วารินทร์ พรหมคุณ
โครงการหลวงนำเกษตรกรรมยั่งยืน
กศน.กาญจนบุรี ขยายผล 4 จังหวัด
“โครงการหลวงตั้งขึ้นเพื่อลดปัญหาการปลูกฝิ่น ซึ่งแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะให้ชาวบ้านลดการปลูกฝิ่น ก็จะมีกลยุทธ์ คือ การปลูกไม้ผลเมืองหนาว ทั้งผัก ผลไม้ โดยเฉพาะผักซึ่งใช้เวลาปลูกค่อนข้างสั้นก็สามารถเก็บผลผลิตได้แล้ว ทำให้มีรายได้ค่อนข้างเร็ว ซึ่งพื้นที่ที่มีปัญหาส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สูง เพราะมีการบุกรุกทำลายป่า การใช้สารเคมี ทางโครงการหลวงก็พยายามนำองค์ความรู้ที่สะสมมา 30-40 ปี มาขยายผล จากแรกเริ่มที่ดำเนินการในพื้นที่สูงกว่าระดับน้ำทะเล 500 เมตรขึ้นไปพอทำไปแล้วได้ผลดี เกษตรกรที่อยู่ในพื้นที่ราบ หรือที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลไม่ถึง 500 เมตร ก็อยากได้องค์ความรู้เหล่านี้ด้วย ทั้งเทคนิค เทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่ จึงเป็นที่มาของ กศน.กาญจนบุรี โดย ผอ.สมยศ เพิ่มพงศาเจริญ ผอ.สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) จังหวัดกาญจนบุรี รักษาการ ผอ.ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี “สามสงฆ์ทรงพระคุณ ”
นี่คือคำบอกเล่าของ ครูอดิเรก อินต๊ะฟองคำ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเกษตรและพัฒนาพื้นที่สูง(องค์การมหาชน) โครงการหลวง และยังเล่าต่อว่า เมื่อ กศน.กาญจนบุรี ทำโครงการนี้ผู้ใหญ่ของสถาบันวิจัย ได้มอบหมายให้ตนมาวิเคราะห์พื้นที่ว่า จะสามารถประยุกต์องค์ความรู้อะไรมาใช้กับพื้นที่บริเวณชายแดนที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ฝึกวิชาชีพฯ “สามสงฆ์ทรงพระคุณ” ซึ่งเป็นที่ราบ มีปริมาณน้ำฝนมากพอสมควร แต่ดินเป็นดินทรายไม่อุ้มน้ำ
“ผมได้นำเทคโนโลยีการปลูกผักในโรงเรือนมาสอน โดยเป็นผักที่ปลูกกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่นำเทคโนโลยีการใช้น้ำน้อย อย่างระบบน้ำหยด เพื่อให้การใช้น้ำเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น การปรับปรุงดินให้สามารถซับน้ำได้มากขึ้น และไม่ใช้สารเคมีป้องกันแมลง ซึ่งเรื่องการวิเคราะห์พื้นที่มีความสำคัญมาก เพราะถ้าวิเคราะห์ผิดโอกาสที่จะประสบความสำเร็จก็ลำบาก แต่เชื่อว่าเมื่อนำเทคโนโลยีของโครงการหลวงมาใช้แล้วชาวบ้านน่าจะทำเกษตรจนประสบความสำเร็จ”ครูอดิเรก กล่าว
สำหรับ กศน.กาญจนบุรี ถือเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่จัดการศึกษาและให้ความรู้แก่ประชาชน โดยฐานรากของชุมชนสิ่งหนึ่งที่เราหนีไม่ได้ คือเรื่องอาชีพ และจากลักษณะของพื้นที่บริเวณชายแดนแห่งนี้ ส่วนใหญ่ประชาชนมีอาชีพด้านการเกษตรซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม ดังนั้น กศน.จะต้องเข้าไปให้ความรู้เรื่องการทำเกษตรให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาสภาวะฝนแล้ง สภาวะโรคและแมลงที่ระบาดหนัก
“แนวทางหนึ่งที่จะสามารถแก้ปัญหาได้ คือ การปลูกผักกางมุ้ง ซึ่งเป็นการทำเกษตรที่สามารถแก้ปัญหาในเรื่องนี้ได้ เพราะเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย และป้องกันแมลงโดยไม่ต้องยาปราบศัตรูพืช”
ผอ.สมยศ เพิ่มพงศาเจริญ กศน.กาญจนบุรี กล่าวและว่า หน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ คือ โครงการหลวง เพราะได้ทำการศึกษาทดลองมาเป็นระยะเวลายาวนาน กศน.กาญจนบุรี จึงได้จัดทำโครงการขยายผลโครงการหลวง แก่กลุ่มเป้าหมายประชาชนที่อยู่ตามแนวชายแดน ซึ่งวิธีการจัดการอบรมมีทั้งการไปศึกษาดูงานแล้วกลับมาทดลองปฏิบัติ โดยให้ประชาชนสังเกตจดบันทึกในลักษณะการทำวิจัยแบบง่าย ๆ ควบคู่ไปกับการทดลองปฏิบัติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากโครงการหลวง (โครงการขยายผลโครงการหลวงบ้านห้วยเขย่ง อำเภอทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี) ได้ส่งวิทยากรและทีมงานมาช่วยการจัดการอบรมและเป็นพี่เลี้ยง ให้แก่เกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ที่อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์ฝึกวิชาชีพฯ”สามสงฆ์ทรงพระคุณ” ที่ประกอบด้วยพื้นที่ 18 ตำบล ใน 4 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งโครงการนี้ได้เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ 2559
ปัจจุบันผลการดำเนินงานในระยะแรก ทำให้ประชาชนได้เห็นความสำเร็จสามารถปลูกผักในโรงเรือนตามแนวทางโครงการหลวง ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ มองเห็นช่องทางที่จะขยายผลไปสู่พื้นที่อื่น ๆ นอกเหนือจากโรงเรือนสาธิตทั้ง 18 ตำบล ที่ได้ทดลองมาในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งขั้นตอนต่อไปเราจะนำเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย กลับมาอบรมให้ความรู้ และสรุปบทเรียนเพื่อพัฒนาให้เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรตามแนวทางโครงการหลวง ซึ่งจะเน้นให้กลุ่มเป้าหมายชุดนี้ มีความสามารถในการถ่ายทอดให้ความรู้กับบุคคลอื่น พร้อมทั้งจะเป็นพี่เลี้ยงให้เกษตรกรที่สมัครเข้าร่วมโครงการเพิ่มเติม โดยจะเน้นพื้นที่ตามแนวชายแดนเป็นหลัก
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อกระจายรูปแบบโครงการสู่ศูนย์ฝึกวิชาชีพฯ ในจังหวัดชายแดนอีก 10 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น กศน.คงต้องทำ MOUกับโครงการหลวงอย่างเป็นทางการ
ด้านกำนันจำนอง บุญเลิศฟ้า จากตำบลบ้านคา อำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ซึ่งเข้ารับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และศึกษาดูงานภาคปฏิบัติที่โครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เห็นว่าเป็นแนวความคิดเกษตรรูปแบบใหม่ ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของ “ในหลวง” ที่ทำให้ประชาชนเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ด้วยการปลูกผักแบบแปลงกางมุ้ง ซึ่งช่วยลดต้นทุนในการใช้สารเคมีเพื่อไล่แมลง และยังสอนให้ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี ผลผลิตที่ออกมาก็เป็นผักปลอดสารพิษ
“หลังจากที่รับความรู้เรื่องนี้แล้วผมก็ได้กลับมาทำประชาคมชาวบ้านว่า จะรับโครงการนี้หรือไม่ ชาวบ้านก็ยกมือให้ทำโครงการนี้เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้และขยายผลการทำเกษตรรูปแบบใหม่ เพราะชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ก็ทำการเกษตรกันอยู่แล้ว เพียงแต่มีพฤติกรรมแบบเดิม ๆ มีการฉีดยา ใช้ปุ๋ยเคมีปริมาณมาก ทำให้ดินเสียดินด้าน ดังนั้น ก็น่าจะหันมาใช้เกษตรรูปแบบใหม่ มาเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งตัวผมเองก็ใช้สารเคมีมาตลอด แต่พอได้ไปดูงานได้ความรู้จากโครงการหลวง ก็กลับมานอนคิด ซึ่งก็คิดได้ว่าอย่างชาวเขา ที่เขามีศักยภาพน้อยกว่าเรายังทำได้ แล้วพวกเราที่ทำกันเยอะ ๆ แล้วไปเป็นทาสของสารเคมี ซึ่งก็คือนายทุนที่ขายปุ๋ย ขายยาให้เรา เมื่อเรามีองค์ความรู้จากการไปดูงานก็น่าจะปรับปรุงดินให้ดี รู้วิธีการป้องกันแมลง ปุ๋ยเคมี หรือสารเคมีก็ไม่จำเป็นต้องใช้มากเหมือนเมื่อก่อนก็จะประหยัดไปได้มาก”
กำนันจำนอง กล่าวและว่า โครงการหลวง เป็นแรงบันดาลใจให้ผมเปลี่ยนแนวคิดมาใช้กับไร่ของผม และของเพื่อนเกษตรกรในหมู่บ้าน โดยเริ่มไม่ใช้ยาสารเคมีแล้วก็ทำให้น้อยแต่ได้มาก จากที่เมื่อก่อนเราทำมากแต่ได้น้อยหรือเกือบไม่ได้เลย ดังนั้น จึงคิดว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตอนนี้ผมมองถึงตลาดส่งออกเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเราเข้าสู่ประชาคมอาเซียนแล้ว ต้องทำการเกษตรส่งออกไม่ใช่แค่ขายกันแค่ในตลาดบ้านเราเท่านั้น
…โครงการหลวง นี้ยังนำมาซึ่งความภูมิใจของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย อย่าง “ครูเอ๋-ปิยอร แป้นเขียว” ครูอาสาศูนย์ฝึกวิชาชีพฯ “สามสงฆ์ทรงพระคุณ” เธอทิ้งท้ายว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะการจะเปลี่ยนแนวคิดและลงมือทำจนเกิดผลดีเช่นนี้เป็นเรื่องยาก เราต้องทำประชาคมกับชาวบ้าน ชี้แนะให้เห็นประโยชน์จากโครงการหลวง ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานแก่คนไทย จะก่อเกิดประโยชน์อย่างไรบนผืนดินของพวกเขา ไม่ใช่แค่การลดใช้สารเคมีหรือรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น แต่มันคือความยั่งยืนของระบบเกษตรกรรมไทย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ