วชช.สระแก้ว ปั้นมัคคุเทศก์น้อย พัฒนาคนพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน
ตามที่ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นแก่ชาวจังหวัดสระแก้ว ทรงมีพระราชดำริให้จัดทำโครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขาจังหวัดสระแก้ว-ปราจีนบุรี นับแต่ปี 2521 โดยทรงพระราชทานแนวทางการพัฒนาไว้ 3 ด้าน ได้แก่ 1.จิตใจ 2.ความรู้การประกอบอาชีพ และ 3.การจัดสรรที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ให้กับทางราษฎรในโครงการฯ จนก่อให้เกิดโครงการต่างๆ ตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างอ่างเก็บน้ำ การพัฒนาอาชีพเกษตรกรรม การจัดตั้งสถานีทดสอบพันธุ์สัตว์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืด เป็นต้น
…เป็นระยะเวลากว่า 40 ปี ที่โครงการดังกล่าวได้ขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลให้ชาวสระแก้ว มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น หลายสถานที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของสระแก้ว แต่ทว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ของโครงการฯ กลับไม่มีองค์ความรู้เพียงพอ ที่จะนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้น แก่นักท่องเที่ยวที่มาแวะเวียนเยี่ยมชม
วิทยาลัยชุมชน (วชช.) สระแก้ว สถาบันการศึกษาในพื้นที่ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาผู้คนในพื้นที่ ภายใต้โครงการฝึกอบรมหลักสูตรมัคคุเทศก์ พื้นที่ราบเชิงเขาสระแก้ว
ผอ.ศิระพจต์ จริยาวุฒิกุล ผู้บริหาร วชช.สระแก้ว กล่าวถึงโครงการฝึกอบรมมัคคุเทศก์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2552 ซึ่งในแต่ละปีก็จะมีหัวข้อที่แตกต่างกันไป อาทิ มัคคุเทศก์ท้องถิ่น 9 อำเภอ, มัคคุเทศก์รุ่นใหม่หัวใจสีเขียว, มัคคุเทศก์ท้องถิ่นสู่อาเซียน เป็นต้น แต่ครั้งนี้แตกต่างไปจากทุกปี เพราะ วชช.สระแก้ว ได้จัดทำหลักสูตรมัคคุเทศก์น้อยพื้นที่ราบเชิงเขาสระแก้ว โดยนำเยาวชน 109 คน จาก 10โรงเรียนในพื้นที่ ได้แก่ รร.ร่มเกล้าวัฒนานคร รัชมังคลาภิเษก รร.บ้านคลองทราย รร.บ้านท่ากะบาก รร.บ้านคลองหมากนัด รร.บ้านเขาพรมสุวรรณ รร.บ้านท่าช้าง รร.บ้านภักดีแผ่นดิน รร.บ้านหนองตะเคียนบอน รร.บ้านคลองผักขม และรร.บ้านหนองเตียน มาร่วมทำกิจกรรมเป็นระยะเวลา 2 วัน 1 คืน
..กิจกรรมวันแรกของการอบรมมัคคุเทศก์น้อย เน้นฟังบรรยายในหัวข้อต่างๆ จากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ รู้จักอาชีพมัคคุเทศก์ อาชีพแห่งอนาคต มัคคุเทศก์ที่ดีเป็นได้ไม่ยาก และต้องรู้จักแหล่งท่องเที่ยวของสระแก้ว ก่อนจะปิดท้ายวันแรกในหัวข้อ ผ้ามัดย้อมพร้อมสร้างอาชีพ พร้อมกับการสาธิตการทำผ้ามัดย้อม ซึ่งเด็กๆทุกคนดูจะสนุกสนานเป็นพิเศษ เพราะได้ลงมือมัดเสื้อ-ย้อมเสื้อด้วยตัวเอง
วันที่สอง คือการลงพื้นที่จริง เริ่มด้วยการแวะสักการะศาลหลักเมืองสระแก้ว ทำกิจกรรมสบตาผีเสื้อ-เดินป่าสำรวจธรรมชาติที่อุทยานแห่งชาติปางสีดา แล้วไปต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าช่องกล่ำบน และปิดท้ายที่ปราสาทสด๊กก๊อกธม โดยมี “ลุงเปี๊ยก” มัคคุเทศก์ท้องถิ่น ซึ่งเป็นอดีตผู้เข้าฝึกอบรมมัคคุเทศก์ท้องถิ่นรุ่นที่ 1คอยอธิบายถึงที่มาและความสำคัญของปราสาท เพื่อให้บรรดามัคคุเทศก์น้อยได้ส่งต่อข้อมูลเหล่านี้กับผู้อื่นต่อไป
ตัวแทนจากโรงเรียนที่ร่วมโครงการนี้ ครูกิติศักดิ์ เดชประไพ จาก รร.บ้านท่าช้าง มั่นใจว่าโครงการมัคคุเทศก์น้อย จะช่วยให้เด็กๆ มีความรู้เกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวของสระแก้วมากขึ้น เพราะได้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์และลงไปสัมผัสพื้นที่จริง ทำให้สามารถแนะนำนักท่องเที่ยว และพัฒนาเป็นอาชีพในอนาคตได้ด้วย ถือว่าเป็นโครงการที่ดีและควรต่อยอดสร้างมัคคุเทศก์น้อยในรุ่นต่อไป
ส่วนมัคคุเทศก์น้อย ด.ญ.สุภัสสรา ทองชิต บอกว่ารู้สึกสนุกและอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก เพราะได้เรียนรู้อาชีพมัคคุเทศก์ ได้เที่ยวสถานที่ต่างๆไปพร้อมกับการได้รับความรู้ ไม่ว่าจะเป็นปราสาทสด๊กก๊อกธม อุทยานแห่งชาติปางสีดา แถมยังได้ทำผ้ามัดย้อมด้วยตัวเองอีกด้วย
เช่นเดียวกับ ด.ญ.เพชรา ถาวรยิ่ง ที่หลังจากอบรมผ่านโครงการนี้แล้วจะกลับไปเล่าให้เพื่อนๆ น้องๆ ที่โรงเรียนฟัง และรู้สึกดีใจที่ได้ร่วมอบรม ทำให้โตขึ้นแล้วรู้สึกอยากเป็นมัคคุเทศก์ เพราะอาชีพนี้ได้เที่ยวและได้ความรู้
นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาบุคลากร และสถานที่ท่องเที่ยวของสระแก้ว โดยสถาบันการศึกษาเพื่อคนในชุมชน
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ