เมื่อเร็วๆ นี้ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) จัดโครงการหนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : โครงการเผยแพร่เพื่ออนุรักษ์องค์ความรู้รำโทนกันทรวิชัย ณ วัดเจริญผล ต.ท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม โดยมีชาวชุมชนท่าขอนยางเข้าร่วมกว่า 50 คน เพื่อต่อยอดผลงานวิจัย “รำโทนกันทรวิชัย” ให้กับชุมชนผู้สูงอายุวัดเจริญผล ต.ท่าขอนยาง และเพื่อสร้างความร่วมมือทางวิชาการ วัฒนธรรมดนตรีกับชุมชน
อาจารย์ยศพรรณ พันธะศรี สาขาดุริยางคศิลป์ไทย ผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่ารำโทนเป็นการแสดงพื้นบ้าน ที่พัฒนามาจากรำวงกลางบ้าน แรกเริ่มเป็นการละเล่นทางวัฒนธรรมของคนภาคกลาง มีการแต่งเพลง รำโทนขึ้นตามท้องถิ่นต่างๆ เนื้อเพลงบรรยายความรักถิ่นฐาน สอดแทรกวัฒนธรรมประเพณี เข้าไว้อย่างลึกซึ้ง ประชาชนนำเนื้อร้องมาใส่ท่ารำ เน้นความสนุกสนาน และการแสดงออกที่เป็นธรรมชาติของสังคมเป็นหลัก เพลงรำโทนเป็นเพลงพื้นบ้านที่ใหม่ที่สุด การรำ การเล่น สนุกสนานเป็นต้นแบบแห่งการรำวงมาตรฐานของกรมศิลปากร
“สำหรับโครงการเผยแพร่เพื่ออนุรักษ์องค์ความรู้รำโทนกันทรวิชัย นี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการอนุรักษ์รำโทนกันทรวิชัย ซึ่งเป็นงานวิจัยของ ผศ.ดร.คมกริช การินทร์ เริ่มต้นโดยกลุ่มชาวบ้านโคกพระ หมู่ที่ 3 ต.โคกพระ อ.กันทรวิชัย ชาวบ้านยังคงอนุรักษ์รำโทนไว้เป็นอย่างดี โดยมีการละเล่นทุกปีในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ โดยชาวบ้านที่รำโทนโดยส่วนมากจะเป็นผู้สูงอายุ มีเพลงประจำอาทิ เพลงไหว้ครู เพลงหลวงพ่อพระพุทธมิ่งเมือง เพลงเมืองคันธา เพลงกันทรวิชัย เพลงบ้านเรา เพลงยามเย็น เพลงรูปหล่อ เพลงแสงจันทร์ และเพลงลา การรำโทนเป็นการรำคู่ เกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายและหญิง เป็นการรำที่ใช้กระบวนการใช้ร่างกายในการรำที่สมบูรณ์ มีการใช้ทุกอวัยวะทุกส่วนของร่างกายในการรำอย่างครบถ้วน”
อาจารย์ยศพรรณ บอกด้วยว่า นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ยังมีเรื่องของคุณค่าความเป็นไทย เพราะเพลงที่ใช้ในการรำโทนเป็นเพลงที่มีเนื้อร้องภาษาไทย ฟังแล้วติดหู และจำง่าย และก่อนจะรำนักแสดงก็ต้องทำความเคารพกันโดยการไหว้ซึ่งกันและกัน เพื่อแสดงออกถึงเอกลักษณ์ของความเป็นไทย ท่ารำเป็นแบบพื้นฐานไม่ยาก จนเกินไป เพลงก็มีความสนุกสนานจำง่าย และเมื่อรำเสร็จก็ต้องทำความเคารพคู่รำของตัวเอง ก่อนจะออกจากรำวง โดยการไหว้ เป็นการสอนวัฒนธรรมไทยให้ได้รับรู้ไปในตัว ส่วนอีกด้านหนึ่ง รำโทนมีคุณค่าความบันเทิงแบบไทยรำวง เป็นการรำแบบคู่ชายและหญิง เดินคู่กันเป็นรำวงขนาดใหญ่-เล็ก แล้วแต่จำนวนผู้รำ และสถานที่
ด้าน “เอี่ยมจิตร พาเทพ” ชาวชุมชนท่าขอนยางที่มาร่วมฝึกรำโทน บอกว่า ชุมชนของเราไม่มีเอกลักษณ์รำโทน เคยได้ยินแต่ชื่อ ไม่เคยมีใครนำมาใช้แสดงละเล่น โครงการที่อาจารย์นำมาให้ชุมชนเราฝึกรำ ถือเป็นสิ่งที่ดีทำให้ชุมชนเราได้เรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมของการรำโทน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทางภาคกลาง เนื่องจากชุมชนท่าขอนยางของเรา ปัจจุบันมีผู้คนอพยพมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก รวมถึงเป็นการได้พบปะกับกลุ่มเพื่อนๆ ผู้สูงวัยด้วยกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสนุกสนานแบ่งปันรอยยิ้มซึ่งกันและกัน คงเป็นกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ร่วมกันของคนแก่ๆ อย่างเรา
—————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ