14 กุมภาพันธ์ คือ วันวาเลนไทน์ วันแห่งความรัก หรือวันพิเศษสำหรับคนมีคู่ ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนคงนึกถึงความรักแบบหนุ่มสาว…
แต่ถ้าถามว่า วัยรุ่นไทย ณ วันนี้มีมุมมองเกี่ยวกับความรักเช่นไร แล้วเหล่าวัยรุ่นให้ความสำคัญกับวันวาเลนไทน์ (วันแห่งความรัก)มากแค่ไหน โดยถ่ายทอดความรู้สึกผ่าน ความรักใน 3 แบบ 3 สไตส์ อาทิ มุมความรักของเด็กพิการทางสายตา มุมมองความรักของคู่รักในวัยเรียน และมุมมองความรักจากรักเป็นพิษจนต้องหันกลับมารักตัวเอง ลองไปดูมุมมองความรักที่หลากหลายของพวกเขาเหล่านี้ ว่ามีความคิดกันอย่างไรกับเทศกาลวันวาเลนไทน์กันค่ะ
เปิดตัวด้วยความรักที่บริสุทธิ์ของ นางสาวสุชญา มานิตยกุล (น้องหญิง) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรภาษาไทย มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวถึงเทศกาลแห่งความรัก ว่า ด้วยความผิดปกติของร่างกาย ทำให้ความรักแบบหนุ่ม-สาว ทั่วไป คงยากที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง
แต่ความรักที่ตนรับรู้ได้นั้น คือ ความรักของแม่ และตนก็มอบหัวใจทั้งดวงให้แม่ดูแลเช่นกัน แต่การเป็นคนพิการทางสายตา ไม่ได้ทำให้การแสดงความรักต่อคุณแม่ลดลง หรือเป็นอุปสรรคแต่อย่างใด ตนใช้วิธีการกอด และการสัมผัสกับแม่เสมอ ซึ่งมีภาษามือที่รู้กันแค่สองคน แม่-ลูกด้วย : การนำมือตนเองไปแตะเบาๆที่บริเวณท้องคุณแม่ แม่ก็รับรู้แล้วว่า “ตนกำลังบอกรักท่าน”
เลยอยากให้เพื่อนๆ คิดถึงความรักในอีกแง่มุมหนึ่งว่า วันวาเลนไทน์ไม่ใช่แค่วันแสดงความรักแบบหนุ่ม-สาว เท่านั้น แต่เราสามารถใช้เทศกาล แห่งความรักนี้ บอกรักคุณพ่อ คุณแม่ และคนในครอบครัวได้ด้วย ถ้าเพื่อนๆคนไหนยังไม่มีแฟน ก็ให้ถือเอาเทศกาลดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงความรักคนในครอบครัวก็ได้คะ
ด้านนายณัฐวัฒน์ วิบูลย์นรชาติ (น้องเนส) นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรธุรกิจการบิน กล่าวต่อว่า เทศกาลวันเลนไทน์ก็นับเป็นวันธรรมดา หากมองในฐานะคนโสด (ยิ้ม) ถามว่าตนเองเคยมีแฟนมาก่อนไหม? ก็ต้องตอบว่า เคยมีครับ
“แต่ก่อนผมมองเรื่องความรักเป็นสิ่งสวยงามและมหัศจรรย์ เพราะตนเองสามารถทำหลายสิ่ง หลายอย่าง เพื่อคนรักที่เรียกว่า “ แฟน ” ได้เสมอ ความรักของผมถือเป็นรักที่จริงจังและคบนาน ผมเริ่มมีแฟนตั้งแต่มัธยมปลาย คบกันเรื่อยมาจน 6 ปี แต่บทสุดท้าย ก็ยังไม่ใช่เนื้อคู่กัน
จากความรักที่จบลง ทำให้ผมมี มุมมองความรักเปลี่ยนไป ผมหันมารักตัวเองมากขึ้น และกลายเป็นคนเห็นแก่ตัว โฟกัสแค่เรื่องงาน และเรื่องเงินเพราะต้องทำงานส่งเสียให้ที่บ้าน โดยมีเป้าหมายสูงสุดในชีวิตที่ต้องการคือเป็นสจ๊วต จึงหันมามุ่งมั่นเรื่องดังกล่าวแทนความรัก แต่ถ้าเพื่อนๆคนไหนเจอคนที่ใช่แล้ว ก็รักษาไว้ให้ดีนะครับ ซึ่งผมยังศรัทธาคำว่า Power of love หากความรักมาถูกจังหวะในเวลาที่เหมาะสมครับ”
สุดท้ายนางสาวชนม์พิศา บุญสำราญ (น้องปอ) นักศึกษาชั้นปีที่ 3 หลักสูตรภาษาไทย กล่าวปิดท้ายว่า ตนเป็นอีกคนที่มี “แฟน” แล้ว แต่เริ่มคบกันได้ไม่นานเท่าไรค่ะ และความจริงก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักในความสัมพันธ์ เพราะแฟนเป็นรุ่นพี่ในหลักสูตรเดียวกัน อายุห่างกัน 2 ปี
ความรักของตน หากอธิบายให้เข้าใจสั้นๆ คือ การดูแลกัน อยู่เป็นเพื่อนให้คำปรึกษาทั้งเรื่องเรียนและเรื่องส่วนตัว ตนมั่นใจว่าเป็นความรักที่อยู่ในกรอบ ไม่มีคำว่าล้ำเส้น และไม่เสียการเรียนแน่นอน เพราะเราสองคนรู้หน้าที่ของตนเองดี มีเรียนก็ไปเรียน อีกคนหนึ่งมีงานทำก็ไปทำงาน หากเวลาเราว่างค่อยมาเจอกัน
“ วันวาเลนไทน์ก็แค่วันธรรมดา แต่ปีนี้ ความพิเศษ คือ เป็นปีแรกที่เราได้ฉลองวันแห่งความรักด้วยกัน จึงกำลังดูๆ ของขวัญจะเซอร์ไพรส์ฝ่ายชาย คาดว่าน่าจะเป็นสิ่งที่เขาอยากได้ อาทิ เสื้อทำงานสักตัว หรืออาจไม่มีอะไรเลยก็ได้ เพราะความรักเราสามารถแสดงออกได้ทุกวันอยู่แล้ว อย่าเอาเทศกาลมาตีกรอบให้เราต้องแสดงความรักต่อกันเลยค่ะ ปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ และคบแบบไม่คาดหวังเป็นเรื่องดีที่สุด”
สุดท้าย ไม่ว่าความรักของคุณจะเป็นในรูปแบบไหน จะแบบแฟน แบบคู่ชีวิต แบบเพื่อน หรือแม้แต่การรักคุณพ่อคุณแม่ รักคนในครอบครัว หรือคนรอบข้าง ก็ถือเป็น “ความรัก” ที่ดีด้วยกันทั้งหมด ผู้เขียนอยากให้ทุกคนมอบความรักให้กันทุกวัน ไม่จำเป็นต้องรอวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หรือ วันวาเลนไทน์ เพียงแต่ให้วันวาเลนไทน์นั้น เป็นวันพิเศษที่ทำให้เรามีความสุขขึ้นในการมอบความรักแล้วกัน …
แฮปปี้วันวาเลนไทน์ค่ะ
น.ส. ปภาวรินทร์ สังฆพรหม
ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ