“สวนสุนันทา”ปฏิวัติการเรียนการสอนทั้งระบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและสถานการณ์การแข่งขันด้านคุณภาพบัณฑิต สร้างระบบสวนสุนันทา 4.0 เพื่อยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลก ชู 3 เสาหลัก ความรู้-ทักษะ-บุคลิกภาพเป็นจุดเน้นในการพัฒนา
รศ.ดร.ฤๅเดช เกิดวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา (มร.สส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้เตรียมการในการปรับระบบการบริหารงานและการเรียนการสอนให้สอดรับไทยแลนด์ 4.0โดยตั้งคณะทำงานจัดทำแผนแม่บทสวนสุนันทา 4.0 ขึ้นมาคณะหนึ่ง มี รศ.ดร.ดำรงค์ วัฒนา และคณะจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นที่ปรึกษา โดยกำหนดระยะเวลาว่าแผนแม่บทที่จะเป็นกรอบในการทำงานของมหาวิทยาลัยในอนาคตจะต้องเสร็จสิ้นภายใน 3 เดือน และจะเริ่มต้นนำไปสู่ภาคปฏิบัติในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 นี้ เป็นต้นไป
อธิการบดี มร.สส. กล่าวต่อว่า ผลจากสวนสุนันทา 4.0 ที่จะมองเห็นเป็นรูปธรรมที่สุดจะเป็นเรื่องของการพัฒนาคุณภาพบัณฑิต ในเบื้องต้นมหาวิทยาลัยจะใช้ 3 เสาหลักในการพัฒนา ประกอบด้วยการพัฒนาระบบการเรียนการสอน(Academic Education) ระบบฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง(Internship) และการพัฒนาบุคลิกภาพ (Personal Development)
“สวนสุนันทาจะปฏิวัติรูปแบบการสร้างบัณฑิตของมหาวิทยาลัยทั้งระบบ เริ่มจากการเรียนการสอนที่จะลดระบบการบรรยายจากอาจารย์ เปลี่ยนมาเป็นการเรียนการสอนในรูปแบบ Active Learning ซึ่งหมายถึงกระบวนการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนได้ลงมือกระทำและได้ใช้กระบวนการคิดเกี่ยว กับสิ่งที่ได้กระทำลงไปทั้งหมด เสาหลักต่อมา คือระบบการฝึกปฏิบัติที่มหาวิทยาลัย จะใช้เครือข่ายที่มีกับหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ และเอกชนระดับแนวหน้า ในแต่ละศาสตร์สาขาให้เป็นสถานที่เรียนรู้ในสถานการณ์จริงของนักศึกษา ทั้งในมิติด้านความรู้ ทัศนคติและการเรียนรู้วัฒนธรรมการทำงานในวิชาชีพนับตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา โดยจะผลักดันให้นักศึกษาเข้าสู่ระบบการฝึกปฏิบัติเร็วขึ้น มากขึ้น และในบางสาขาวิชาที่มีข้อตกลงกับผู้ใช้บัณฑิตจะใช้ระบบการเรียนคู่ขนานไปกับการปฏิบัติในสถานการณ์จริง”รศ.ดร.ฤๅเดช กล่าว
สำหรับเสาหลักสุดท้ายที่เป็นจุดเน้น คือการพัฒนาบุคลิกภาพของนักศึกษาที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตนของนักศึกษาสวนสุนันทา
ในเสาหลักสุดท้ายนี้ รศ.ดร.ฤๅเดช กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สถาบันสร้างสรรค์และส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต (สสส.ร.) เป็นหน่วยงานหลักในการยกร่างหลักสูตร โดยมีทั้งหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น และหลักสูตรที่เป็นหมวดวิชาเลือกเสรี สามารถดำเนินการได้เลยโดยไม่ต้องเสียเวลาในการผ่านความเห็นชอบการแก้ไขหลักสูตรจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพราะเป็นหมวดวิชาเลือกเสรี ซึ่งสิ่งที่มหาวิทยาลัยเสริมด้านคุณภาพให้กับนักศึกษารายวิชาในกลุ่มนี้ จะประกอบด้วยวิชาภาษาอังกฤษเพื่ออาชีพในยุคโลกาภิวัตน์, รายวิชาเฉพาะด้านเพื่อสร้างความเป็นเลิศเฉพาะตน (Talent) รายวิชาการพัฒนาบุคลิกภาพส่วนตน อันได้แก่ การสร้างบุคลิกภาพที่โดดเด่นนับตั้งแต่เสื้อผ้าหน้าผม การเข้าสังคม การพูดในที่สาธารณะและสถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น
“รายวิชาสุดท้าย คือบทเรียนการทำงานจากประสบการณ์ชีวิตที่สำเร็จและล้มเหลว ซึ่งในวงการวิชาชีพเรียกกันว่าเป็นวิชาสุดท้ายที่มหาวิทยาลัยไม่เคยสอน แต่สวนสุนันทาจะทำให้บัณฑิตมีความพร้อมสรรพในเรื่องเหล่านี้”อธิการบดี กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ