</p>
มรภ.สงขลา ภูมิใจเสนอ”หม้อดินใบร้าว”ละครหุ่นเงา(บำบัด)เด็กพิเศษ
“มองดูฉันให้ดีซิ ฉันนี้เป็นคนพิเศษ มองดูฉันให้ดีซิ ฉันนี้เป็นคนพิเศษ ฉันช่วย…ได้”
ส่วนหนึ่งของเนื้อร้องในบทเพลง “คนพิเศษ” ที่อาจารย์ตถาตา สมพงศ์ จากโปรแกรมวิชานาฏศิลป์และการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) แต่งขึ้นเพื่อใช้ประกอบงานวิจัยละครสร้างสรรค์สำหรับเด็กพิเศษ กรณีศึกษานักเรียนในสถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา โดยส่วนช่องว่างในเนื้อเพลง ถูกออกแบบให้นักเรียนออทิสติกแต่ละคน ช่วยทำในสิ่งที่ตนเองมีความถนัด เช่น ฉันช่วยเปิดไฟได้ ฉันช่วยเก็บของได้ เป็นต้น เพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้กับเด็กได้เห็นคุณค่าภายในตนเอง
นอกจากนั้น อาจารย์ตถาตา ผู้วิจัยได้นำเพลงดังกล่าวมาใช้ประกอบละครหุ่นเงา เรื่อง “หม้อดินใบร้าว” เนื้อเรื่องกล่าวถึง หม้อสองใบ ที่ใบหนึ่งปกติ แต่อีกใบมีรอยร้าว ใบที่ร้าวก็มองว่าตัวเองด้อยค่า แต่หนุ่มที่หาบหม้อทั้งสองใบ กลับเห็นว่าหม้อดินใบร้าวไมได้ด้อยค่าเลย เพราะริมทางเดินมีต้นหญ้า ดอกไม้บาน เนื่องจากได้น้ำที่รั่วจากหม้อใบร้าว ดังนั้น แม้หม้อจะมีรอยร้าว แต่ก็มีคุณค่าในตัวเอง เช่นเดียวกับ “เด็กพิเศษ” ที่มีคุณค่าในตนเองเช่นกัน
อาจารย์ตถาตา เล่าถึงกระบวนการละครสามารถนำมาใช้พัฒนาผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ เนื่องจากนักเรียนออ ทิสติก มีความบกพร่องในหลายด้าน เช่น การเข้าสังคม คือไม่ชอบให้แตะต้องเนื้อตัว กลัวคนแปลกหน้า ไม่สบตาผู้อื่น ไม่สามารถแสดงความต้องการของตนเองได้ และไม่ตอบสนองต่อบุคคลอื่นๆ เป็นต้น “ละคร” ไม่เพียงแต่เป็นสื่อในการเรียนการสอน ที่ทำให้เกิดความสนุก และมีความสุข แต่ยังสามารถแก้ปัญหาสภาวะทางจิตใจของผู้คน เช่นเดียวกับปัญหาพัฒนาการด้านอารมณ์และพฤติกรรม หรือปัญหาด้านทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นของเด็กที่มีความต้องการพิเศษ
“…หากเด็กที่มีความต้องการพิเศษ มีทักษะในการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่น ก็สามารถช่วยเหลือตนเอง เรียนร่วมกับเด็กอื่นได้ อยู่ร่วมกับคนในครอบครัว ที่ทำงาน และสังคมได้อย่างไม่รู้สึกแปลกแยก จนสามารถประกอบวิชาชีพเลี้ยงตนเองอย่างมีความสุขได้ในที่สุด…” ผู้วิจัย กล่าว
ทั้งนี้ หลังจากนักเรียนออทิสติก ในสถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา เข้าร่วมกิจกรรมละครสร้างสรรค์ พบว่า
มีพัฒนาการทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมที่ดีขึ้น สามารถนั่งชมการแสดงละครหุ่นเงาที่มีความยาวประมาณ 15-20 นาทีได้จนจบกระบวนการ มีอารมณ์ร่วมระหว่างการแสดง และสามารถทำตามโจทย์ที่ผู้วิจัยออกแบบตามเนื้อร้องของเพลงได้ เช่น ช่วยปรบมือ ช่วยเปิดไฟและช่วยเก็บของ เป็นต้น
กระบวนการดังกล่าว ยังสามารถส่งเสริมทักษะด้านการใช้ชีวิตประจำวันร่วมกับผู้อื่น โดยนำการแสดงละครหุ่นเงา ไปจัดแสดงที่บ้านสาธิต สงขลา ซึ่งเป็นโรงเรียนปฐมวัยของนักเรียนปกติ ผลปรากฏว่านักเรียนออทิสติกสามารถร่วมกิจกรรมกับเด็กปกติได้ เช่น การปรบมือร่วมกัน การลุกขึ้นไปเปิดไฟในห้องเรียนใหม่ที่ไม่เคยไปมาก่อน โดยไม่กลัวสิ่งแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นเคย และการช่วยกันเก็บของหลังจากจบการแสดง โดยนักเรียนออทิสติกสามารถทำตามโจทย์ที่ผู้วิจัยออกแบบเพื่อใช้ในการแสดงละครหุ่นเงาได้อย่างครบถ้วนและมีความสุข
อย่างไรก็ตาม สถาบันการศึกษาพิเศษ มรภ.สงขลา ได้ต่อยอดการทำกิจกรรมร่วมกัน ระหว่างนักเรียนที่เป็นเด็กพิเศษจากสถาบันฯ กับนักเรียนปกติที่บ้านสาธิต มรภ.สงขลา ด้วยการนำนักเรียนจากสถาบันการศึกษาพิเศษไปร่วมกิจกรรมที่บ้านสาธิต อาทิตย์ละ 1 ครั้ง โดยให้เด็กๆ ได้ร่วมใช้ชีวิตผ่านการเล่นร่วมกันในสนามเด็กเล่นของโรงเรียนเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการด้านการใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นในสังคม
“ประเทศไทยยังขาดงานวิจัย ที่นำกระบวนการละครมาประยุกต์ใช้ เพื่อพัฒนาทักษะด้านต่างๆ ให้แก่เด็กพิเศษประเภทออติสติก จึงเลือกใช้ละครมาผนวกกับสื่อต่างๆ และใช้ละครบำบัด ซึ่งเป็นสื่อในการพัฒนาจิตใจผู้คน การร่วมกันแสดงบทบาทสมมุติเป็นคู่ตรงข้าม หรือคู่กรณีในสถานการณ์ความขัดแย้ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ หาทางออกร่วม ทำให้บุคคลและกลุ่มได้รับฟัง มองเห็นปัญหาร่วมกัน เข้าใจปัญหาของผู้อื่นมากขึ้น สามารถเชื่อมโยงปัญหาของผู้อื่นกับของตนเองได้ ทำให้มองเห็นความทุกข์ของตนเองที่คล้ายคลึงกับของผู้อื่น และทำให้มองเห็นทางออกหรือแนวทางแก้ไขปัญหาที่ชัดเจนขึ้น” อาจารย์ตถาตา กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ