ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี ประกาศเลื่อนวันเปิดเทอมจาก ส.ค.เป็น มิ.ย.60 ช่วยแบ่งเบาภาระผู้ปกครองที่ทำสวนยางพารา เนื่องจากการเปิดเทอมแบบเก่านักศึกษาต้องมาเรียนในเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นเดือนที่ยางพาราไม่ให้ผลผลิต ด้านผู้ปกครองขอบคุณที่เข้าใจ
รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ประกาศเลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จากเดิมที่มีกำหนดเปิดต้นเดือน ส.ค.2560 มาเป็นวันที่ 26 มิ.ย.2560 แทน โดยมีเหตุผล 2 ประการที่ทำให้มหาวิทยาลัยตัดสินใจเลื่อนวันเปิดเทอม คือ หนึ่ง เพื่อไม่ให้นักเรียนที่จบ ม.ปลาย ทิ้งช่วงการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนานเกินไป ซึ่งการเปิดเทอมแบบเก่านักเรียนจะต้องทิ้งช่วงการเรียนนาน 4-5 เดือนซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานเกินไป
และสอง-เพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่ทำสวนยางพารา เนื่องจากสวนยางจะไม่ให้ผลผลิตในเดือน เม.ย. แต่การเปิดเทอมแบบเดิมนั้นนักศึกษายังต้องมาเรียนในเดือนเมษายนอยู่ ส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองโดยตรง
รศ.ดร.ชูศักดิ์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การเปิดเทอมแบบเดิมนั้นเปิดคร่อมเดือน เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ร้อนและแล้ง ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้ ในขณะที่นักศึกษาต้องมีค่าใช้จ่ายระหว่างเล่าเรียนทุกวัน หากมหาวิทยาลัยเลื่อนการเปิดเทอมให้เดือน เม.ย.ตรงกับการปิดภาคเรียนเสีย ก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มาก ส่วนนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบจากการเลื่อนวันเปิดเทอมให้เร็วขึ้นในปีนี้ สามารถทำบันทึกถึงมหาวิทยาลัยเพื่อขอผ่อนผันการชำระค่าเทอมได้
“เราเป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เรามีพันธกิจหลักในการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นวิธีคิดหลาย ๆ อย่างของเรา จึงต้องอ้างอิงสภาพจริงและร้อนหนาวของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันนักศึกษากว่าร้อยละ 80 ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ราคายางจะขึ้น หรือลง หรือหยุดชะงัก ล้วนส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อครอบครัวของนักศึกษา และมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ที่จะต้องประคับประคอง แบ่งเบาภาระ หรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะสามารถทำได้” รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าว
นายจำลอง โฮฮิน ผู้ปกครองของ น.ส.พิมพาวรรณ โฮฮิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครุศาสตร์ มรส. ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลื่อนวันเปิดเทอมว่า ช่วงปลายเดือน มี.ค.-พ.ค. ของแต่ละปีเป็นช่วงปิดหน้ายางพารา เนื่องจากต้นยางเริ่มผลัดใบและแตกใบอ่อน ใบยางจะร่วงหล่นทำให้ไม่มีใบสังเคราะห์แสง น้ำยางจะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง หากยังฝืนกรีดยาง ยางจะตายได้ การที่มหาวิทยาลัยเลื่อนวันเปิดเทอมเพื่อทำให้ช่วงปิดหน้ายางตรงกับวันปิดเทอมนั้นถือเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองทางหนึ่ง ขอบคุณมหาวิทยาลัยที่เข้าใจผู้ปกครองชาวสวนยาง
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ