นักศึกษาเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ปิ๊งไอเดียปลูกดอกดาวเรืองส่งขายตลาด เผยแม่ค้าแย่งซื้อถึงแปลง เหตุภาคใต้ฝนตกบ่อยทำผลผลิตในพื้นที่มีน้อย แนะเกษตรกรปลูกแซมระหว่างยางพาราช่วยเพิ่มรายได้อีกทาง เตรียมบริการวิชาการถ่ายทอดความรู้ชุมชน
ผศ.ดร.คริษฐ์สพล หนูพรหม ประธานโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงโครงการปลูกดาวเรืองซึ่งเป็นโครงการพิเศษของนักศึกษาว่า เป็นการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง เพื่อให้นักศึกษาหารายได้เสริมระหว่างเรียน และสามารถนำความรู้ไปใช้ประกอบอาชีพหลังเรียนจบ โดยในช่วงตัดดอกจะมีแม่ค้าในพื้นที่ จ.สงขลา มารับซื้อผลผลิตทั้งหมด เนื่องจากดาวเรืองเป็นดอกไม้ที่เป็นที่ต้องการของท้องตลาด แต่ส่วนใหญ่นำเข้าจากภูมิภาคอื่นโดยเฉพาะภาคกลาง ในขณะที่ภาคใต้มักไม่นิยมปลูก เพราะมีฝนตกเกือบตลอดปี ทำให้ต้นดาวเรืองหักล้มและดอกเน่าจากน้ำที่ขังได้ง่าย
ดังนั้น ทางโปรแกรมฯ จึงคัดเลือกพันธุ์ดาวเรืองที่เหมาะสมกับสภาพอากาศของภาคใต้ ชนิดดอกไม่เน่าเวลาโดนฝน นำมาทดลองปลูกภายในสถานีพืชสวนของคณะเทคโนโลยีการเกษตร ผลปรากฏว่าได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ และราคาถูกกว่าท้องตลาดในคุณภาพที่พอๆ กัน จนแทบไม่เพียงพอต่อความต้องการของแม่ค้าที่มารับซื้อ
ผศ.ดร.คริษฐ์สพล กล่าวว่า ดาวเรืองไม่จำเป็นต้องปลูกในที่โล่งแจ้งเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถปลูกแซมในที่ร่มระหว่างต้นยางพาราพืชเศรษฐกิจหลักของภาคใต้ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนใหญ่ธรรมชาติของชาวใต้จะโตมากับสวนยางพาราและสวนผลไม้ มักไม่นิยมปลูกไม้ดอกไม้ประดับ เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ก็มีไม้ดอกหลายชนิดที่สามารถเติบโตได้ดี ซึ่งในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นสถาบันการศึกษาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น จึงนำความรู้ทางวิชาการในศาสตร์แขนงต่างๆ ไปถ่ายทอดให้กับผู้ที่สนใจ รวมถึงการปลูกดอกดาวเรืองเพื่อดึงดูดคนในชุมชนที่อยากจะทดลองปลูก ให้เขารู้สึกว่าน่าลงทุน และเข้ามาเรียนรู้ศึกษาดูงานจนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้จริง
ด้านนายชัยพร ศรีประสม และ นายศราวุธ เหร็มเหมาะ นักศึกษาโปรแกรมวิชาเทคโนโลยีการเกษตร แขนงการผลิตพืช ผู้รับผิดชอบโครงการปลูกดาวเรือง กล่าวว่า การปลูกดาวเรืองต้องดูแลมากกว่าพืชผักทั่วไป แต่ก็ไม่ได้ยากมาก เกษตรกรสามารถปลูกเองได้ เพียงแต่ต้องใส่ใจในทุกขั้นตอนกว่าดอกจะโตเต็มที่ อาทิ การให้ปุ๋ย การเด็ดยอด การกำจัดแมลงศัตรูพืช การตัดดอกที่มีขนาดและราคาต่างกัน เริ่มตั้งแต่ขนาดเล็ก 50 สตางค์ (สต.) ขนาดกลาง 80 สต. ไปจนถึงดอกใหญ่ราคาดอกละ 1 บาท
ซึ่งเหตุผลที่พวกตนเลือกเรียนด้านเกษตร เพราะครอบครัวเป็นเกษตรกรอยู่แล้ว และส่งเสริมให้เรียนทางด้านนี้เพื่อสานต่ออาชีพของครอบครัว ประกอบกับความชอบส่วนตัวที่มองว่าการเรียนเกษตรนั้นเมื่อจบออกไปแล้ว สามารถนำความรู้ที่มีไปต่อยอดสู่การเป็นเจ้าของกิจการร้านดอกไม้ ต้นไม้ เองได้
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ