“ภัทราภรณ์” สก.ก้าวไกล เสนอผลการศึกษา คกก. ตั้งคลินิกยุติตั้งครรภ์ปลอดภัย กทม.
“ภัทราภรณ์” สก.ก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยฯ เสนอแนะรายงานผลการศึกษาต่อ กทม. 3 ข้อ ตั้งคลินิกยุติตั้งครรภ์ปลอดภัย บริการหญิงอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ เน้นวิธีจ่ายยา
วันที่ 3 กรกฎาคม 2567 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร น.ส.ภัทราภรณ์ เก่งรุ่งเรืองชัย สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) เขตบางซื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญศึกษาแนวทางการให้บริการยุติการตั้งครรภ์อย่างปลอดภัยในสถานพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร เสนอรายงานผลการศึกษาจากคณะกรรมการวิสามัญฯ ซึ่งมีข้อเสนอแนะดังนี้
1. ขอให้ กทม. พิจารณาเปิดคลินิกให้บริการยุติการตั้งครรภ์แยกออกจากโรงพยาบาลสังกัด กทม. โดยการจ้างบุคลากรทางการแพทย์ห้วงเวลา หรือเปิดรับอัตราสูตินรีแพทย์เพิ่มเพื่อให้บริการโดยเฉพาะ หรือร่วมมือกับโรงพยาบาลอื่นที่มีแพทย์ให้บริการยุติการตั้งครรภ์ในลักษณะที่ กทม. เป็นเจ้าภาพ โดยคลินิกดังกล่าวจะเปิดให้บริการยุติการตั้งครรภ์ปลอดภัยในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ด้วยวิธีการใช้ยา เนื่องจากมีโอกาสสำเร็จสูง อัตราแทรกซ้อนต่ำ เปิดให้บริการสัปดาห์ละ 2-3 วัน
2. ขอให้ กทม. ประกาศรายชื่อสถานที่ให้บริการ พร้อมประชาสัมพันธ์ว่า กทม. ยินดีให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และให้คำปรึกษาทางเลือกการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกสถานะว่าจะได้รับการดูแลอย่างปลอดภัยเท่าเทียมกัน
3. ขอให้ กทม. จัดการอบรมสัมมนาเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการยุติการตั้งครรภ์ และการทำความเข้าใจต่อการยุติการตั้งครรภ์ในปัจจุบัน แก่บุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลทุกแห่งของ กทม.
น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวยืนยันด้วยว่า การยุติการตั้งครรภ์เป็นทางเลือกสุขภาพ มายาคติที่ฝังรากลึกของสังคมไทยว่าคนที่ยุติการตั้งครรภ์เป็นวัยรุ่นท้องไม่พร้อม มีเพศสัมพันธ์ไม่ป้องกัน ไปจนถึงการยุติการตั้งครรภ์ต้องทำกันในห้องมืดๆ เลือดสาด ผิดศีลธรรม ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด ข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ทั้ง 3 ข้อ ถือเป็นการประนีประนอม โดยคำนึงถึงอำนาจของฝ่ายบริหาร การทำความเข้าใจกับบุคลากรทางการแพทย์ และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าไปไกลของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ต้องการยุติการตั้งครรภ์เข้าถึงทางเลือกสุขภาพอย่างสะดวกในราคาที่จับต้องได้
ทั้งนี้ การที่เราไม่มีการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ที่เพียงพอ ไม่ได้ทำให้การทำแท้งลดลง แต่เป็นการผลักภาระของหน่วยงานรัฐให้ประชาชนไปหาทางเลือกเถื่อนที่อันตรายต่อชีวิต ทั้งที่การเสียชีวิตจากการยุติการตั้งครรภ์เป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ดังนั้น ตนและคณะกรรมการวิสามัญฯ จึงหวังอย่างยิ่งว่าฝ่ายบริหารจะให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชนเท่าเทียมกันและไม่เมินเฉยต่อการมีอยู่ของพวกเขาใน กทม.
จากนั้น นายนภาพล จีระกุล สก.เขตบางกอกน้อย พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นตั้งคำถามว่า เมื่อพิจารณาจากจำนวนผู้ที่จะมาใช้บริการ ข้อเสนอให้ กทม. ตั้งคลินิก จะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่ โดย น.ส.ภัทราภรณ์ กล่าวตอบว่า คลินิกที่ตนและคณะกรรมการเสนอให้ กทม. ตั้ง มีเงื่อนไขการให้บริการแก่หญิงที่อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ซึ่งมีโอกาสสำเร็จสูง โดยสถิติระบุว่าประมาณ 90% การยุติการตั้งครรภ์สำเร็จได้ด้วยการใช้ยา ดังนั้น คลินิกที่เสนอให้ กทม. ตั้ง จะเน้นการจ่ายยาเป็นหลัก
ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบกับรายงานผลการศึกษาของคณะกรรมการวิสามัญฯ และจะได้ส่งให้ฝ่ายบริหารพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป.