“รอบรั้วการศึกษา”ฉบับนี้มีเรื่องราวต่างแดนจากนักศึกษาพยาบาล (ทวิภาษา) มหาวิทยาลัยรังสิต ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ประสบการณ์วิชาชีพพยาบาลนอกห้องเรียน ที่ Malardalen University ประเทศสวีเดน มาเผยแพร่เป็นข้อมูลให้น้องๆ ม.ปลาย ที่กำลังกรุยทางอนาคตสู่มหาวิทยาลัย
“ธนากร โชคพิพัฒน์พร” นักเรียนพยาบาลปี 4 พูดถึงโครงการแลกเปลี่ยนที่ Malardalen University ประเทศสวีเดน ว่าหลักสูตรนี้เมื่อเรียนชั้นปีที่ 4 เราจะได้ไปสวีเดน 1 ปี โดยรุ่นนี้มีนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการรวม 17 คน สำหรับการเรียนการสอนที่นั่นจะเน้นทางด้านการเรียนมากกว่าฝึกงาน ซึ่งการเรียนจะมีความแตกต่างจากบ้านเราคือ ที่สวีเดนจะเน้นการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องมีความรับผิดชอบ สิ่งสำคัญที่สุดที่ทุกคนได้คือความเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ทำให้เรารู้จักคิดวิเคราะห์และต้องมีระเบียบในการวางแผนชีวิตและการใช้ชีวิตประจำวัน
“ภายใน 1 สัปดาห์ พวกเราจะเรียนเลคเชอร์แค่ 2 ครั้ง และอาจารย์จะให้แอดไซเมนท์มา หลังจากนั้นจะเป็น Seminar ซึ่งทำให้เราได้ฝึกวิเคราะห์และเป็นคนมีเหตุมีผล โดยเราต้องหาความรู้จากห้องสมุดหรือแหล่งอ้างอิงต่างๆ แต่สิ่งสำคัญคือจะต้องพยายามค้นคว้า และเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ด้วยตัวเอง หลังจากที่เข้าร่วมโครงการฯ กลับมาแล้วคิดว่าจะนำสิ่งที่ได้มาปรับใช้ ในเรื่องของการฝึกพัฒนาทางด้านวินัยและความรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ประสบการณ์ความรู้ที่ได้นำมาใช้กับที่บ้านคือ เราต้องขวนขวายหาความรู้นอกจากอยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ระหว่างเรียนก็มีปรึกษาอาจารย์ที่คณะและอาจารย์ที่เรียนปริญญาเอกในสวีเดนบ้าง ซึ่งปัญหาที่เราเจอคือเรื่องภาษา ต่อให้เราทุกคนที่ผ่านการสอบโทเฟล ไอเอล แล้วแต่เมื่อไปใช้ชีวิตจริงนั้นยังไม่พอ ก็จะมีอาจารย์คอยช่วย ถ้าเราทำงานที่เรียนแล้วไม่สำเร็จอาจารย์ก็จะคอยให้คำแนะนำ ส่วนใหญ่ที่นั่นจะใช้ภาษาสวีดิช เราก็พยายามฝึกกับเขาด้วย”
ธนากร ทิ้งท้ายว่า อนาคตอยากศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เพราะเป็นด้านที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่น มีความหวังว่าอาจจะได้เรียนต่อต่างประเทศ หรือได้ทุนไปเรียนต่อได้รับความรู้มากขึ้น
ด้าน “ซูลาอณา ลาเต๊ะ” นักศึกษาพยาบาลปี 4 เลือกเรียนในหลักสูตรนี้เพราะมีโครงการแลกเปลี่ยนต่างประเทศ และระยะเวลาเรียน 4 ปี ได้ปริญญา 2 ใบ คิดว่าได้เปรียบกว่าที่อื่น เราได้อะไรกลับมามาก ไม่ใช่แค่ความรู้ แต่ได้ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไม่ใช่เพียงสวีเดนแต่หลากหลายประเทศ หลายเชื้อชาติ ซึ่งเราได้แลกเปลี่ยนทางด้านวัฒนธรรมด้วย
ซูลาอณา บอกอีกว่าเดิมทีนั้น ฝันของเธอไม่ใช่การเป็นพยาบาล แต่เมื่อได้มาเรียนแล้วซึมซับความเมตตา ความเอื้อเฟื้อต่อคนอื่นเข้าไปเอง ถ้าจบการศึกษาแล้วความฝันสูงสุดในอาชีพนี้ก็คือ การได้เป็น “ไฟล์ทเนิร์ส” ได้มีโอกาสดูแลผู้โดยสารที่ป่วย และเราสามารถบินต่างประเทศ เพื่อใช้ประสบการณ์ที่ได้เรียนมา ฝากถึงน้องๆ รุ่นต่อไปด้วยว่า อยากให้เปิดใจยอมรับการเรียนภาษา เพราะยุค AEC ถ้าเราอยากมีโอกาสที่ดี ภาษาคือจุดแข็งและได้เปรียบในตลาดวิชาชีพ ทั้งในและต่างประเทศ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ