วันจันทร์ ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 19.40 น.
เมื่อเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2565 เวลา 14.30 น. ณ ห้องศรีลำดวน 1 โรงแรมศรีลำดวน อำเภอเมืองศรีสะเกษ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธาน ในพิธีลงนามความร่วมมือการใช้ฐานข้อมูล Big Data ระหว่างมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กับองค์การบริหารส่วนตำบล อำเภอเมืองศรีสะเกษ โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประจวบ จันทร์หมื่น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณะอาจารย์ และผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
ดร.ประกาศิต อานุภาพแสนยากร อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ตระหนักถึงบทบาทมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น หนึ่งในพันธกิจที่สำคัญคือการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน ส่งเสริมสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์จังหวัดศรีสะเกษ และวาระการขับเคลื่อนจังหวัดศรีสะเกษ บนเส้นทางของการพัฒนาที่ยั่งยืน (10 agenda)
ในปีงบประมาณ 2563 – 2565 มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีจังหวัดศรีสะเกษ” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งการวิจัยครั้งนี้มีความสอดคล้องกับวาระจังหวัด ในด้านผู้ด้อยโอกาส ในปีงบประมาณ 2564 ปีที่ 2 ของการทำวิจัย มีพื้นที่เป้าหมายการวิจัย คืออำเภอเมืองศรีสะเกษ ในการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาความยากจนให้เป็นโมเดลแก้จน (OM) มีการดำเนินการใน 4 โครงการ ได้แต่ 1) การปลูกและแปรรูปผักกะแยง ผักพื้นถิ่น มีกลิ่นเฉพาะตัว เป็นเครื่องปรุงอาหารอัตลักษณ์ของคนอีสาน 2) การเลี้ยงและการแปรรูปจิ้งหรีดผง สัตว์เศรษฐกิจ แหล่งโปรตีนที่สำคัญ เลี้ยงง่าย โตเร็ว 3) ผ้าทอศรีลำดวน : ทุนทางวัฒนธรรมบนความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนคนจน ลายดอกลำดวน ดอกไม้ประจำจังหวัดศรีสะเกษ และ 4) แนวทางการจัดตั้งกองทุนน้ำยั่งยืน เพื่อสวัสดิการครัวเรือนคนจน ตำบลนำร่อง เพื่อยกระดับรายได้ของกลุ่มเป้าหมายไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ทั้งนี้การดำเนินการวิจัยดังกล่าวได้บรรลุวัตถุประสงค์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
สำหรับการจัดกิจกรรมแสดงผลงาน “นวัตกรรมแก้จน คนศรีสะเกษ” ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อจัดแสดงผลงานการวิจัย ผลงานบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย ออกสู่สาธารณะ และแสดงศักยภาพการแก้ไขปัญหาความยากจนของพื้นที่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ 2. เพื่อนำเสนอ WaTANA Model แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนจังหวัดศรีสะเกษ 3. เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือระดับตำบล ในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จ และแม่นยำ อำเภอเมืองศรีสะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ กล่าวอีกว่า การดำเนินการวิจัยในครั้งนี้ได้บรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้ ด้วยการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ได้รับความร่วมมือจากทุกหน่วยงานในระดับจังหวัด ระดับอำเภอ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ท้องถิ่นจังหวัด สำนักงานพัฒนาชุมชน สำนักงานสาธารณสุข สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด สำนักงานชลประธาน องค์การบริหารส่วนตำบล 18 พื้นที่ อำเภอเมือง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน และกลุ่มเป้าหมายผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกโครงการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สหัสา พลนิล รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวว่า ตามที่ปีงบประมาณ 2563 – 2565 มหาวิทยาลัยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและแม่นยำ กรณีจังหวัดศรีสะเกษ” จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และได้การสังเคราะห์ผลการดำเนินงาน นวัตกรรมแก้จน (OM) จังหวัดศรีสะเกษ ว่า WaTTANA Model จากกระบวนการปฏิบัติงานจริง 6 ขั้นตอน และจากการศึกษาพบว่า องค์กรบริหารส่วนตำบล เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ เป็นหน่วยงานใกล้ชิดกับพื้นที่ รับทราบปัญหา ความต้องการของชุมชน และการวางแผนปฏิบัติงาน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ทันเหตุการณ์
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและประกันคุณภาพการศึกษา กล่าวอีกว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ซึ่งมีบทบาทในการพัฒนาท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน และโดยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จึงได้เล็งเห็นความสำคัญพัฒนาระบบฐานข้อมูล Big Data เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการทำงานขององค์การบริหารส่วนตำบล ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผู้ด้อยโอกาส เพื่อขับเคลื่อนยุทธ์ศาสตร์จังหวัดไปสู่เป้าหมาย การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในวันนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้
1. เพื่อเป็นเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการการแก้ไขปัญหาความยากจน จังหวัดศรีสะเกษ 2. เพื่อร่วมพัฒนาและร่วมใช้งานระบบฐานข้อมูล Big Data มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ 3. เพื่อร่วมจัดเก็บ บันทึกข้อมูล ส่งต่อความช่วยเหลือ กลุ่มคนจน กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ให้เข้าถึงสิทธิและสวัสดิการ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคงและสามารถพึ่งพาตนเองได้ และ 4. ความร่วมมืออื่นๆ ซึ่งทั้งสองฝ่ายเห็นชอบดำเนินการร่วมกัน
มีผู้ร่วมลงนามในวันนี้ เป็นองค์การบริหารส่วนตำบล ทั้ง 15 แห่งในพื้นที่อำเภอเมืองศรีสะเกษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหมากเขียบ, หนองครก, หนองไฮ, หนองไผ่, หนองแก้ว, หญ้าปล้อง, ทุ่ม, ตะดอบ, ซำ, จาน, คูซอด, โพนค้อ, โพนข่า, โพนเขวา และ เทศบาลตำบลน้ำคำ โดยบันทึกข้อตกลงฉบับนี้มีกำหนดระยะเวลา 3 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 สิ้นสุด วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แหล่งที่มา : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดศรีสะเกษ https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG220530192201972