ฟ้าทะลายโจร : ยาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพรใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาการน้อย – BBCไทย
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
ราชกิจจานุเบกษาประกาศเพิ่มฟ้าทะลายโจร ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร เพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 ในผู้ป่วยอาการน้อย ท่ามกลางความกังวลของแพทย์แผนปัจจุบันว่า ข้อมูลการวิจัยยังไม่เป็นที่ประจักษ์ ด้านอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เผยฤทธิ์ฟ้าทะลายโจรไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้ แต่ช่วยได้เพียงเสริมภูมิคุ้มกัน
นับตั้งแต่เกิดการอุบัติใหม่ของโรคโควิด-19 ส่งผลให้บรรดาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต้องค้นหาแนวทางการรับมืออย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการทดลองตัวยาที่จะสามารถลดความรุนแรงของเชื้อ นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นให้สมุนไทยที่คนทั่วไปรู้จักกันดีอย่างฟ้าทะลายโจร ถูกพูดถึงในวงการแพทย์แผนไทยว่ามีฤทธิ์ดังกล่า
จากกรณีที่ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. เรื่องบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2564 เพื่อเป้าหมายในการขับเคลื่อนและส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรในระบบบริการสุขภาพอย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
- เพิ่มฟ้าทะลายโจรในบัญชียาหลักแห่งชาติ รักษาผู้ป่วยโควิดความรุนแรงน้อย
- หลายประเทศใช้หลากวิธีกระตุ้นให้คนมาฉีดวัคซีน ตั้งแต่แจกไข่ไปจนถึงกัญชา
- “ตั้งแต่ติดโควิดฉันก็ได้แต่กลิ่นเนื้อเน่ากับสารเคมี”
ทั้งยังเป็นการสร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศ ซึ่งเป็นหมุดหมายที่ประเทศเดินหน้ามาตลอด
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ประกาศดังกล่าวถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง อยู่ในสาระข้อ 2 ที่ ให้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพรในบัญชีแนบท้าย จำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย ยาทำลายพระสุเมรุ ยาบรรเทาริดสีดวงทวารหนัก ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่มี andrographolide ไม่น้อยกว่าร้อยละ 4 โดยน้ำหนัก (w/w) ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร
ซึ่งในรายละเอียดที่เพิ่มอยู่ในบัญชียาหลักฯ มียาจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร 2 ชนิด ได้แก่ ยาสารสกัดฟ้าทะลายโจร และยาผงฟ้าทะลายโจร ซึ่งระบุเงื่อนไขการใช้ว่า “ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง”
โดยจะมีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภันอย่างเป็นระบบ ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีการระบุว่ายาทั้งสองชนิดนั้นอยู่ในบัญชียาประเภทใด
สำหรับสมุนไพรฟ้าทะลายโจร นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่นับเป็นครั้งแรกที่มีเงื่อนไขการใช้ที่เกี่ยวเนื่องกับโรคระบาดที่ประสบอยู่ในปัจจุบัน
บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลสรรพคุณของฟ้าทะลายโจร ความคิดเห็นของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งที่ใช้ยาชนิดนี้รับมือกับสถานการณ์ของโรคอุบัติใหม่ รวมถึงข้อกังวลบางส่วนของแพทย์
สรรพคุณของฟ้าทะลายโจร
ตามข้อมูลของกรมการแพทย์แผนไทยและกรมการแพทย์ทางเลือก ระบุว่า ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์บรรเทาอาการหวัด โดยแนะนำให้ใช้โดยทันทีเมื่อเริ่มมีอาการไอ แสบคอ เจ็บคอ อย่างยาฟ้าทะลายโจร ชนิดแคปซูล เป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ แนะนำให้ใช้ทันทีเมื่อมีอาการดังกล่าวข้างต้น
อย่างไรก็ตามมีกลุ่มที่มีข้อห้ามการใช้ ดังนี้
- ห้ามใช้ในผู้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร
- ในผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บคอ เนื่องจากติดเชื้อแบคทีเรีย เกิดอาการรุนแรง เช่น มีตุ่มหนองในคอ มีไข้สูง หนาวสั่น
- ห้ามใช้ในผู้ที่แพ้ฟ้าทะลายโจร หากมีอาการแพ้ฟ้าทะลายโจร เช่น เกิดผื่น ลมพิษ หน้าบวม ริมฝีปากบวม ให้หยุดใช้ยาทันที
ทั้งนี้ หากใช้ติดต่อกัน 3 วัน อาการไม่ดีขึ้นหรือมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรหยุดยาแล้วรีบไปพบแพทย์ อีกทั้งการใช้ยาติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจทำให้แขน ขาชา หรือ อ่อนแรงได้
ไม่สามารถป้องกันโควิด-19 ได้
เมื่อวันที่ 20 เม.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้แถลงข่าวที่กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงประเด็นฟ้าทะลายโจรป้องกันโควิด-19 หรือรักษาผู้ป่วยโควิดได้หรือไม่ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ทำการทดลอง พบว่าไม่สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องฉีดวัคซีนโควิด และต้องมีมาตรการป้องกันโรคเช่นเดิม
อย่างไรก็ตามในการทดลองในระดับนานาชาติ ทั้งจีน อินเดีย ตลอดปีที่ผ่านมานั้น ฟ้าทะลายโจรมีสารสำคัญอย่างแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ซึ่งจากการทดลองพบว่ามีฤทธิ์ต้านไวรัสได้อย่างน่าสนใจ
- เราต้องการวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 เพิ่มหรือเปล่า?
- วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า กับผลข้างเคียงที่พึงระวัง
- เบาหวานเป็นปัจจัยทำให้มีผู้ติดเชื้อราดำสูงในหมู่ผู้ป่วยโควิดในอินเดียหรือไม่
โดยพญ. อัมพร ชี้ว่า ฟ้าทะลายโจรยังเป็นยาลดไข้ที่ดี โดยได้ใช้เป็นยาในบัญชียาหลักในการลดไข้มาตั้งแต่ปี 2559 จึงมีการศึกษาวิจัยในผู้ป่วยจำนวน 304 ราย ซึ่งเป็นผู้ป่วยอาการน้อย ให้รับประทานยาฟ้าทะลายโจรในขนาด 180 มิลลิกรัมต่อวัน วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ซึ่งพบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้น โดยไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง จึงคิดว่าน่าจะเป็นทางเลือกในการใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง
ตามแนวทางของประเทศชิลี ได้มีการติดตามผลผู้รับประทานฟ้าทะลายโจรเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันพบว่า เกิดติดเชื้อไข้หวัดน้อยลงอย่างชัดเจน โดยต้องรับประทานฟ้าทะลายโจรประมาณ 20 มิลลิกรัมต่อวัน ติดต่อกันไม่เกิน 5 วัน หยุด 2 วัน ต่อเนื่องไม่เกิน 3 เดือน แต่ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมอีก
ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาตลอด
โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งเป็นหนึ่งโรงพยาบาลที่มีแนวทางการรักษาที่ส่งเสริมและสนับสนุนการใช้สมุนไพนในทางการแพทย์ ให้ข้อมูลกับบีบีซีไทยว่า นับตั้งแต่มีการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก รพ.มีแนวทางการรักษาด้วยการให้ยาในกลุ่มของฟ้าทะลายโจรมาตลอดไม่ว่าจะมีอาการมากหรือน้อย ขอเพียงไม่มีข้อบ่งชี้ต้องห้ามการใช้ อย่างการเป็นหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น
อีกทั้งยังมีการสนับสนุนให้บุคลากรภายใน รพ. รับประทาน เพื่อเสิรมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ดังนั้นการที่สารสกัดฟ้าทะลายโจรได้รับการขึ้นทะเบียนในบัญชียาหลักฯ จึงไม่มีผลต่อความเปลั่ยนแปลงในภาพรวมของนโยบายการใช้
“เราให้ยาฟ้าทะลายโจรมาตั้งแต่โควิดระลอกแรก การขึ้นทะเบียนยาหลักจึงได้มีผลอะไร”
อย่างไรก็ตาม รพ.ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า หากจะกล่าวถึงข้อแตกต่างก็อาจจะเป็นในเรื่องของการได้รับเงินสนุนจากหน่วยงานกลาง ที่เมื่อมีการขึ้นทะเบียน รพ.ก็จะได้รับเงินเบิกจ่ายส่วนนี้ จากเดิมที่ค่าใช้จ่ายยาดังกล่าวตกเป็นภาระทั้งหมดของ รพ.
“ต่างก็แค่มันเพิ่มค่าใช้จ่าย ที่เราไม่สามารถเบิกกับประกันของผู้ป่วยรายนั้น ๆ ได้เลย แต่ยังไงที่นี่ก็เหมือนเดิม กับสมุนไพรอื่นก็เช่นกัน หากยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหลัก แต่เราเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อคนไข้ สามารถจ่ายได้โดยไม่ผิดตามแนวทางการรักษา เราก็จ่ายถ้าผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ยา”
อย่าลดทอนให้เป็นวิทยาศาสตร์เทียม
“จะใช้ยาชนิดหนึ่งไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อ ‘รักษา’ หรือ ‘ป้องกัน’ จำเป็นต้องใช้มาตรฐานและหลักการในการพิสูจน์ และสนับสนุนเหมือนกันทุกประการ อย่างวัคซีนเราใช้เพื่อป้องกัน เราก็ต้องผ่านการศึกษาในห้องทดลอง ในสัตว์ ในมนุษย์เป็นเฟสเหมือนกัน ไม่ได้แปลว่าการป้องกันใช้ได้เลยอยู่ดี
นี่เป็นความคิดเห็นของ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ที่ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย เน้นย้ำถึงความสำคัญของกระบวนการศึกษา เก็บข้อมูล และทดลองทางการแพทย์ เพื่อให้มั่นใจว่าจะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้งานอย่างดีที่สุด
“เราใช้กับมนุษย์ จะตัดสินใจใช้เนี่ย เราต้องมั่นใจมากเลยว่ามันได้ผล ในขณะเดียวกันผลข้างเคียงต้องน้อยกว่าประโยชน์ ต้องพิสูจน์จนเรามั่นใจระดับหนึ่ง”
สำหรับประเด็นการขึ้นทะเบียนฟ้าทะลายโจรนั้น นพ.มานพ กล่าวว่า ในเชิงนโยบายการรักษา อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากเป็นการขึ้นบัญชียาหลักหลักด้านสมุนไพร ซึ่งการบริหารจัดการ การกำหนดคุณสมบัติ รวมถึงข้อบ่งชี้ก็แยกออกจากบัญชียาหลักในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งจะถูกใช้งานในกลุ่มแพทย์แผนไทย จึงไม่ได้ผลในเชิงเวชปฏิบัติในวงกว้าง
“การที่สมุนไพรได้รับการบรรจุเข้าบัญชียาหลัก ไม่ได้แปลว่ามาตรฐานหรือความเข้มข้นในการตรจสอบข้อมูลเท่ากับยาแผนปัจจุบัน”
ศ.นพ. มานพ แสดงความกังวลถึงประเด็นการขึ้นทะเบียนสมุนไพรว่า ไทยยังขาดข้อมูลจำนวนมากในแง่ของสารออกฤทธิ์สำคัญอื่น ๆ ที่มีผลแต่ยังไม่เป็นที่รับรู้ ทั้งยังขาดการศึกษาอย่างเป็นระบบ ทั้งในการศึกษาในห้องทดลอง ตลอดไปจนถึงการทดลองในสิ่งมีชีวิต ซึ่งเป็นการเก็บผลการศึกษาที่เป็นรูปธรรม
“เราขาด(การเก็บข้อมูล)ในสมุนไพรไทย ส่วนใหญ่เป็นคำบอกเล่าว่ากินตัวนี้ดี ตัวนั้นดี ส่วนใหญ่เป็นการวัดผลตามอาการ ซึ่งไม่มีมาตรวัด เช่น ถ้าเราบอกว่าฟ้าทะลายโจรกินแล้วช่วยในแง่ของโควิด ต้องบอกได้เลยว่า สารออกฤทธิ์คืออะไร มีคุณสมบัติอย่างไรในการต่อต้านเชื้อ ให้หรือไม่ให้มีผลต่างกันชัดเจน ให้แล้วอาการดีขึ้นนั้นดียังไง ให้แล้วป่วยไหม ต้องเข้าไอซียูเท่าไหร่ มันต้องเทียบระหว่างกลุ่มคนที่ได้และไม่ได้ และต้องมีกลุ่มการศึกษามากพอด้วย”
อย่างไรก็ตาม ศ.นพ. มานพ ชี้ว่า กระบวนการเหล่านี้เป็นเรื่องยาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าเหตุใดยา หรือวัคซีนแต่ละชนิดก่อนจะถูกนำมาใช้จริง ถึงต้องมีการพิสูจน์จนหมดความสงสัยให้มากที่สุด ทั้งในแง่ประสิทธิภาพ และความคุ้มค่าในการใช้งานจริงทั้งในเชิงประสิทธิภาพ และค่าใช้จ่าย
“บ้านเราชอบวิ่งไปที่บทสรุปไปเลยทุกที ข้ามไปสามสี่ขั้น การข้ามขั้นก่อให้เกิดผลเสียเยอะมาก เพราะว่ามันทำให้มีลักษณะ ของบางอย่างที่อาจจะได้ประโยชน์จริง ๆ อย่างสมุนไพรบางตัว แต่พอเราข้ามขั้นไปเลยมันทำให้กระบวนการทดสอบ วิจัยไม่มี พอไม่มีปุ๊บ มันจะมองเป็น pseudoscience (วิทยาศาสตร์เทียม) พอภาพลักษณ์มันไม่ดีก็จะไม่มีใครสนใจ ทั้งที่มันอาจจะดีก็ได้”
เช่นที่เกิดขึ้นกับยาต้านมาลาเรีย ซึ่งเป็นการศึกษายาสมุนไพรที่เริ่มต้นจากการเก็บข้อมูลจากตำราการแพทย์จีน ก่อนที่จะดำเนินการเก็บข้อมูลตามหลักการทางการแพทย์ทุกประการ ซึ่งในท้ายที่สุดก็ถูกยอมรับว่าเป็นยาต้านมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพ ผู้ศึกษาก็ได้รับรางวัลโนเบิลในเวลาต่อมา