วันที่ 5 ส.ค.65 จ.สระแก้ว นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. พร้อมด้วยนางเอื้อมพร สุเมธาวัฒนะ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา ลงพื้นที่เพื่อติดตามความคืบหน้าของประชาชน กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ สระแก้วโมเดล by กศน. เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาและอาชีพเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่จังหวัดสระแก้ว ตามแนวคิด “ตลาดนำการผลิต ” ด้านการปลูกสมุนไพรเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดตัวโครงการดังกล่าวอย่างเป็นทางการ ตลอดจนรับฟังข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องจากเกษตรกรโดยตรง โดยมีนายพิสิทธิ์ คุ้มสุวรรณ รองผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว อาจารย์กฤษณา โสภี ครูชำนาญการพิเศษ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ให้การต้อนรับและร่วมลงพื้นที่
นายคมกฤช จันทร์ขจร รองเลขาธิการ กศน. กล่าวว่า ” แนวคิดในการใช้การตลาดนำการผลิต ถือว่าเรามาถูกทาง โดยเฉพาะขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่มาจากความสภาพและต้องการของประชาชน ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง ดังนั้นการพัฒนาพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่เป็นที่ต้องการของตลาด ภายใต้ความต้องการของประชาชนที่สำนักงาน กศน.เป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการเครือข่ายที่เข้มแข็งทางการเกษตรให้ก้าวไปสู่มาตรฐานเกษตรปลอดภัย รวมทั้งการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม เพื่อให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีอยู่ตามวิถีชีวิตได้ตรงตามศักยภาพของตัวเขาเองและสอดคล้องกับความต้องการของตลาดมากที่สุด นับว่าเป็นการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมเพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นคงแก่เกษตรกรในพื้นที่ได้อย่างแท้จริง และมันจะเป็นภาพฉายสำคัญที่จะสะท้อนถึงความยั่งยืนได้ต่อไป ”
โดยในวันนี้ได้ลงพื้นที่และตรวจเยี่ยมแปลงปลูกสมุนไพร ของ นายรุ่งเพชร พิมอ่อน กำนันตำบลทัพพริก ประธานวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองหว้าใหม่ ซึ่งกำนันได้เปิดเผยว่า ” ก่อนหน้านั้นศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว ได้เข้ามาอบรม ส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร และการตรวจแปลงเกษตรอินทรีย์โดยการมีส่วนร่วมให้กับเกษตรกรในพื้นที่ตำบลทัพพริก อย่างเป็นระบบ ทำให้แปลงเกษตรของเราได้รับการรับรองเป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ทุกแปลง ซึ่งปัจจุบันได้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรบ้านคลองหว้าใหม่ ภายใต้การส่งเสริมและสนับสนุนจาก อ.กฤษณา โสภี ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพ ราษฎรไทยบริเวณชายแดนสระแก้ว (ศฝช.สระแก้ว) ที่อยู่ในสังกัดสำนักงาน กศน. และองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.สระแก้ว) ที่อบรม สนับสนุนองค์ความรู้และแนะนำตลาดรับซื้อผลผลิต รวมทั้งส่งเสริมให้พวกเรา จนรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน โดยมีสมาชิก จำนวน 48 คน ในการปลูกฟ้าทลายโจร จำนวน 45 ไร่ สามารถผลิตฟ้าทลายโจรแห้งส่งขายได้ถึงปีละ 20 ตัน และต่อมาปี 2564 ได้แนะนำบริษัทซึ่งมีความต้องการฟ้าทะลายโจรแห้งรวมจำนวนทั้งสิ้น 50 ตัน จึงทำให้เรามีความจำเป็นต้องขยายสมาชิกเพิ่มเพื่อให้ได้ผลผลิตตามความต้องการ โดยได้นำกลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปลูกฟ้าทะลายโจร เพิ่มขึ้นอีกจำนวน 30 คน รวมพื้นที่จำนวนกว่า 100 ไร่ ซึ่งในช่วงที่ฟ้าทะลายโจรเป็นที่ต้องการของตลาด เราสามารถส่งฟ้าทะลายโจรอบแห้งขายได้ในราคากิโลกรัมละ 800 บาท ซึ่งถือว่ามีราคาสูงที่สุด เท่าที่เคยมีมา และเมื่อทางผอ.เอื้อมพร และอ.กฤษณา จากสำนักงาน กศน. ได้ริเริ่มโครงการที่สามารถตอบโจทย์ด้านการตลาดที่นำไปสู่ความยั่งยืนสำหรับประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดีขึ้น โดยใช้ตลาดนำการผลิตเช่นนี้ ผมว่าตรงใจของประชาชนมาก ขอขอบคุณสำนักงาน กศน.และอบจ.สระแก้ว เป็นอย่างยิ่งที่ให้ความสำคัญและปูแนวทางอาชีพทางการเกษตร โดยเฉพาะสมุนไพรอินทรีย์และพืชสมุนไพรเศรษฐกิจที่มีอยู่ในพื้นที่ให้สามารถมีตลาดรองรับและมีการประกันราคาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอย่างพวกเรา
ต่อจากนั้นเดินทางไปยังอำเภอตาพระยา เพื่อติดตามการปลูกมะระขี้นก ของครอบครัวนายพิบูรณ์ คำพิบูลย์ หรือพี่ตา บ้านโคกกราด ตำบลทัพราช อำเภอตาพระยา ที่แบ่งพื้นที่จากการทำนาส่วนหนึ่ง จำนวน 100 ตารางวา ปลูกมะระขี้นก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมปลูกพืชสมุนไพรเศรษฐกิจในโครงการนี้ ตามที่สำนักงาน กศน.ได้จัดหาตลาดรองรับไว้แล้วเช่นกัน ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ของรองเลขาธิการ กศน.และคณะในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการติดตาม เตรียมความพร้อมเพื่อวางแผน กำหนดทิศทางและแนวทางการผลิตและการแปรรูปให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดในปัจจุบัน รวมทั้งแนวทางในการสนับสนุน ส่งเสริมเพื่อพัฒนาและยกระดับคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรตามกลไกของตลาดที่เป็นรูปธรรมต่อไป