กาง3ขั้นตอนระบบเคลียริ่งเฮาส์ ปี 2561 มหา’ลัยทุกกลุ่มใช้พร้อมกัน/มีแนวคิดจัดข้อสอบภาษาอังกฤษ(EP)
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) ผู้แทนจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎ (มรภ.) และที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) เกี่ยวกับการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561 เมื่อเร็วๆนี้ ได้ข้อสรุปเบื้องต้น เพื่อนำเสนอ รมว.ศึกษาธิการ ในปลายเดือน พ.ย.นี้ว่าจะคัดเลือกเด็กในระบบเดียวกัน โดยยึดหลักการให้เด็กอยู่ในห้องเรียนจนจบการศึกษา ไม่เกิดปัญหาวิ่งรอกสอบ ไม่เป็นภาระค่าใช้จ่ายผู้ปกครอง เด็กมีสิทธิ์เลือกเรียนตามที่ต้องการ ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยก็มีสิทธิ์เลือกเด็กได้เช่นกัน ส่วนกระบวนการคัดเลือกนั้นมีขั้นตอนดำเนินการ ดังนี้
1.การรับระบบโควตาไม่ใช้การสอบ อาทิ โควตานักกีฬา โอลิมปิกวิชาการ หรือพิจารณาจากแฟ้มสะสมผลงาน เป็นต้น เริ่มดำเนินการช่วงเดือน ต.ค.2560 เมื่อคัดเลือกเด็กได้แล้วมหาวิทยาลัย ต้องส่งรายชื่อให้ ทปอ.ทำการตัดสิทธิ์ในระบบพรี-เคลียริ่งเฮาส์ ภายในเดือน ธ.ค.
2.การคัดเลือกโดยใช้ข้อสอบกลาง จัดสอบทั้งการสอบความถนัดทั่วไป(GAT)การสอบความถนัดทางวิชาชีพและวิชาการ (PAT) การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (O-NET) การสอบวิชาสามัญ 9 วิชาและหากคณะ/สาขาใด ต้องการสอบวิชาเฉพาะก็ให้จัดสอบในช่วงเดียวกัน รวมถึงกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ที่จัดสอบวิชาเฉพาะของกลุ่มแพทย์ เองด้วย โดยจัดสอบช่วงต้นเดือน มี.ค. ถึงกลางเดือน เม.ย. และเข้าสู่ระบบเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 ต้นเดือน พ.ค.
ทั้งนี้ กลุ่ม มรภ.และ มทร.จะร่วมคัดเลือกนักศึกษาจนถึงกระบวนการเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 1 เท่านั้น จากนั้นจะไปดำเนินการรับตรงเอง ส่วน ทปอ.จะดำเนินการเคลียริ่งเฮาส์ ครั้งที่ 2 ช่วงเดือน มิ.ย.
และ 3.ถ้ามหาวิทยาลัย ยังไม่สามารถคัดเลือกเด็กได้ตามจำนวนที่ต้องการ สามารถเปิดรับตรงได้เอง แต่ต้องไม่มีการไปจัดสอบในเดือน ก.ค. ทั้งนี้การสมัครระบบโควตา นักเรียนสามารถเลือกสมัครกี่แห่งก็ได้ แต่จะให้สิทธิ์เลือกเข้าเรียนเพียงสิทธิ์เดียวหากเลือกแล้วไม่มีสิทธิ์สมัครครั้งต่อไป
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือว่าขณะนี้มีโรงเรียนที่สอน English Program (EP) มากขึ้น ซึ่งมีการเรียกร้องให้ทำข้อสอบที่ใช้ในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยเป็นภาษาอังกฤษ ควบคู่ไปกับภาษาไทย เพื่อให้มีความเป็นสากล และเด็กที่เรียน EPจะได้อ่านข้อสอบเข้าใจและทำข้อสอบได้ ส่วนจะเริ่มเมื่อไรนั้นต้องมีการหารือกับผู้เกี่ยวข้องก่อน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ