ไทยแลนด์ 4.0 เป็นโจทย์ที่มหาวิทยาลัยไทย ต่างใช้เป็นนโยบายขับเคลื่อนพัฒนามหาวิทยาลัย หลักสูตร นิสิต นักศึกษา และงานวิจัย ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศไทย ดังเช่น “มหาวิทยาลัยพะเยา” (มพ.) หนึ่งในมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ภาคเหนือของไทย ได้สนับสนุนนโยบายรัฐบาล ตามโมเดลเศรษฐกิจประเทศไทย 4.0 ที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ ไปสู่ Value-Based Economyหรือเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม จะว่าแล้วปณิธานของ มพ.นั้นมุ่งใช้ “ปัญญาเพื่อความเข้มแข็งของชุมชน” และชัดเจนมากที่จะเป็น “มหาวิทยาลัย 4.0” ขับเคลื่อนสู่ “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ทำงานเชื่อมโยงชุมชน และภาคอุตสาหกรรม ต่อยอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมเชิงพาณิชย์
“ศ.(พิเศษ)ดร.มณฑล สงวนเสริมศรี” อธิการบดีมือเก๋า บอกเล่าถึงการนำพา ม.พะเยา ไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ
“มหาวิทยาลัย จะทำงานเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม และชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ และใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นตัวขับเคลื่อนผ่าน โครงการต่างๆ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ มพ. หรือ UPSP (University of Phayao Science Park) และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ หรือ UPBI (University of Phayao Business Incubator) ซึ่งตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานเทียบเท่าระดับกอง และการขับเคลื่อนโครงการ 1 คณะ 1 โมเดล ซึ่งทำต่อเนื่องมาตลอด 6 ปี มีบทบาทช่วยเพิ่มมูลค่า และคุณค่าของต้นทุนทรัพยากรที่หลากหลายทางชีวภาพ ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมของชุมชน ยกระดับเป็นนวัตกรรมเป็นทรัพย์สินทางปัญญาของชุมชน
…ตลอดจนนำผลงานวิจัยจากคณาจารย์ ไปสู่เชิงพาณิชย์ หรือใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการในภาคเหนือใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเพื่อยกระดับเศรษฐกิจของภาคเหนือ”
อธิการบดี มพ. ระบุถึงเป้าหมายในปี 2560 นี้ มพ.จะมีกิจกรรมขับเคลื่อน “มหาวิทยาลัยแห่งการประกอบการ” ภายใต้โครงการพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมเกิดใหม่ที่มีการเติบโตสูง (Innovative Startup) อาทิ การจัดการเรียนการสอน ด้านความเป็นผู้ประกอบการแก่นิสิต มพ. มีการปรับปรุงและเตรียมพร้อมพื้นที่พัฒนานวัตกรรมร่วมกัน (Co-innovating space) โดยใช้พื้นที่ขนาด 1,000 ตารางเมตร ในอาคาร 99 ปี พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (ปวง ธมฺมปญฺโญ) กิจกรรมสร้างแรงบันดาลใจ (UP Startup Inspiration Talk) ด้านความเป็นผู้ประกอบการ และโครงการ Research Commercialization for Startup (RC4S) ถ่ายทอดเทคโนโลยี ของ มพ. และพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมใหม่ให้กับผู้ประกอบการ และสนับสนุนงบประมาณดำเนินการแก่ผู้ประกอบการ ตามเงื่อนไขโครงการเพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์
อธิการบดี มพ. ยังกล่าวถึงการทำงานแบบบูรณาการ ระหว่าง มพ. กับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทำให้ก้าวไปสู่เป้าหมายได้เร็วขึ้น อย่างเช่นขณะนี้ มพ.ได้ร่วมศูนย์ประสานงานโครงการ Talent Mobility (นโยบายหนึ่งของรัฐบาล) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยมหาวิทยาลัย จะช่วยอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการและนักวิจัย ทำหน้าที่เชื่อมโยงและประสานข้อมูลที่ต้องการ ระหว่างสถานประกอบการ กับบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) จนนำไปสู่การทำข้อตกลงความร่วมมือของทั้ง 2 ฝ่าย ตลอดจนติดตามและประเมินผลโครงการ ในระยะ Pre-Talent Mobilityกลไกเตรียมความพร้อมในการส่งบุคลากร วทน. จากมหาวิทยาลัยไปปฏิบัติงาน และระยะ TM-Trainingจัดฝึกอบรมหลักสูตรการเตรียมความพร้อม และการพัฒนาบุคลากรรองรับโครงการดังกล่าว ซึ่งจัดฝึกอบรมเป็นเวลา 5 วัน เป็นต้น
สำหรับโครงการ Talent Mobility ปี 2560 นี้มีนักวิจัย ที่ได้รับทุนสนับสนุน อย่าง ผศ.ดร.อัจฉราภรณ์ ดวงใจ นักวิจัย เผยถึงจุดเริ่มต้นการวิจัยร่วมกับผู้ประกอบการ ว่า เธอรู้จักอุทยานวิยาศาสตร์ มพ.จาก ศ.เกียรติคุณ ดร.ไมตรี สุทธจิตต์ ซึ่งอุทยานวิทยาศาสตร์ มีส่วนสนับสนุนด้านข่าวสารแหล่งทุนวิจัยการสนับสนุนทุนวิจัย และเป็นสื่อกลางในการติดต่อกับผู้ประกอบการ ที่ผ่านมามีโอกาสได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยถึง 2โครงการ ในปี 2557 และปี 2559 และปี 2560ได้รับทุนสนับสนุนจาก Talent Mobilityโดยทำวิจัยร่วมกับคุณนฤมล ทักษอุดม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮิลล์คอฟฟ์ จำกัด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมกาแฟ โดยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเพิ่มมูลค่าของเนื้อผลกาแฟ ที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตกาแฟให้อยู่ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ
“ควรมีการส่งเสริมโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง เพราะทุกคนที่เข้าร่วมต่างได้รับประโยชน์ร่วมกัน ตัวอาจารย์รู้สึกมีความภูมิใจ ที่สามารถนำความรู้ที่ได้จากงานวิจัย และเทคโนโลยี ช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการทำให้งานวิจัยสู่ห้างอย่างแท้จริง อีกทั้งการทำงานร่วมกับสถานประกอบการ มีประโยชน์ต่อการเรียนการสอนให้กับนิสิต ส่วนนิสิตเองได้ประสบการณ์การทำวิจัย มองเห็นความรู้ที่เรียนมาประยุกต์ใช้จริง ดังนั้น อยากเชิญชวนนักวิจัยลงไปมีส่วนร่วมกับภาคเอกชน จะทำให้ได้ประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่าง”ผศ.ดร.อัจฉราภรณ์ กล่าว
ด้าน คุณนฤมล ทักษอุดม ตัวแทนผู้ประกอบการ เธอบอกว่า ก่อนหน้านี้ผลิตภัณฑ์ยังไม่สามารถนำเสนอจุดขายได้ดีพอ แต่เมื่อได้ร่วมกับ ผศ.ดร.อัจฉราภรณ์ วิจัย Antioxidant ในชาเชอร์รี่กาแฟ โดยมีทุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ สนับสนุน และต่อยอดงานวิจัยด้วยโครงการ Talent Mobility ทำให้ขณะนี้ ได้รับการจัดนวัตกรรมทั้งด้านธุรกิจ …มีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ จากของเหลือทิ้งในโรงงานแปรรูปกาแฟ ทำให้ต้นทุนต่ำลง รายได้จากสินค้าใหม่เข้ามา ด้านภาพลักษณ์สินค้าได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งความสำเร็จนี้ยังส่งผลต่ออุตสาหกรรมกาแฟ ต่อไปจะไม่เป็นเพียงประเทศผู้ผลิตและผู้บริโภคตามเทรนด์ แต่เราจะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางกาแฟของอาเซียน
อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ประกอบการ SMEsและวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับทุนสนับสนุนจากอุทยานวิทยาศาสตร์ มพ. ตั้งแต่ปี 2556-2560 มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ …จาก 40 แห่งใน 2556 ขยายเพิ่มมากขึ้น เป็น135 แห่ง ในปี 2560 หากผู้ประกอบการสนใจเข้าร่วมโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาควิชาการ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จากหิ้งสู่ห้าง จากมหาวิทยาลัยสู่สังคม สามารถติดตามรายละเอียดทาง www.upsp.up.ac.th และศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ www.upbi.up.ac.th
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ