วารินทร์ พรหมคุณ
ของขวัญปีใหม่ ล้างบางเน็ตผี MOENet
ก่อนติด Hi-Speed Internet ในโรงเรียน
ต้อนรับศักราชใหม่ 2561 กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จัดโครงการสำคัญเพื่อเป็นของขวัญมอบให้แก่นักเรียน ครู อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษาทุกคน ด้วยการติดตั้ง Hi-Speed Internet ในสถานศึกษาทั่วประเทศ
จากปัญหาการเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้ เพื่อให้เด็กเรียนรู้ รวดเร็ว ฉับไวทันสถานการณ์ต่างๆ ระบบอินเตอร์เน็ต สัญญาณเต็ม 100% แรงและเร็วมีส่วนช่วยได้มาก แต่ทว่าเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ที่ ศธ.ดำเนินการและเชื่อมต่อไปยังโรงเรียนนั้น มีอยู่สองเครือข่ายคือ MOENet และ UniNet พบว่าประสิทธิภาพยังไม่ดีพอและไม่ใช่อินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
ทั้งนี้ ระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนใหญ่ที่โรงเรียนใช้ความเร็วอยู่ที่ประมาณ 20-30เมกะไบต์ แต่เป้าหมายคือ ต้องการให้โรงเรียนมีอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงถึงระดับ100 เมกะไบต์ ซึ่งหลักการของการติดตั้ง Hi-Speed Internet ในโรงเรียน ศธ.มีนโยบายให้โรงเรียนเลือกใช้เครือข่ายผู้ให้บริการเองตามความเหมาะสมของโรงเรียนและพื้นที่ด้วย เพราะแต่ละพื้นที่จะใช้เครือข่ายต่างๆกัน เช่น พื้นที่ภูเขาต้องใช้ระบบดาวเทียม หรือไฟเบอร์ออฟติค เป็นต้น
ที่น่าสนใจกว่านั้น คือทันทีที่นพ.ธีระเกียรติ เจิรญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสถานศึกษาที่ จ.สุโขทัย พบว่า เครือข่าย MoeNet ที่ศธ.ใช้อยู่นี้เป็น “เน็ตผี” MOENet ไม่มีตัวตน ไม่มีการทำสัญญา ไม่มีเป้าหมายการบริหารจัดการ แต่มีเงินงบประมาณจากรัฐ ลงไปอุดหนุน ทำกันเป็นกระบวนการ นานกว่า 20 ปี!!!
ย้อนอดีตเมื่อ 20 กว่าปี เครือข่ายอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย มีการพัฒนามาจากเครือข่ายมหาวิทยาลัย ภายใต้ชื่อเครือข่ายไทยสาร (THAISAN : The Thai Social/Scientific,Academic and Research Network) ในสมัยนั้นยังเป็นสายทองแดงไม่ใช่สายใยแก้ว เครือข่ายไทยสาร ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยสถาบันการศึกษา และหน่วยงานราชการ ได้ต่อเชื่อมเข้าสู่อินเตอร์เน็ตอย่างสมบูรณ์ในเดือนกันยายน ปี 2535 จุดแรกของการเชื่อมต่อสัญญาณ คือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในปีถัดมาได้ต่อเชื่อมต่อที่ NECTEC ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นจุดที่สอง
และเมื่อปี 2538 ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ศธ. ได้ต่อเชื่อมเครือข่ายเข้ากับ NECTEC ภายใต้ชื่อเครื่องemisc.moe.go.thและเรียกเครือข่ายของ ศธ.ว่า MOENet (เอ็ม-โอ-อี เน็ต) เพื่อเปิดบริการแก่หน่วยงานของ ศธ.ที่ความเร็ว 19.2K และมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ ตามลำดับ
โดยใน ปี 2540 เครือข่าย MOENet ได้เปลี่ยนช่องทางการสื่อสาร จาก NECTECมาเชื่อมโยงกับภาคเอกชนแห่งหนึ่ง เพื่อประสิทธิภาพ และการบริการที่ดีกว่า ที่ความเร็ว 64Kและขยายเครือข่าย MOENet ความเร็วการสื่อสารเป็น 256 Kbps จากนั้นในปี 2542 เครือข่าย MOENet ได้เพิ่มความเร็วการสื่อสาร เพื่อให้รองรับหน่วยงานของ ศธ. ที่ความเร็ว 512 Kbps และปัจจุบันเครือข่าย MOENet มีช่องทางการสื่อสารเชื่อมโยงไปยังศูนย์บริการอินเตอร์เน็ต ที่ความเร็ว 2Mbps และขยายไปยังสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ
การที่ นพ.ธีระเกียรติ ประกาศไม่ใช้เครือข่าย MOENet เพราะพบความไม่ชอบมาพากล สิ่งที่ นพ.ธีระเกียรติ พบคือปัญหาการใช้อินเตอร์เน็ตของสถานศึกษาในสังกัด ศธ.ทั่วประเทศ ใช้บริการระบบอินเตอร์เน็ตซ้ำซ้อน ทั้งจากภาครัฐ (UniNet, เน็ตประชารัฐ) ภาครัฐวิสาหกิจ (TOT, CAT) และภาคเอกชน (TRUE, SAMART TELECOM, AIS และ3BB) รวมถึงยังมี MOENet ซึ่งไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะไม่มีตัวตน แต่ MOENet ไปซื้อบริการสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา และปล่อยแบบกะปริดกะปรอย ซึ่งสถานศึกษาต้องเสียค่าใช้บริการในส่วนนี้
ดังนั้นจะต้องไม่มี MOENet และให้อำนาจการซื้อบริการอินเตอร์เน็ตอยู่ในมือผู้บริหารสถานศึกษา ที่จะเลือกใช้อินเตอร์เน็ตจากเครือข่ายที่ดีที่สุด เป็นของตนเอง โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี2561 เป็นต้นไป
“ศธ.จะไม่ใช้สัญญาณ MOENetซึ่งที่ผ่านมา MOENet ไม่มีตัวตน ไม่ถือเป็นผู้ให้บริการ แต่ไปซื้อสัญญาณจากเครือข่ายจากเอกชน แล้วนำมาปล่อยสัญญาณต่อให้สถานศึกษา ซึ่งสาเหตุที่จะไม่ให้มีการใช้สัญญาณ อินเตอร์เน็ตผ่านช่องทางนี้ ได้ตรวจพบว่า มีความไม่ชอบมาพากล ในเรื่องค่าใช้จ่ายอินเตอร์เน็ตแต่ละเดือนของสถานศึกษา เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ต้องจ่ายค่าอินเตอร์เน็ตให้ MOENet ศูนย์การเรียนรู้เดือนละ 5,000 บาท ซึ่งแพงกว่าปกติ และแต่ละแห่งก็ไม่มีสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง เห็นชัดเจนว่าไม่ชอบมาพากล และยังมีอีกหลายเรื่องที่กำลังตรวจสอบอยู่
แต่ที่แน่ ๆ ไม่มีใครรู้เรื่อง ไม่มีใครรู้ว่า MOENet ไม่ใช่ผู้ให้บริการ แต่ ศธ.ไปซื้อสัญญาณจากเอกชน ซึ่งไม่รู้ไอ้โม่งที่ไหนซื้อ ต้องตรวจสอบว่าเกิดมาได้อย่างไร เป็นเพราะความไม่รู้จริง ๆ หรือเพราะความไม่ใส่ใจ หรือเพราะอะไร ที่ ศธ.ต้องจ่ายค่าเช่าเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตรายนี้ถึง เดือนละ 400,000 บาท เป็นตัวเลขที่ผมตกใจ เพราะถือว่าสูงมาก เมื่อเทียบกับคุณภาพของการใช้งาน” นพ.ธีระเกียรติ ตั้งคำถาม
…พูดไปใครจะเชื่อ 20 ปีที่ไม่มีการทำสัญญากับ ศธ.อย่างชัดเจน ไม่มีเป้าหมายแต่ละปีว่าจะทำหรือพัฒนาอะไรบ้าง เบิกเงินไปจำนวนเท่าไหร่ก็ไม่ชัดเจน ได้งบประมาณก็ทำตามงบประมาณที่ได้มา โดยไม่มีสัญญาใด ๆ ทั้งสิ้น เหมือนรัฐเป็นผู้ลงทุนให้เอกชนแห่งนี้ขยายงานโดยไม่ต้องควักกระเป๋าตัวเองสักบาท แล้วเอางานมาขายคืนให้กับ ศธ.ต่อ แล้วใครจะเป็นผู้ผิดชอบเงินที่เสียไป ตั้งแต่วันนั้นถึงวันนี้ก็กว่า 20ปีแล้วผ่านมากี่ยุค กี่รัฐบาล
อย่างไรก็ตาม จะรื้อออกเลยทันทีตอนนี้คงไม่ได้ เพราะมีหลายโรงเรียนไม่มี UniNet (ยู-นิ เน็ต) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการเรียนรู้ของนักเรียน ดังนั้นจะไปรื้อเมนสายหลักก็เป็นเรื่องใหญ่ ก็ต้องมาดูกันว่าสายเมนไหนจำเป็น ก็ต้องเช่าต่อ และต้องทำสัญญากันอย่างรัดกุม ในนามใคร หน่วยงานไหน และหากโรงเรียนใดจะใช้ MOENet ต่อก็สามารถใช้ได้ แต่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีความจำเป็นอย่างไร???
งานนี้เท่ากับว่าเป็นการประกาศล้มกระดาน MOENet เครือข่ายอินเตอร์เน็ตยักษ์ใหญ่
เชื่อเลยว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะต้องเต้นผางๆ วิ่งวุ่นกันฝุ่นตลบ เพราะเสียผลประโยชน์อย่างมหาศาล
เริ่มต้นปีด้วยการตามล้างตามเช็ด เพราะรัฐบาลทหาร คสช.ไม่เอาไว้แน่
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ