มจพ.แถลงความสำเร็จ สร้าง”ดาวเทียมแนคแซท” ดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา ซึ่งออกแบบ-สร้างโดยฝีมือไทย 100% พร้อมส่งขึ้นสู่วงโคจรกลางปีนี้
วันที่ 16 ก.พ.2561 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ดร.ศิริธัช โรจนพฤกษ์ อุปนายกสภา มจพ. พร้อมด้วย ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. ได้ร่วมแถลงข่าว มจพ.พร้อมส่งดาวเทียมแนคแซท (KNACKSAT) ขึ้นสู่วงโคจรโลก
โดย ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ตามที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ และบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน มจพ.ได้ร่วมกับทีมคณะวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มี ศ.ดร.สุวัฒน์ กุลธนปรีดา เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย KNACKSAT โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา ได้จัดสร้างดาวเทียมแนคแซทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยตัวดาวเทียมก็ได้ผ่านการทดสอบในสภาวะต่าง ๆ ตามข้อกำหนดของจรวดส่งดาวเทียมแล้ว และพร้อมที่จะส่งขึ้นสู่วงโคจรแล้ว โดยการวิจัยครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ของสำนักงานงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)
ดาวเทียมแนคแซทเป็นดาวเทียมสัญชาติไทยดวงแรก มาตรฐานคิวแซท(CubeSat) ขนาด 10x10x10 ลูกบาศก์เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ที่ออกแบบและสร้างโดยคนไทย คือ ทีมอาจารย์และนักศึกษา มจพ.ทุกขั้นตอน ซึ่งเป็นที่น่าภาคภูมิใจของทั้ง มจพ.และประเทศไทย
ทั้งนี้ ทีมคณะวิจัยได้เริ่มโครงการออกและจัดสร้างดาวเทียมรูปแบบคิวแซท เมื่อปี 2555 ด้วยทุนวิจัยและเริ่มพัฒนาของ มจพ.เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ กระทั่งได้รับทุนวิจัยจาก กสทช.เมื่อปลายปี 2558 และสร้างเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกันยายน 2560 โดยมีกำหนดส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวด Space X Falcon 9 จากฐานยิงจรวด Vandenberg AFB รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในราวกลางปี 2561
ด้าน ดร.พงศธร สายสุจริต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและการบินอวกาศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีดาวเทียมแล้วประมาณ 10 ดวง แต่เกือบทุกดวงเป็นลักษณะของการซื้อมาใช้งานเป็นหลัก ยังไม่มีดวงไหนเลยที่สร้างในเมืองไทย มีบางดวงที่มีคนไทยเข้าไปร่วมสร้างเท่านั้น เพราะฉะนั้นดาวเทียมแนคแซท จึงเป็นดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบและสร้างในประเทศไทยโดยคนไทย 100%
“ดาวเทียมแนคแซทเป็นดาวเทียมดวงเล็ก ที่มีความสามารถไม่ต่างจากดาวเทียมดวงใหญ่ โดยมีภารกิจหลักคือการถ่ายภาพโลกจากอวกาศ ด้วยความละเอียด: 1–2 กิโลเมตรต่อพิกเซล โดยใช้คลื่นความถี่วิทยุสมัครเล่นในการสื่อสาร ทั้งนี้ ความสำเร็จของโครงการดาวเทียมแนคแซท ถือเป็นความสำเร็จที่แสดงให้เห็นศักยภาพในการออกแบบและสร้างดาวเทียมและระบบต่าง ๆ ที่ใช้ในอวกาศได้เอง และแสดงให้เห็นถึงความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้”ดร.พงศธร กล่าว
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ