คุณเคยเป็นอย่างนี้บ้างไหม ? นั่งใจลอยปลดปล่อยความคิดให้ฟุ้งซ่านไปไกล จนมารู้ตัวอีกทีก็ลืมแล้วว่ากำลังทำอะไรอยู่
บางครั้งคุณพยายามหมกมุ่นครุ่นคิดถึงเรื่องบางอย่าง แต่แม้จะเค้นสมองอย่างหนักก็กลับนึกอะไรไม่ออก เหมือนจู่ ๆ กระแสความคิดถูกตัดให้หยุดชะงักลง จนภายในหัวสมองเหลือเพียงความว่างเปล่า
ภาวะเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบว่ามันเกิดขึ้นจากอะไรกันแน่ จนกระทั่งล่าสุดทีมนักประสาทวิทยาจากมหาวิทยาลัยโมแนชของออสเตรเลีย ได้เผยแพร่ผลการศึกษาว่าด้วยปรากฏการณ์นี้ลงในวารสาร Nature Communications
ทีมผู้วิจัยได้ชี้ให้เห็นว่าภาวะ “สมองว่างเปล่า” หรือที่พวกเขาเรียกว่า “ความตั้งใจจดจ่อขาดช่วง” (attentional lapse) มีลักษณะคล้ายการนอนหลับเฉพาะที่ (local sleep) ซึ่งเกิดขึ้นกับเซลล์ประสาทสมองเป็นบางส่วน ในขณะที่สมองส่วนใหญ่ยังคงตื่นอยู่และทำงานตามปกติ
มีการทดลองให้อาสาสมัครที่สุขภาพดีและได้พักผ่อนนอนหลับมาเต็มที่ 26 คน เข้ารับการทดสอบโดยทำงานที่น่าเบื่อหน่ายและทำให้ใจลอยได้ง่าย เช่นการคัดเลือกภาพหรือตัวเลขตามคำสั่งเดียวติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยในระหว่างนั้นมีการตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมอง (EEG) ของอาสาสมัครไปด้วย
หลังการทดลองอาสาสมัครเกือบทุกคนยอมรับว่าเกิดอาการใจลอย โดยสามารถตั้งใจจดจ่อกับงานได้เพียงครึ่งหนึ่งของเวลาทำงานทั้งหมดเท่านั้น ส่วนช่วงเวลาที่เหลือพวกเขาเกิดภาวะสมองว่างเปล่าเหมือนไม่ได้คิดอะไรอยู่ หรือไม่ก็คิดเรื่องอื่นที่ไม่ใช่งานตรงหน้า แต่กลับจำไม่ได้แน่ชัดว่าคิดถึงเรื่องอะไรไปบ้าง
ในช่วง 20 วินาทีก่อนที่ความตั้งใจจดจ่อของอาสาสมัครจะขาดช่วงไปนั้น เครื่องตรวจวัดคลื่นไฟฟ้าสมองพบว่ามี “คลื่นช้า” (slow wave) ก่อตัวขึ้นและเคลื่อนผ่านพื้นที่สมองบางส่วน ทำให้เกิดภาวะสมองว่างเปล่าติดตามมา
กลไกของระบบประสาทแบบนี้ คล้ายกับการนอนหลับเฉพาะที่ของสมองในขณะที่คนเรายังตื่นอยู่ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่อรู้สึกเหนื่อยล้าหมดแรงอย่างเต็มที่เท่านั้น
ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุปว่า ยังคงต้องศึกษากลไกทางประสาทวิทยานี้เพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่ามันเป็นสิ่งเดียวกับการนอนหลับหรือไม่ หรือเป็นเพียงกลยุทธ์หนึ่งของสมองที่ทำงานหนัก เพื่อหาเวลาพักผ่อนสะสมทีละเล็กละน้อยให้กับตนเองกันแน่