กลุ่มโรงเรียนดัง/ยอดนิยม ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมาย เน้นโรงเรียนท่ีมีปัญหาการพัฒนาจริง ๆ ทั้งระดับพื้นฐาน-อาชีวะ 11 เมษาคัดเลือกโรงเรียน หมออุดม ยืนยันทันเปิดเทอม 1/2561 แน่นอน ด้านสพฐ.เตรียมประชุมชี้แจงผู้บริหารสถานศึกษา
นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการดำเนินการพัฒนานวัตกรรมการบริหารจัดการการศึกษาในรูปแบบพับบลิค สกูล หรือ Public School เพื่อรองรับการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปในหลักการกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียนต้นแบบที่จะเข้าร่วมโครงการพับบลิค สกูล โดยจะเปิดโอกาสให้ทั้งโรงเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก โรงเรียนขนาดกลางที่มีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพ ทั้งระดับอนุบาล,ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และสถานศึกษาอาชีวศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เข้าร่วม และให้มีการยืดหยุ่นจำนวนนักเรียนจากเดิมไม่เกิน 300-500 คน กรณีเห็นว่าโรงเรียนดังกล่าวมีความพร้อมตรงตามเกณฑ์แต่มีนักเรียน 700 คนก็ให้เข้าร่วมได้
ขณะเดียวกัน ที่ประชุมได้เสนอชื่อกลุ่มโรงเรียนพับบลิค สกูล มา 2 รายชื่อ ได้แก่ “สานพลังพัฒนา” และ “ร่วมรัฐพัฒนา” แต่ยังไม่มีข้อยุติว่าจะใช้ชื่อใดเป็นชื่อโครงการ
“โรงเรียนที่ประสบความสำเร็จแล้ว เช่น โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แบบนี้ไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่จะเข้ามาร่วมโครงการพับบลิค สกูล ที่เราต้องการคืออย่างน้อย 50% เป็นโรงเรียนที่มีปัญหาในการพัฒนาจริง ๆ และก็เปิดโอกาสทั้งระดับพื้นฐาน ระดับอาชีวศึกษา แต่ไม่ได้มีการแบ่งสัดส่วนที่ชัดเจนว่าระดับใดจำนวนเท่าไร ดูตามความเหมาะสม สิ่งสำคัญของการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว คือ ความสมัครใจและความพร้อมของผู้บริหารโรงเรียน ครูในโรงเรียน รวมถึงชุมชนในพื้นที่ และภาคเอกชนมาร่วมให้การสนับสนุน
ทั้งนี้ โรงเรียนกลุ่มนี้ยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐตามปกติ ยังคงมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐเช่นเดิม เพียงแต่เรื่องที่ต้องสนับสนุนเพิ่มก็อาจมีการระดมทุนจากภาคเอกชน ท้องถิ่นซึ่งเงินตรงนี้ก็ใช้บริหารจัดการอยู่ภายในโรงเรียน และมีข้อเสนอจากภาคเอกชนด้วยว่าต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนว่าความร่วมมือของเอกชนมีเรื่องใดบ้าง รัฐเรื่องใดบ้าง ภายใต้กรอบระยะเวลากี่ปีเพื่อที่ป้องกันไม่ให้เกิดการทอดทิ้ง”
นพ.อุดม กล่าวและว่า นอกจากนี้โรงเรียนพัับบลิค สกูล นั้นยังมีอิสระในด้านวิชาการ สามารถออกแบบหลักสูตรที่เหมาะสมกับผู้เรียนและตรงกับความต้องการในท้องถิ่นได้ แต่หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่เป็นข้อบังคับก็ไม่ได้ทิ้ง เช่น ม.ปลาย ต้องยึดการเรียนการสอน 60% ยังเหลืออีก 40% ตรงนี้ก็สามารถปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับจุดเน้น ถ้าเน้นด้านสาธารณสุขก็ออกแบบความรู้ทางวิชาการ ช่วงเวลาที่เหลืออาจจะส่งเด็กไปเรียนรู้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ที่ผ่านมากำหนดเป้าหมายว่าเริ่มต้นใน 77 จังหวัด ๆ ละ 1 โรง แต่ที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าอยากให้เกิดการจายลงไปในพื้นที่ทุกภูมิภาค เพราะฉะนั้น ในบางจังหวัดอาจมีมากกว่า 1 แห่งก็ได้บนพื้นฐานความพร้อมและความสมัครใจ โดยจากนี้ผู้รับผิดชอบจะไปดำเนินการคัดเลือกโรงเรียนและมานำเสนอให้ที่ประชุมคัดเลือกในวันที่ 11 เม.ย.2561 อย่างไรก็ตาม ยืนยันโรงเรียนพับบลิค สกูล จะเริ่มดำเนินทันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 แน่นอน
ด้านนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า เร็ว ๆ นี้ จะประชุมทางไกลเพื่อชี้แจงแนวทางและหลักการของโรงเรียนพับบลิค สกูล ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษาได้ทราบ รวมถึงจะหารือกับภาคเอกชนถึงแนวทางในการร่วมสนับสนุนเพื่อยกระดับคุณภาพของโรงเรียนที่จะเข้าร่วมโครงการ ทั้งนี้ แนวทางของพับบลิค สกูล นั้นเป็นแนวทางเดียวกับที่ สพฐ.พยายามขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นกับโรงเรียนต่าง ๆ ในปีการศึกษา 2561โดยจะเน้นเรื่องการศึกษาเพื่ออาชีพ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ