ส่งต่อรุ่นน้องได้เรียนอีกหลายแสนราย ส่วนการยกเลิกหลักเกณฑ์เกรด 2.00 ถึงกู้ได้นั้นขอเวลาศึกษาผลกระทบจากปีนี้ก่อน
วันที่ 29 ก.ย.59 น.ส.ฑิตติมา วิชัยรัตน์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ข้อมูลล่าสุดของผู้รับสิทธิ์กู้ยืมเงิน กยศ.ทั้งอยู่ระหว่างการโอนเงินทั้งผู้กู้รายเก่าและรายใหม่ ในปีการศึกษา 2559 มีจำนวน 458,389 ราย แบ่งเป็นระดับ ม.ปลาย 70,301 ราย ระดับ ปวช. 52,159 ราย ระดับ ปวท/ปวส.อีก 55,800 ราย รวมวงเงินประมาณ 18,605 ล้านบาท โดยกระบวนการกู้ยืมยังไม่ถือว่าสิ้นสุด และยังมีผู้กู้บางส่วนอยู่ระหว่างการพิจารณาปล่อยกู้
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้กู้ที่ผิดนัดชำระเงินกู้ กยศ.นั้น ภาพรวมผู้กู้ที่ค้างชำระสะสมตั้งแต่ปี 2547 และถูกฟ้องร้องแล้วกว่า 900,000 ราย มูลหนี้รวมประมาณ 90,000 ล้านบาท เฉพาะปี 2559 กยศ.ดำเนินการฟ้องร้องไปแล้ว 170,000 ราย ส่วนกองทุนกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) 85,000 ราย อยู่ระหว่างถูกบังคับคดี และส่งเรื่องให้ทนายความดำเนินการสืบทรัพย์ เพื่อยึดทรัพย์แล้ว ประมาณ 50,000 ราย มูลหนี้รวมกว่า 4,000 ล้านบาท
ผู้จัดการ กยศ. กล่าวต่อไปว่า ส่วนตัวเลขการชำระเงินปีนี้ มียอดล่าสุดอยู่ที่ 20,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะมาตรการกระตุ้นจูงใจลูกหนี้ให้มาชำระคืน ทั้งความร่วมมือกับองค์กรนายจ้าง สถานประกอบการในการหักเงินเดือนผู้กู้เพื่อชำระหนี้ การลดเบี้ยปรับสำหรับผู้ปิดบัญชี เป็นต้น รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง ซึ่ง กยศ.จะพยายามหามาตรการใหม่ ๆ ออกมา เพราะไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้อง
ส่วนกรณีที่ รมว.ศึกษาธิการ ขอให้ยกเลิกหลักเกณฑ์การกู้ยืมเงิน กยศ.ที่กำหนดว่าผู้กู้ทั้งรายเก่าและรายใหม่ต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2.00 นั้น กยศ.ต้องศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการกู้ยืมในปีนี้ก่อน ทั้งนี้หลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นมติของคณะกรรมการ กยศ.ที่อยากให้เด็กตั้งใจเรียน ซึ่งสถานศึกษาส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะหากเรียนได้เกรดต่ำกว่า 2.00 ก็จะไม่จบการศึกษา
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ