ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิกานต์ สุวรรณประทีป ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (มทร.สุวรรณภูมิ) เปิดเผยว่า U-Multirank เป็นสถาบันการจัดอันดับสถาบันอุดมศึกษาโดยได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป และดำเนินการโดยนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ในทวีปยุโรป มีการจัดอันดับทั้งในระดับสถาบันและระดับสาขาวิชา ใช้ตัวชี้วัดเพื่อประเมินมหาวิทยาลัยต่าง ๆ จากผลงานใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการเรียนการสอน (Teaching & Learning) ด้านการวิจัย (Research) ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge Transfer) ด้านการต่างประเทศ (International Orientation) และด้านการมีส่วนร่วมในระดับภูมิภาค (Regional Engagement)
โดย มทร.สุวรรณภูมิ ได้เข้ารับการประเมินทั้งในระดับสถาบันและระดับสาขาวิชา ได้รับผลการประเมินว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเข้มแข็งมากที่สุดในด้าน Teaching & Learning มีผลการประเมินระดับดี (B) ในตัวชี้วัด Bachelor graduation rate, Masters graduation rate และ Graduating on time (bachelors) และ ด้าน Regional Engagement ได้รับการประเมินในระดับดี (B) ในตัวชี้วัด Bachelor graduates working in the region และ Student internships in the region สำหรับการประเมินในระดับสาขา ซึ่งมหาวิทยาลัยส่งเข้ารับการจัดอันดับจำนวน 1 สาขาวิชา คือ สาขาเทคโนโลยีการผลิตพืช คณะเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร และได้รับผลการประเมินด้าน Teaching & Learning ในระดับดีมาก (A) ในตัวชี้วัด Graduation on time (bachelors) และผลการประเมินด้าน Regional Engagement ในระดับดีมาก (A) ในตัวชี้วัด Student internships in the region โดยมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่เข้าร่วมการจัดอันดับจำนวนกว่า 1,900 แห่ง จาก 97 ประเทศทั่วโลก
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศศิกานต์กล่าวต่อว่า ผลการเข้ารับการประเมิน U-Multirank เพื่อให้เป็นข้อมูลที่สำคัญและหลากหลายมิติให้แก่นักศึกษาและผู้ปกครองใช้สำหรับประกอบการตัดสินใจเลือกสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเข้าศึกษาต่ออย่างไรก็ดีผลลัพธ์ทางอ้อมที่เกิดขึ้นก็คือสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ที่เข้าร่วมการจัดอันดับได้พัฒนาประเด็นและมิติด้านต่าง ๆ ของสถาบันเพื่อตอบโจทย์หรือความต้องการของนักศึกษาและผู้ปกครองได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งในปี 2022 มหาวิทยาลัยกำลังดำเนินการสมัครเข้ารับการประเมิน U-Multirank 2022 ทั้งในระดับสถาบันและระดับสาขาวิชา จำนวน 8 สาขาวิชา จากคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จำนวน 6 สาขาวิชา และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จำนวน 2 สาขาวิชา ทั้งนี้เพื่อให้มหาวิทยาลัยเกิดการพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องและผลักดันให้มหาวิทยาลัยเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติต่อไป