ภาคประชาสังคมนานาชาติร่วมคัดค้านท่าทีของรัฐบาลไทยที่จะเข้าร่วมข้อตกลงความเข้าใจและความคืบหน้าเพื่อหุ้นส่วนข้ามแปซิฟิก หรือ CPTPP พร้อมสะท้อนปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการเข้าถึงยาและการสาธารณสุขหากรัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง ในการประชุมสุดยอดสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา 2022
21 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า ตัวแทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch) สะท้อนปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับการเข้าถึงยาและการสาธารณสุขไทยจากความตกลง CPTPP ถ้ารัฐบาลไทยตัดสินใจเข้าร่วมความตกลง ในการประชุมสุดยอดสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา 2022 (Global Summit on Intellectual Property and Access to Medicines 2022 (GSIPA2M 2022) ที่จัดขึ้นที่กรุงอิสตันบูล ประเทศตุรกี 19 – 21 ก.ค.นี้
หัวข้อหนึ่งในการประชุมครั้งนี้คือเรื่องความตกลงเขตการค้าเสรีที่มีผลกระทบด้านลบต่อการเข้าถึงยาในประเทศต่างๆ เฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์และ FTA Watch นำเสนอว่า รัฐบาลไทยมีความพยายามอย่างไม่ยอมลดละ ที่จะมีจดหมายแสดงความจำนงและเข้าร่วมความตกลง CPTPP ทั้งที่ มีเสียงคัดค้านจากสาธารณะและมีมติของรัฐสภาว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมที่จะเข้าร่วมความตกลง CPTPP
รองนายกฯ และ รมว. กระทรวงต่างประเทศ ดอน ปรมัติวินัย เป็นหัวแรงหลักที่ผลักดันเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มีความเห็นขอบ ทั้งที่เคยประชุมร่วมกับภาคประชาสังคมและสัญญาว่าจะไม่นำเรื่อง CPTPP เข้าสู่การพิจารณาของ ครม. หากยังไม่มีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน แต่มีข้อมูลว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในวันที่ 27 ก.ค. นี้ ซึ่งเป็นวันก่อนวันหยุดยาว เพื่อหลีกเลี่ยงกระแสวิจารณ์จากสังคมและให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีจดหมายแสดงความจำนงที่เข้าร่วมความตกลงยื่นต่อเลขาธิการความตกลง CPTPP
ผู้เข้าร่วมประชุมจากกว่า 30 ประเทศแสดงความกังวล เพราะความตกลงเขตการเสรีหลายฉบับส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงยาในประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศ รวมถึงความตกลง CPTPP ที่รัฐบาลไทยต้องการจะเข้าร่วม ในที่ประชุมมีมติไม่ยอมรับและคัดค้านความตกลงเขตการค้าเสรีทุกฉบับ ที่จะสร้างผลกระทบรุนแรงต่อการสาธารณสุขและการเข้าถึงยา และเตือนประเทศไทยว่าไม่ควรเข้าร่วมหรือเจรจาความตกลง CPTPP
Do Dang Dong ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า CPTPP มีเงื่อนไขที่ส่งผลกระทบด้านลบจำต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน มีข้อบทที่เป็นปัญหามากมาย สิ่งที่เลวร้ายคือรัฐบาลของเราได้ลงนามไปแล้ว เราถูกบังคับให้แก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้มีความเข้มงวดยิ่งขึ้น ไม่เพียงแต่ภาครัฐ ภาคประชาสังคมก็มีความกังวล และกำลังพยายามอย่างหนักที่จะลดทอนผลกระทบจาก CPTPP ผ่อนหนักให้เป็นเบา
Alia Amimi จากองค์กร ITPC ประเทศโมร็อคโค กล่าวว่า “รัฐบาลไทยควรตรึกตรองให้รอบคอบ ก่อนจะเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพราะไทยจะต้องเผชิญกับผลกระทบด้านลบ เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่ได้ลงนามความตกลงเขตการค้าเสรีฉบับอื่นๆ มาแล้ว และกำลังประสบปัญหาการเข้าถึงยาอย่างหนัก รัฐบาลไทยต้องทำการศึกษาผลกระทบของความตกลงต่อระบบสุขภาพอย่างดีและฟังเสียงของประชาชน ไม่ควรหลงคิดและเชื่อว่าประเทศจะส่งออกได้มากขึ้นหรือมีการลงทุนจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประเทศโมร็อคโคเป็นตัวอย่างได้ดี หลังจากที่ลงนามความตกลง FTA กับสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปไปแล้ว เศรษฐกิจของประเทศไม่ได้เติบโตอย่างที่กล่าวอ้างไว้ แต่สร้างผลกระทบร้ายแรงต่อสาธารณสุขของประเทศ”
Els Torreele ผู้ที่ทำงานในเรื่องการเข้าถึงยาและนวัตกรรมมา 20 ปีจากยุโรป แสดงความคิดเห็นว่า ตนมีความกังวลต่อบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ไทยมีศักยภาพที่ผลิตยาได้เอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญมาก ยาเป็นเครื่องมือที่สำคัญทางการสาธารณสุข ด้วยความตกลง CPTPP รัฐบาลไทยจะเลือกปฏิบัติสนับสนุนอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศไม่ได้ ในอดีตภาคการผลิตยาในประเทศของไทยมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในเรื่องการเข้าถึงยา เช่นกรณีเอชไอวี ซึ่งเป็นที่รู้กันดีในระดับสากล
“มันจำเป็นอย่างมากที่รัฐบาลจะต้องมีนโยบายด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศ ที่ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนายา แต่ถ้ามีนโยบายที่เป็นอุปสรรคเสียแล้ว การวิจัยและพัฒนายาจะเกิดขึ้นไม่ได้” ผู้ที่ทำงานในเรื่องการเข้าถึงยาและนวัตกรรมมา 20 ปีจากยุโรป กล่าว
เฉลิมศักดิ์ จากมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวในที่ประชุมว่า ประเทศไทยกำลังวิ่งสวนทางกับกระแสโลกในยุคโควิด 19 เมื่อวิกฤตโรคระบาดเกิดขึ้น ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาแล้วได้นำนโยบายยืดหยุ่นทางทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ เช่นมาตรการซีแอลกับยารักษาโควิด 19 แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้นำมาตรการยืดหยุ่นฯ มาบังคับใช้ได้สะดวกขึ้น หรือแม้แต่มีข้อเสนอในองค์การการค้าโลกให้ทั่วโลกระงับการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาในภาวะโควิด 19 เพื่อให้เกิดการผลิตและการส่งออกและนำเข้ายาและวัคซีนได้อย่างเสรีในภาวะวิกฤตโรคระบาด
“แต่รัฐบาลไม่ตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้เลย ไม่เห็นว่าทรัพย์สินทางปัญญาคืออุปสรรค และต้องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือ FTA ฉบับอื่นๆ ที่มีข้อบังคับด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น” เฉลิมศักดิ์ กล่าว
CPTPP จะทำให้ประเทศไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยาสูงขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท ประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 89% และมูลค่าตลาดของยาภายในประเทศจะลดลงถึง 100,000 กว่าล้านบาท เพราะข้อผูกมัดที่ระบุอยู่ในบทว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและบทว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
รายงานระบุด้วยว่า การประชุมสุดยอดสากลว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยาเป็นการประชุมที่ภาคประชาสังคม นักวิชาการ นักกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และนักกิจกรรมทางสังคม ที่ทำงานเพื่อส่งเสริมการเข้าถึงยา มาร่วมพูดคุยหารือเกี่ยวกับปัญหาการเข้าถึงยา ที่เกิดจากระบบทรัพย์สินทางปัญญาและความตกลงการค้าต่างๆ รวมถึงความตกลงเขตการค้าเสรี