสิมันตุ์ กิจชัยเจริญ หรือโปเต้ ผู้กำกับการแสดง เล่าว่า ที่มาของละครเพลงเรื่องนี้ เริ่มต้นจากปณิธานของฟ้าฝันโปรดักชั่นตั้งใจที่จะสร้างชุมชนของกลุ่มคนที่รักและหลงใหลในการทำละครเพลง หรือคนที่มีความสามารถแต่ไม่มีพื้นที่ในการแสดง โดย KAD Performing Arts เชียงใหม่ ต้องการให้ช่วยเขียนบทเรื่องนี้ จึงเปิดเป็นโปรเจ็กต์ช่วงประมาณกลางปีที่แล้ว ชื่อว่า Musical Lab รับสมัครนักเขียนบท นักแต่งเพลง คนที่สนใจเป็นนักแสดงในระดับอุดมศึกษาและบุคคลทั่วไป มีการเวิร์กช็อปการทำละครเพลงภายใน 7 วัน จนเริ่มออกมาเป็นรูปร่าง อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์โควิด เกิดการล็อกดาวน์ ทำให้การจัดการแสดงล่าช้าและสุดท้ายจัดได้แค่ในรูปแบบที่ไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะ ฟ้าฝันโปรดักชั่นจึงดึงมาทำต่อในเวอร์ชั่นของตัวเอง โดยปรับให้กลมกล่อมมากขึ้น และสามารถสื่อสารในรูปแบบที่อยากให้เป็น สำหรับเนื้อเรื่องและตัวบทละครมาจากหลายแหล่งที่มา ทั้งหนังสือเรียน จดหมายเหตุ จนถึงการ ‘เติมคำในช่องว่างทางประวัติศาสตร์’ ผ่านการตีความ
“แน่นอนว่าตัวร้ายอย่างคอนสแตนติน ฟอลคอนมักจะไม่ค่อยอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์หรือแบบเรียนเท่าไหร่ เราจึงต้องไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่น การดูผ่านสื่อว่าตอนนี้สื่อนำเสนอฟอลคอนออกมาในรูปแบบไหน ละครเรื่องบุพเพสันนิวาส หรือนิยายเรื่องฟอลคอนแห่งอยุธยา ก็เป็นส่วนการตีความของแต่ละคนและก็กลับไปมองในเชิงประวัติศาสตร์ หาข้อมูลจากจดหมายเหตุลาลูแบร์ รวมถึงบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่นักประวัติศาสตร์ออกมาพูดถึงกัน เราก็จะได้ชุดข้อมูลมาประมาณหนึ่งซื่งเป็นการมองในมุมต่างๆ แล้วมาเติมคำในช่องว่างในประวัติศาสตร์บางช่วงโดยพยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ทั้งหมดเข้าหากัน ในส่วนที่เราเติมเต็มเข้าไปก็ทำให้ละครเรื่องนี้นอกจากการอิงประวัติศาสตร์แต่ในขณะเดียวกันก็มีหลายส่วนที่เรียกได้ว่าเป็นนิยายที่เสริมเข้าไปเพื่อขับเน้นเนื้อหาของเรา” รังสิมันตุ์อธิบาย
ชุดนักเรียน กระดาษลัง พลัง‘มือใหม่’
อุปกรณ์ประกอบฉาก
‘แซะ’ระบบการศึกษาไทย
รังสิมันตุ์ยังเล่าอีกว่า นักแสดงเกือบทั้งหมดเป็นนักแสดงใหม่ เพราะโจทย์หลักของโปรเจ็กต์นี้คือการใช้นักแสดงที่ไม่มีประสบการณ์ หรือมีประสบการณ์น้อยที่สุด เพราะอยากได้พลังของ ‘มือใหม่’
“การออกแบบโปรดักชั่น เสื้อผ้าที่เป็นชุดนักเรียน การใส่โจงกระเบน อุปกรณ์ประกอบฉากต่างๆ ที่ทำจากกระดาษลัง ทุกอย่างถูกเลือกมาแล้วว่าจะใช้เพื่อตอบโจทย์ว่าเป็นการเล่าแบบเด็กๆ เหมือนการเปิดหนังสือนิทานและแบบเรียน การให้นักแสดงทั้งผู้ชายและผู้หญิงเป็นแบบเดียวกัน เพื่อสะท้อนภาพของระบบการศึกษาที่ถูกตีกรอบ ส่วนของอุปกรณ์การแสดงที่เป็นกระดาษลังนั้นสื่อสารว่าอะไรก็ตามที่เป็นวัตถุ เช่น ทรัพย์สมบัติ เครื่องประดับ สุดท้ายแล้วก็เป็นแค่กระดาษ” ผู้กำกับละครเพลงอธิบาย ก่อนเปิดใจถึงเบื้องหลังว่า
การทำงานละครเพลงเรื่องนี้ค่อนข้างยากมาก ทุกคนต้องทำงานกันหลายหน้าที่ บวกกับต้องทำงานกับกลุ่มนักแสดงมือใหม่ซึ่งเป็นโจทย์ที่ท้าทาย นอกจากนี้ เมื่อมีการล็อกดาวน์ ก็ต้องซ้อมผ่านทางออนไลน์และรอดูสถานการณ์ว่าจะได้แสดงหรือไม่ ซึ่งค่อนข้างบั่นทอนกำลังใจทั้งคนทำงานและในแง่ของค่าใช้จ่ายต่างๆ นี่คือความโหดของการทำงาน
ซ้อมออนไลน์
ประสบการณ์ใหม่ผู้สวมบท‘ฟอลคอน’
สำหรับผู้มารับหน้าที่แสดงเป็นตัวละครหลักในการดำเนินเรื่องอย่างคอนสแตนติน ฟอลคอน คือ แทนปิติ สุภัทรวณิชย์ หรือจีโน่ ซึ่งได้เล่าถึงการคัดเลือกนักแสดงก่อนที่ตนเองจะได้มาเป็นฟอลคอนอย่างที่ทุกคนได้เห็น และความยากของการแสดงเนื่องจากละครเพลงเรื่องนี้เป็นการแสดงครั้งแรกของตน
“ตอนไปคัดเลือกก็มีบทให้ลองเล่นประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ และมีการให้ลองร้องเพลงว่าเราร้องเพลงได้ในระดับไหน เสียงมีความแข็งแรงหรือเปล่า ทีมผู้กำกับน่าจะเห็นอะไรในตัวเราเลยให้โอกาสได้ไปแสดง การศึกษาตัวละครในตอนแรกเราเคยเห็นผ่านสื่ออย่างในละครเรื่องบุพเพสันนิวาสแต่ก็ต้องไปศึกษาเพิ่มไปอ่านประวัติว่าจริงๆ แล้วฟอลคอนเป็นใครมาจากไหน ส่วนมากที่เราไปศึกษาจะเป็นส่วนที่ในละครไม่มี
ในการเวิร์กช็อปก็จะเริ่มตั้งแต่พื้นฐานตั้งแต่การเดินไปจนถึงการซ้อมร่วมกับนักแสดงคนอื่นในเรื่องทั้งหมด 20 คน เพื่อให้แต่ละคนได้ปรับตัวเข้าหากันในเรื่องของการแสดง การใช้พื้นที่ในการแสดง ในส่วนของการร้องเพลงก็มีการสอนจากครูสอนร้องเพลงที่มีประสบการณ์ด้านละครเพลงโดยเฉพาะเพื่อช่วยดูเรื่องการออกเสียง เพราะการร้องเพลงในละครเพลงจะไม่เหมือนกับการร้องเพลงทั่วไป การซ้อมปกติก็จะซ้อมรวมกันทั้งหมดแต่ในช่วงล็อกดาวน์จะเป็นการซ้อมผ่านทางออนไลน์ ซึ่งเป็นประสบการณ์ใหม่เหมือนกันที่นักแสดง 20 คนต่อบทกันผ่านออนไลน์ การซ้อมร้องเพลงก็เช่นกันก็จะมีพร้อมกันบ้างไม่พร้อมกันบ้างแต่ก็ซ้อมผ่านกันมาได้”
ถามว่าฉากไหนหินสุด จีโน่ตอบว่า ฉากเปิดเรื่องนั่นคือตอนที่ฟอลคอนมาถึงสยาม ต้องการมีเงินและอำนาจ ต้องการมาเริ่มต้นใหม่ที่อโยธยา
“ที่ยากเพราะเป็นฉากที่ต้องสื่อสารกับผู้ชม ต้องทำให้เห็นว่าตัวละครฟอลคอนต้องการอะไร และด้วยความที่มันเป็นฉากแรกๆ และเป็นเพลงเดี่ยวที่ร้องยากที่สุดด้วย”
บทเพลง‘ท่วงทำนองของตัวละคร’
ความท้าทายใน‘เดอะมิวสิคัล’
มาถึงส่วนสำคัญยิ่งของละครเพลง นั่นก็คือ ‘บทเพลง’ ซึ่ง จอนปรอท วงษ์เทศ นักร้องนำวง Murcury Goldfish รับหน้าที่เป็นทั้งหนึ่งในทีมประพันธ์บทเพลงและรับบทเป็น
‘หลวงสรศักดิ์’ หรือ ‘เดื่อ’ ในเรื่องด้วย
“ด้วยความที่เป็นละครเพลงจะมีทำนองของแต่ละตัวละคร อย่างเช่นตัวละครอย่างฟอลคอนก็จะมีเพลงเป็นของตนเอง ซึ่งเราก็ต้องนำเพลงนั้นมาบรรเลงอีกครั้งหนึ่งในรูปแบบของแต่ละฉาก ซึ่งบางทีก็ยากเพราะต้องนำเพลงมาผสมกันให้ลงตัว และในเรื่องของการใช้วรรณยุกต์โดยเฉพาะในละครเพลง วรรณยุกต์ในเพลงนั้นต้องมีความถูกต้อง” จอนปรอทเล่า
ส่วนบทบาทในการเป็นนักแสดง แม้ไม่เคยแสดงละครเวทีแบบจริงจัง แต่ก็ตัดสินใจเข้ารับการคัดเลือก และได้สวมบทบาทหลวงสรศักดิ์ในที่สุด
“ความยากของตัวละคร เดื่อ หรือหลวงสรศักดิ์ บทบาทจะดูแบนถ้าเราเล่นแค่โกรธ คือทุกสิ่งที่ออกมาเราแสดงว่าโกรธ แต่เราต้องใส่สาเหตุให้ตัวละครด้วยว่าโกรธเพราะอะไร เขาต้องการอะไร และด้วยความที่บทในเรื่องมันไม่ได้เล่าขนาดนั้น เราก็ต้องไปทำการบ้านกันเอง ซึ่งก็ต้องศึกษาตัวละคร โดยไปอ่านประวัติมาว่าเขาเป็นลูกของพระนารายณ์กับสนม แต่ให้พระเพทราชาเลี้ยง เราเลยตีความว่าตัวละครจะมีความน้อยใจและด้วยความที่อยู่กับพระเพทราชา ก็ไม่อยากให้บ้านเมืองเปลี่ยนไป เหมือนเป็นพวกอนุรักษนิยมประมาณหนึ่ง
สำหรับความแตกต่างระหว่างการทำเพลงและการแสดง ส่วนตัวถนัดทำเพลงมากกว่าอยู่แล้ว การแสดงจึงเป็นสิ่งที่ค่อนข้างท้าทายมาก ทำให้เรารู้ว่าการแสดงมันยาก ไม่ใช่แค่ว่าเข้าฉากไปแล้วเล่นได้เลย มันต้องปรับตัวให้เข้ากับบทบาทยิ่งการแสดงละครเวทีต้องใช้ทุกส่วนของร่างกายไม่ว่าจะเป็นแขน ลำตัว การใช้เสียง เน้นให้คนเห็นชัดๆ จึงยากกว่าแต่ก็อยากมีโอกาสแสดงมากขึ้นเพื่อพัฒนาตนเองไปเรื่อยๆ” จอนปรอทเล่า
นับเป็นความเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะร่วมสมัยที่ชวนให้จับตาโปรเจ็กต์หน้าในวันที่หวังว่าโลกจะไม่ต้องล็อกดาวน์อีกต่อไป
พรสุดา คำมุงคุณ