คอลัมน์ “ด้วยสมองและสองมือ”
อีกผลงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ที่ไม่เพียงคว้ารางวัลดีเด่น จากเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ แต่ยังช่วยแก้ปัญหาใหญ่ของชุมชนได้อย่างดี
ดร.กันตภณ มะหาหมัด อาจารย์สาขาวิชาเทคโหนดเอ็มซียูโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา เปิดเผยว่า ตนและทีมวิจัยซึ่งประกอบด้วย ดร.สลักจิตร นิลบวร สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม และ ดร.วนิดา เพ็ชร์ลมุล อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา ร่วมกันจัดทำงานวิจัยเรื่อง ระบบตรวจวัดปริมาณก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์แบบไร้สายโดยใช้โหนดเอ็มซียู และได้ส่งผลงานเข้าร่วมในเวทีประชุมวิชาการระดับชาติ จัดโดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เมื่อวันที่ 19-21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมLoft mania Boutique Hotelจ.ชุมพร
ผลปรากฏว่า ได้รับรางวัลบทความวิจัยดีเด่น ซึ่งระบบตรวจวัดปริมาณก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์แบบไร้สายฯ ที่จัดทำขึ้นนี้ ช่วยให้คนในชุมชนตลาดนัดเกาะหมี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ได้ใช้เครื่องมือวัดก๊าซชีวภาพที่มีราคาต้นทุนเพียง 4,500 บาท ซึ่งถูกกว่าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศถึง 10 เท่าตัว ทั้งยังสามารถหาซื้อวัสดุสำหรับการผลิตได้ทั่วไปในร้านค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อเครื่องมือจากต่างประเทศได้อย่างมาก
ดร.กันตภณ กล่าวว่า ขยะนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต สุขภาวะอนามัยของมนุษย์ แนวทางที่สำคัญแนวทางหนึ่งที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางคือการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะ ซึ่งนอกจากได้ประโยชน์โดยตรงจากการทำให้ขยะลดลงแล้ว ยังทำให้ได้พลังงานสะอาดที่นำมาใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้อีกด้วย ซึ่งชุมชนตลาดนัดเกาะหมี เป็นชุมชนหนึ่งที่ประสบปัญหาขยะ เนื่องจากการเติบโตของชุมชนเมืองและพื้นที่ตลาดนัดมีการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีพ่อค้า แม่ค้ากว่า 500 ราย
จากข้อมูลการจัดเก็บขยะของตลาดนัดพบว่า แต่ละวันมีปริมาณขยะราว 3,000 กิโลกรัม โดยแยกเป็นขยะอินทรีย์ ร้อยละ 60 ขยะแห้งร้อยละ 38.33 และขยะอันตรายร้อยละ 1.67 ดังนั้น คณะกรรมการบริหารตลาดนัดจึงมีแนวคิดในการจัดการขยะ โดยการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ เป็นทางเลือกหนึ่งในการใช้ประโยชน์จากขยะ
อย่างไรก็ตาม จากการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ยังพบปัญหาในด้านการผลิตก๊าซชีวภาพ ได้แก่ ผู้ดูแลระบบ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของตลาดยังขาดความรู้ในการดูแลระบบผลิตก๊าซชีวภาพ และยังทำงานหลายหน้าที่ในตลาดนัด ทำให้ไม่สามารถติดตามการผลิตได้อย่างต่อเนื่อง และไม่มีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์ผลเมื่อเกิดความผิดปกติกับระบบผลิตก๊าซชีวภาพอีกด้วย
ดังนั้น วิธีแก้ปัญหาคือ การออกแบบเครื่องมือที่จะช่วยติดตามผลการผลิตก๊าซชีวภาพที่สะดวกรวดเร็ว และง่ายต่อการใช้งานสอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบันคือ การใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต โดยพัฒนาระบบตรวจวัดค่าพารามิเตอร์และผลการผลิตก๊าซชีวภาพที่ผลิตได้ให้สามารถแสดงผลไปยังผู้ใช้งานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย อันจะทำให้ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบผลผ่านสมาร์ทโฟนหรือเครื่องคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
“คณะผู้วิจัยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาระบบติดตามผล เพื่อช่วยในการผลิตก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์ของตลาดนัดเกาะหมีที่มีประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาระบบตรวจวัดปริมาณก๊าซชีวภาพจากขยะอินทรีย์แบบไร้สาย ที่จะช่วยตรวจวัดพารามิเตอร์ต่างๆ ในการผลิตก๊าซชีวภาพ และเป็นต้นแบบเครื่องมือวัดก๊าซชีวภาพที่มีประสิทธิภาพในราคาต่ำให้กับชุมชน” อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรมมรภ.สงขลา กล่าวทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ