มหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนเลือก มจพ.ผลิตวิศวกรระบบราง ด้วยระบบสหกิจศึกษา จบแล้วรับ double degree ปริญญาจาก 2 มหาวิทยาลัย
วันที่ 14 พ.ย.60 ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่าง ศ.ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดี มจพ. และ ศ.ดร.เฉิน ชุนหยาง รองอธิการบดี Central South University สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมี ดร.พินิจ จารุสมบัติ ประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีน และส่งเสริมความสัมพันธ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ
เพื่อร่วมกันพัฒนาการผลิตกำลังคนระดับช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีและวิศวกร ป้อนอุตสาหกรรมระบบรางและการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง งานวิจัยและพัฒนา การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านอุตสาหกรรมระบบราง รวมถึงการประชุมวิชาการนานาชาติร่วมกันทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของทั้ง 2 ประเทศ
ดร.พินิจ กล่าวว่า Central South University เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐบาลจีน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ที่จัดการเรียนการสอนด้านรถไฟความเร็วสูงอันดับหนึ่งของจีน และเป็นมหาวิทยาลัยที่ผลิตกำลังคนระดับช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีและวิศวกร ป้อนอุตสาหกรรมระบบราง และการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูงของประเทศจีน และเนื่องจากประเทศจีน มีความคิดที่จะลงทุนสร้างและพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศต่าง ๆ ในอาเซียน เพื่อขยายเครือข่ายธุรกิจการส่งออกและขนส่งสินค้า รวมถึงการท่องเที่ยว ให้มีความรวดเร็วและประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
จึงได้เลือกที่จะทำความร่วมมือกับ มจพ.ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำในการผลิตช่างเทคนิค นักเทคโนโลยีและวิศวกรปฏิบัติ ที่มีความพร้อมและมีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะรองรับการพัฒนากำลังคนร่วมกันได้ ความร่วมมือนี้จึงเกิดขึ้น ซึ่งไม่เพียงจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศไทยเท่านั้น ยังเป็นประโยชน์ต่อภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก รวมถึงตอบสนองสถานการณ์โลกยุคใหม่อีกด้วย
ด้าน ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการร่วมกันผลิตและพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมระบบราง และการซ่อมบำรุงรถไฟความเร็วสูง ซึ่ง
สอดรับกับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศ Thailand 4.0 ในการสร้างนวัตกรรมใหม่ที่จะมารองรับประเทศในกลุ่มอาเซียน
สำหรับหลักสูตรการเรียนการสอนนั้น มจพ.และ Central South University จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาหลักสูตรประมาณ 3 เดือน เพื่อให้สามารถเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกได้ภายในปีการศึกษา 2561 โดยจะเป็นหลักสูตรที่ผลิตนักเทคโนโลยี หรือช่างเทคนิค และผลิตนักออกแบบ หรือวิศวกร หลักสูตรละ 90 คนก่อน โดยจะรับทั้งนักศึกษาไทย และนักศึกษาจากกลุ่มอาเซียนด้วย
สำหรับการเรียนการสอนจะเป็นระบบสหกิจศึกษาที่เรียนทั้งใน มจพ. และที่ประเทศจีน เมื่อสำเร็จการศึกษาจะได้รับ double degree หรือปริญญาจาก 2 มหาวิทยาลัย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ