วารินทร์ พรหมคุณ
คุยกับ “รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ” อธิการบดี 4 สมัย
“แม่ฟ้าหลวง” สร้างขึ้นโดยเดินไปรออยู่ที่อนาคตแล้ว
“สร้างคน สร้างความรู้ สร้างคุณภาพ และสร้างคุณธรรม”
ปณิธานของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) ซึ่งมีความเป็นเลิศในศิลปะและวิทยาการสาขาต่าง ๆ เป็นแหล่งผลิตและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพของประเทศรวมทั้งเป็นแหล่งสร้างสมและพัฒนาองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ ควบคู่กันไปกับการนำองค์ความรู้ในมหาวิทยาลัยออกไปสู่การประยุกต์ใช้ในสังคมและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ขณะเดียวกันก็มุ่งเน้นการศึกษาและพัฒนาศิลปวัฒนธรรมของชาติ ควบคู่ไปด้วย
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดี 4 สมัย…แห่งมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวถึง “แม่ฟ้าหลวง” ว่านับแต่แรกตั้งมหาวิทยาลัย ได้กำหนดอนาคตมาแล้วว่าจะผลิตกำลังคนเช่นไร เพราะว่าการผลิตกำลังคนเพื่อพัฒนาประเทศ นั้นมีองค์ประกอบครบหลายด้าน ดังนั้น “แม่ฟ้าหลวง” จึงเปิดสอนทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์สุขภาพ อย่างไรก็ตาม นโยบายของรัฐบาลต้องการนำเรื่องของวิทยาศาสตร์พัฒนาประเทศ เพื่อขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็ทราบกันดีว่าการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเดียวทำให้ประเทศชาติพัฒนาไม่ได้ เพราะต้องพัฒนาคนในทุกด้าน ๆ ไปพร้อมกัน เช่น ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ภาษา ศิลปวัฒนธรรม ไม่เช่นนั้นก็จะมีแต่นักวิทยาศาสตร์ ขาดคนที่จะเป็นผู้ดูแลจัดการ
ขณะนี้ “แม่ฟ้าหลวง” เน้นการผลิตกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสาขาที่ขาดแคลน ที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ไม่ได้มุ่งผลิตกันมากนัก และที่สำคัญคือ เราสร้างนักจัดการเทคโนโลยี ที่เรียกว่า นวัตกรรมจากธรรมชาติ อินโนเวชั่น เนเจอร์ เพื่อนำเอาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่วิจัยแล้ว มาพัฒนาต่อยอดสู่กระบวนการของความคิดที่จะพัฒนาเป็นสินค้าต่อไปและนำไปจำหน่าย
“ปัญหา ณ ขณะนี้คือคิดวิจัยแล้วไม่ได้นำไปต่อยอด แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อไป ก็คือทำอย่างไรจะนำงานวิจัยไปสู่การผลิตได้ ซึ่งสอดรับกับรัฐบาล ที่ต้องการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 แต่การขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ต้องมองย้อนกลับไปดูพื้นฐานของประเทศ ในด้านอื่น ๆ ด้วย เพราะบางเรื่องก็ขับเคลื่อนได้แค่ 1.0 บางเรื่องก็แค่ 2.0 และบางเรื่องก็ 3.0 และที่สุดคือ เรื่องของภาษาพื้นฐาน ความสามารถทางด้านการจัดการ ความสามารถในการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ และความคิดที่เป็นโลกาภิวัตน์ สิ่งเหล่านี้มันเป็นพื้นฐานที่จะนำประเทศไปสู่ความเป็นสากลแล้วก็สามารถที่จะนำเอาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไปเป็นสินค้าได้” รศ.ดร.วันชัย กล่าว
“แม่ฟ้าหลวง” มองเห็นภาพนี้มาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย เมื่อปี 2542 เพื่อแก้ปัญหาของประเทศ เริ่มต้นด้วยการวางรากฐานด้านภาษา และด้านความสัมพันธ์กับมหาอำนาจเศรษฐกิจอย่าง “จีน” ซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลกปัจจุบัน
“เราเริ่มสอนหลักสูตรภาษาอังกฤษ และเริ่มสานสัมพันธ์กับจีน มาตั้งแต่แรกเปิดเมื่อปี 2542 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีใครสนใจ “จีน” มากนัก ขณะเดียวกันเราก็เริ่มเปิดสาขาเทคโนโลยีแห่งอนาคต เน้นเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศ และอุตสาหกรรมเกษตร เพราะเราคิดว่าเทคโนโลยีที่สำคัญกับโลกในอนาคต จะมีอยู่ 4-5ด้าน คือ เทคโนโลยีอาหาร เราเปิดสาขาอุตสาหกรรมเกษตรที่จะแปรรูปสินค้าต่างๆให้เป็นวัตถุสำเร็จรูป, เทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งผมคิดว่าในอนาคต พลังงานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดตอนนั้น ก็เป็นเรื่องจริง แต่เรื่องพลังงานนี้ เรายังทำได้ไม่เต็มที่ แต่ก็พยายามสนับสนุน ทำความร่วมมือกับให้มหาวิทยาลัยอื่นๆ
…ถัดไปก็คือเรื่องเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม “แม่ฟ้าหลวง” พยายามทำเป็นตัวอย่างให้เห็น สร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่วนเทคโนโลยีการขจัดสารเป็นพิษ หรือขยะต่างๆหรือรักษาสภาพแวดล้อมนั้น ก็ได้จัดตั้งสถาบันที่เรียกว่า “การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” ตอนหลังก็มาเปลี่ยนเป็นงานด้านการวิจัยอย่างเดียว โดยเน้นวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเช่นเดียวกัน
…และที่สำคัญ คือ เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือไอที สอดแทรกอยู่ทุกที่ ซึ่งเดิมนักศึกษาจะเรียนเพื่อเขียนโปรแกรม แต่วันนี้พัฒนาเป็นการนำโปรแกรมไปใช้ในการทำธุรกิจ ที่เราเรียกว่าธุรกิจออนไลน์ แต่ต่อไปก็จะเป็นปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอนาคตของโลกทั้งสิ้น”
อย่างที่บอกว่า “แม่ฟ้าหลวง” ก้าวนำอนาคต เห็นได้ชัดเจนจากการเปิดสาขาการท่องเที่ยว และสาขาการบริการ….ในปีที่เปิดสอนนั้นประเทศไทย ยังมีนักท่องเที่ยวประมาณ14ล้านคน แต่วันนี้การท่องเที่ยวไทย…โตวันโตคืนมีนักท่องโลกมาเยือนไทยแล้วกว่า 30ล้านคน สิ่งที่ประเทศไทยต้องการ คือคนที่จะบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นสาขาการท่องเที่ยวของ “แม่ฟ้าหลวง” จึงสอนคนให้รู้จักการบริหารจัดการ…มากกว่าแค่การบริการ และต่อเนื่องด้วยการดูแล ซึ่งเป็นการดูแลเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ทั้งทางด้านการโรงแรม อาหาร ซึ่งกลายเป็นกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่สุด อีกธุรกิจหนึ่งของประเทศ
“เราทำมาตั้งแต่ยังไม่มียุทธศาสตร์ 4.0 …เราเปิดสาขาการบริการด้านอุตสาหกรรมการบิน เปิดมา 12 ปีแล้ว เป็นเส้นทางที่เรามองเห็นอนาคตว่าธุรกิจการบินของประเทศจะก้าวไกล ซึ่งที่นี่ไม่ได้สอนให้เป็น “แอร์โฮสเตท” อย่างเดียว แต่เรียนทุกเรื่องในธุรกิจการบิน ซึ่งแตกแขนงไปอีกมาก เช่น โลจิสติกส์ทางการบิน เรียนรู้เรื่องธุรกิจการจัดการขนส่งทางอากาศ และต่อยอดด้วยสาขาการควบคุมการบิน ซึ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการมองอนาคต เพื่อรองรับการเติบโตของประเทศไทย และมีอีกหลากหลายสาขาที่ “แม่ฟ้าหลวง” สร้างขึ้นโดยเดินไปรออยู่ที่อนาคตแล้ว” อธิการบดี 4 สมัยกล่าวทิ้งท้าย
———————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ