มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จับมือ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ในการเตรียมความพร้อม เพื่อเป็นมหาวิทยาลัย 5G แห่งแรกของอาเซียน โดยก่อนหน้านี้มหาวิทยาลัยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การศึกษาและจัดตั้งศูนย์ทดสอบ 5G กับ สำนักงานคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของการให้บริการโทรคมนาคม ที่จะสามารถส่งข้อมูลขนาดใหญ่ ผ่านทางโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สายในระบบ 5G มาแล้ว 2 ครั้ง ครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2562 และครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2564
มหาวิทยาลัย 5G แห่งแรกของอาเซียน
โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเตรียมความพร้อมการให้บริการโทรคมนาคมในระบบ 5G ในประเทศไทย และเป็นการวางรากฐานที่เข้มแข็งเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่านไปสู่เทคโนโลยี 5G โดยอาศัยกลไกการสร้างความร่วมมือ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และความรู้ทางวิชาการระหว่างกับหน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมและความก้าวหน้าทางบุคลากรและเทคโนโลยีดิจิทัล
จากการดำเนินงานที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายสำคัญ คือการสร้างขีดความสามารถใหม่ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งศาสตรจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวในงานสัมมนา “Digital Transformation for Future University” ก่อนหน้านี้ว่า มหาวิทยาลัยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาสนับสนุนโครงการ ที่ทางมหาวิทยาลัยจัดตั้งขึ้น และได้ใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เช่น ระบบการเรียนการสอนออนไลน์ของคณาจารย์และนักศึกษา ศูนย์นวัตกรรมการสอน และการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาและเสริมสร้างทักษะให้กับอาจารย์ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือสำคัญ วิทยาลัยการศึกษาตลอดชีวิต แพลตฟอร์มเพื่อเปิดกว้างให้ผู้เรียนทุกช่วงวัย สามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้โดยตลอด ศูนย์บริการประมวลข้อมูลสมรรถนะสูง เป็นการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลสนับสนุนสำหรับงานวิจัย
รวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในการบริหารจัดการภายในมหาวิทยาลัย เช่น การขอเอกสารสำคัญทางการศึกษาที่สามารถยื่นขอทางออนไลน์ได้ หรือการจ่ายเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น รวมถึงใช้ในการวางแผน วิเคราะห์ และตัดสินใจที่สำคัญทางด้านการบริหาร และรองรับกิจกรรมที่เกิดขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย โดยได้ขยายเครือข่ายไร้สายกว่า 7,000 จุด ครบทุกพื้นที่ของมหาวิทยาลัย
สำหรับแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับที่ 13 จะเป็นการมุ่งเน้นไปที่การขจัดแก้ปัญหาของสังคมและของโลก ซึ่งมหาวิทยาลัยจะสามารถตอบสนองความท้าทายนี้ได้ดีกว่าเดิม ด้วยการเพิ่มขีดความสามารถใหม่ๆ ให้กับองค์กรโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตลอดจนนำมาช่วยขับเคลื่อนพันธกิจ ตามยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้สร้างแพลตฟอร์มเพื่อเป็นต้นแบบสำคัญ เช่น การบริหารจัดการเมืองอัจฉริยะในทุกมิติควบคู่กับการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ มุ่งให้เกิดความยั่งยืนและความเป็นเลิศแก่ประชากรในจังหวัด อีกทั้งในด้านการแพทย์ ได้นำเทคโนโลยี 5G มาใช้เป็นต้นแบบของโรงพยาบาลอัจฉริยะ เป็นต้น
การร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีครั้งนี้จะเป็นอีกก้าวหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่จะก้าวไปข้างหน้าและไม่หยุดพัฒนา ในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล ที่สามารถเพิ่มคุณค่าให้แก่ทรัพยากรมนุษย์ สังคม และสิ่งแวดล้อมในที่สุด และพร้อมเผชิญไปกับโลกอนาคตอย่างแท้จริง
บทความแนะนำ
- เปิดมิติใหม่ แฟชั่นลาหู่ สไตล์โมเดิร์น – ชูลายผ้าปัก เอกลักษณ์ประจำชนเผ่า
- ผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกาย และการถ่ายแฟชั่นใต้น้ำสุดเจ๋ง
- How to เปลี่ยน resume ให้ดูดีได้ง่ายๆ ด้วยเว็บไซต์ canva
- 10 เว็บไซต์ฝึกงานสายแฟชั่น ในต่างประเทศ
- เทรนด์การเรียนแฟชั่นสุดจี๊ด ของนักศึกษาคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มทร.กรุงเทพ
- นศ.ธุรกิจแฟชั่น DPU คว้า 3 รางวัล ประกวดเครื่องแต่งกาย