นางอัญชลี มนต์สุวรรณ ผู้อำนวยการโรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ เขตประเวศ กทม. เปิดเผยว่า โรงเรียนแก่นทองอุปภัมภ์ ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ อีโค-สคูล (Eco-School) ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษา โดยมุ่งพัฒนาโรงเรียนให้กลายเป็นพื้นที่ที่เด็กจะได้เรียนรู้และฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้กรอบแนวคิดการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ (Whole School Approach) ตั้งแต่การกำหนดนโยบายของผู้บริหาร การพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษา รวมถึงการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครอบครัว ชุมชน และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนา
โดยที่ผ่านมา โรงเรียนแก่นทองอุปถัมภ์ ได้จัดทำหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้แบบบูรณาการ โดยยึดการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมศึกษา Eco School ในการเรียนรู้รายวิชาต่างๆ ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6 รวมทั้งบรรจุหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา Eco School ให้เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตรของโรงเรียน โดยอยู่ในรายวิชาเพิ่มเติมของกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการศึกษา 7 ขั้นตอน โดยให้ผู้เรียนมีจิตสำนึกที่ดีต่อตนเอง ต่อชุมชน และประเทศชาติ มีวินัย ความอดทน และมีกระบวนการเรียนรู้ที่ยั่งยืน เพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบภายใต้บริบทของชุมชน โดยผู้เรียนต้องสำรวจประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ตามความถนัด ความสนใจ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชน สร้างเสริมประสบการณ์ที่ผู้เรียนนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้ประสบความสำเร็จและมีความสุข ตลอดจนการขยายความรู้สู่ชุมชน เพื่อให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือกับประชาชนในชุมชนเพื่อการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
“จุดเด่นของหลักสูตร Eco School ของโรงเรียน คือ เป็นหลักสูตรพัฒนาผู้เรียนเน้นหลักสมรรถนะ (Competency Based Curriculum) และสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง สามารถพัฒนาผู้เรียนทั้งความรู้ และทักษะ เป็นการศึกษาที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่น มุ่งให้ผู้เรียนเห็นคุณค่า รู้จักอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ทำให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมจากการได้ลงมือปฏิบัติจริง ภายใต้ความร่วมมือของผู้บริหาร ครู ชุมชน และนักเรียน ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กันโดยในการจัดการเรียนรู้จะมีทั้งครู ผู้ปกครอง และชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอน นักเรียนได้ออกพื้นที่ในการเรียนรู้ ตลอดจนได้สักถาม สัมภาษณ์ ถึงสภาพปัญหาและแล้วทางแก้ไขปัญหา จากกระบวนการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนเอง”
นางอัญชลี กล่าวต่อว่า ผลจากการเข้าร่วมโครงการโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยมีการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ Eco School มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนสามารถพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในสถานศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้นักเรียนและบุคลากรมีความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งเกิดความร่วมมือในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาและชุมชนโดยรอบให้เกิดความยั่งยืน นอกจากนี้ยังได้รับการคัดเลือกให้ได้รับรางวัลเครือข่ายเยาวชนริกโก้อีโคสคูลดีเด่น ประจำปี 2560 จากผลงานพัฒนาเครือข่ายเยาวชนริโก้อีโคสคูลพิทักษ์คูคลองประเวศอย่างมีประสิทธิภาพ และในอนาคตโรงเรียนก็จะมีการพัฒนาต่อยอดหลักสูตร Eco School เพื่อให้โรงเรียนเป็นฐานสำหรับการสนับสนุนเด็กให้ได้เรียนรู้และฝึกทักษะการใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อันจะนำไปสู่การเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อม หรือ Green Citizen ที่ดีในอนาคตต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ