ผลกระทบหลัง สพฐ.ยืดหยุ่นจำนวน40คนต่อห้องรับเด็กเขตพื้นที่บริการ
จากกรณีที่คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เห็นชอบให้คณะกรรมการสถานศึกษาและ คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด(กศจ.) พิจารณายืดหยุ่นจำนวนนักเรียนต่อห้อง จาก 40 คน และจำนวนห้องเรียน ได้ตามความเหมาะสม และตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยคำนึงถึงคุณภาพของนักเรียน และความเดือดร้อนของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนปีการศึกษา 2561 เนื่องจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)ได้รับร้องเรียนว่าการกำหนดจำนวนนักเรียนต่อห้องที่ 40 คนทำให้นักเรียนในเขตพื้นที่บริการบางส่วนไม่มีโอกาสเข้าเรียนในพื้นที่บริการได้
ล่าสุด ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน (ส.ปส.กช.) เปิดเผยว่า จากการยืดหยุ่นดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนเอกชนอย่างมาก เนื่องจากการประกาศยืดหยุ่นเกิดขึ้นก่อนเปิดภาคเรียนประมาณ 1 สัปดาห์ ซึ่งขณะนั้นโรงเรียนได้รับนักเรียนและมีการจัดห้องเรียน รวมถึงเตรียมแผนการสอนกันแล้ว
“เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แจ้งไปยัง กศจ. และเขตพื้นที่การศึกษา และมีการพิจารณายืดหยุ่นให้ปรับเพิ่มจำนวนนักเรียนต่อห้องได้มากกว่า 40 คนปรากฎว่า มีนักเรียนโรงเรียนเอกชน ลาออกเพื่อไปเข้าเรียนโรงเรียนรัฐ รวมทั้งประเทศกว่า 4,000 คน แม้แต่เปิดเทอมไปแล้ว เด็กเข้ามาเรียนแล้วเกือบหนึ่งสัปดาห์ก็ยังมีเด็กมาลาออก ซึ่งทำให้โรงเรียนเอกชนได้รับความเดือดร้อน และผลกระทบนี้อาจส่งไปถึงการเลิกจ้างครูในโรงเรียนเอกชนบางส่วนด้วย”
ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ กล่าวและว่า ในทางปฏิบัติโรงเรียนเอกชนก็เข้าใจ สพฐ.ที่ถูกกดดันจากหลายทางให้ต้องยืดหยุ่นเรื่องนี้ แต่เมื่อยืดหยุ่นแล้วโรงเรียนปฏิบัติตามนโยบายก็จะไม่มีปัญหา แต่บางโรงเรียนไม่ทำตามเงื่อนไข แค่เด็กมาบอกว่าไม่มีที่เรียนก็รับแล้วทำให้เกิดผลกระทบขึ้นมา จึงอยากขอให้ รมว.ศึกษาธิการ พิจารณาแก้ไขปัญหานี้รวมถึงเตรียมวางมาตรการรองรับการรับนักเรียนในปีการศึกษาหน้าด้วย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ