ถือเป็นอีกมหาวิทยาลัยตัวอย่างที่ใส่ใจคุณภาพชีวิตของชุมชนแวดล้อม
กับโครงการ “1 กล้อง 1 สถานประกอบการ” ของมหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ (มฉก.) ที่ได้สร้างเครือข่ายชุมชนดูแลชุมชนนำร่องใน อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ ซึ่งเสมือนเป็นเพื่อนบ้านรอบรั้วมหาวิทยาลัย
มฉก. ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐและผู้นำชุมชน ในอ.บางพลี ได้แก่ สถานีตำรวจภูธรบางพลี องค์การบริหารส่วนตำบลบางโฉลง กำนันตำบลบางโฉลง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 และสถานประกอบการนำร่องรอบมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ซึ่งได้ปรับมุมกล้องวงจรปิดไปยังถนนสาธารณะ
รศ.ดร.ประจักษ์ พุ่มวิเศษ อธิการบดีมฉก.กล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ว่า มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นของขวัญที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มอบให้ชุมชนโดยเฉพาะชุมชนของจ.สมุทรปราการ และภาคตะวันออก เพื่อสร้างบัณฑิตมารับใช้สังคม และเป็นมหาวิทยาลัยของชุมชน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้ ติดตั้งกล้อง CCTV ตั้งแต่ปี 2549 โดยมีการตรวจสอบกล้องทุกวันให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ เมื่อติดตั้งแล้วลดการทำผิด ไม่ซื่อสัตย์ หรือการขโมย เป็นประโยชน์ช่วยเหลือบ้านเมืองและสถานีตำรวจในการค้นหาคนร้าย โดยมุ่งมั่นที่จะช่วยสังคม ไม่ต้องการเป็นภาระสังคม
พ.ต.อ.รักศักดิ์ เมฆจินดา รองผู้กำกับการสืบสวนสถานีตำรวจภูธรบางพลีได้กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ทุกคดีหัวใจสำคัญของความสำเร็จมาจากกล้องวงจรปิดเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักมาก เป็นหลักฐานชั้นดี ที่ผ่านมามฉก.มีโครงการดีๆ ที่เป็นบุญ เช่น กำหนด Zoning ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และอบายมุขรอบสถาบัน
“และโครงการ 1 กล้อง 1 สถานประกอบการ ซึ่งตรงกับความคิดของผมคือ 1 กล้อง 2 ถนน เพียงแค่หันกล้องส่องถนนนิดเดียวแต่ประโยชน์ที่ได้รับนั้นมากมาย ทุกวันนี้เราสำรวจกล้องวงจรปิดประมาณ 7-8 พันตัว และนำมากำหนดจุดบน Google Map เราแบ่งภารกิจเพื่อประชาชน เหนื่อยไม่เป็นไร ถ้าหยุดจะติดตามยาก ไม่ขออะไรมากครับ ขอแค่หันกล้องวงจรปิดไปส่องถนนก็เป็นหลักฐานชั้นดีที่สามารถพิชิตคดีได้”
โครงการนี้ยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก 18 สถานประกอบการรอบรั้วมหาวิทยาลัย ได้แก่ หอพักเอกอารี, บริษัท เตียกุ่ยฮวดลิฟวิ่งเพลส, กิตตินคร รีสอร์ท, บริษัท ดีซีเค แลนด์, The Impress , ร้านกับข้าวธนพร, โรงแรม H5 , ตึก Emtee Room, บริษัท ศิริสมัย, หอพัก U-House, ตลาดจันทร์เจริญ, ร้าน 59 ขจรกิตต์, ร้านกฤช ฮาร์ดแวร์ , ร้านข้าวสารเอกชีวิน, ร้านทองศรีวารี, ตึกนายโจ, ตลาดแก้ววรรณะ และร้านทองพันชั่ง
นอกจากนี้ ยังมีโครงการสวมหมวกนิรภัย 100% ที่มฉก.เดินหน้ามาตั้งแต่ปี 2557 เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการเสียชีวิต โดยมีการมอบรางวัล “วินหมวกทองคำ” ให้วินจักรยานยนต์สาธารณะที่ผู้ใช้บริการให้คะแนนสูงสุดในด้านความปลอดภัยและการให้บริการที่ดีจาก 16 วินรอบรั้วมฉก. ในโครงการสวมหมวกนิรภัย 100%
วินจักรยานยนต์สาธารณะ ที่มีคะแนนสูงสุด จะได้รับรางวัลหมวกทองคำ เกียรติบัตร ป้าย “วินหมวกทองคำ” และหมวกคลุมผมอ่อนสำหรับสวมก่อนสวมหมวกนิรภัยสำหรับบริการผู้โดยสาร ซึ่งผลการมอบรางวัลชนะเลิศแก่วินจักรยานยนต์สาธารณะ 2 ครั้งที่ผ่านมา ครั้งที่ 1 คือ วินเฉลิมพระเกียรติ ครั้งที่ 2 คือ วินเที่ยงธรรม และครั้งล่าสุดนี้ เป็นครั้งที่ 3 ได้แก่ วินปากซอยวัดศรีวารีน้อย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ