วารินทร์ พรหมคุณ
ความสุขของเราอยู่ที่ความพอเพียง
“สำรอง แตงพลับ”
ครูภูมิปัญญาเกษตรผสมผสาน
ภูมิปัญญาไทย หมายถึง ความรู้ ความสามารถในการดำเนินชีวิตอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ โดยใช้สติปัญญาสั่งสมความรู้อย่างแพร่หลาย ผสมผสานความกลมกลืนระหว่างศาสนา สภาพภูมิอากาศ สภาพแวดล้อมการประกอบอาชีพ และกระบวนการเหล่านี้มาจนหลายชั่วคนซึ่งจะเป็นวิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์นั้น เกิดจากการเรียนรู้และสั่งสมประสบการณ์เป็นระยะเวลายาวนาน โดยอาศัยภูมิปัญญาที่มีอยู่มาใช้ในการตั้งถิ่นฐาน การประกอบอาชีพการปรับตัวและแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต จนเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของธรรมชาติและสังคม
ลุงสำรอง แตงพลับ ครูภูมิปัญญาไทย (ด้านเกษตรผสมผสาน) รุ่นที่ 8 ของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ซึ่งได้รับรางวัลเครื่องหมายเชิดชูเกียรติและเกียรติบัตรแก่ครูภูมิปัญญาไทย เมื่อปลายเดือนกันยายน 2560 ที่ผ่านมา เป็นรางวัลในการดำเนินชีวิต โดยนำเกษตรผสมผสาน และใช้สติปัญญา สั่งสมความรู้ และความอดทนจนประสบความสำเร็จ สามารถปลดหนี้ได้ ด้วยการ
นำองค์ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้และยังถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรอื่น ๆ ได้ดำเนินตาม
ลุงสำรอง เล่าให้ฟังว่า บ้านเดิมอยู่ที่ตำบลดอนยาง อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี เมื่อปี 2501 ได้มาซื้อที่จำนวน 33 ไร่ (สมัยนั้นที่ดินไร่ละ 100 บาท) ที่ตำบลไร่ใหม่พัฒนา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี สมัยนั้นที่นี่น้ำจะอาบจะกินแทบจะไม่มี ที่ดินก็เสื่อมโทรมปลูกอะไรก็ไม่ค่อยได้ผลเท่าไร พืชอย่างเดียวที่พอจะปลูกได้ดี คือสับปะรด ก็ปลูกส่งโรงงาน ซึ่งเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว ซื้อหน่อสับปะรดหน่อละ 50สตางค์มาปลูก ต้องซื้อปุ๋ย จ้างรถค่าไถ่แปลงสับปะรด พอได้ผลผลิตขายได้กิโลกรัมละ 80 สตางค์ แต่โรงงานก็ไม่ซื้อก็ขาดทุนเจ๊ง! ต้องแบกภาระหนี้ 7 แสนบาทมาหลายปี จนประมาณปี 2538 ได้เข้าไปอบรมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กลับมาก็มาจัดพื้นที่รอบ ๆ บ้านประมาณ 5ไร่ ทำเกษตรผสมผสาน ปลูกไม้ผล ปลูกผักไว้กินเอง เลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่
“ตอนนั้นไม่คิดจะรวยแล้วขอแค่ให้มีอยู่มีกิน อยู่อย่างพอเพียงแค่นั้น”
แต่หนี้สินทำให้มีกำลังที่จะสู้ต่อไป กระทั่งปี 2544 ได้เข้าโครงการพระราชดำริ เรียนรู้เรื่องของเกษตรทฤษฎีใหม่ ที่ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พอไปเข้าไปศึกษาแล้ว กลับมาก็เริ่มทำตามเลย โดยปลูกทุกอย่างที่เราจะกิน เลี้ยงสัตว์ทุกอย่างที่เป็นรายได้เสริม เลี้ยงปลาก็เน้นปลากินพืช เช่น ปลานิล ปลายี่สก ปลาแรด ปลาทับทิม ฯลฯ เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงไก่พื้นเมืองไปเอาแม่พันธุ์มาจากแม่ฮ่องสอน (ไก่ประดู่หางดำ) เลี้ยงง่าย โตเร็ว ราคาดี แล้วก็เลี้ยงหมู เลี้ยงวัว เป็นต้น
“ทุกอย่างทำเองหมดไม่มีลูกน้อง คือ ยึดหลัก 3 เอง คือ ปลูกเอง กินเอง และเหลือก็ขายเอง ซึ่งทำให้มีรายได้ ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี แต่ก็ต้องไม่ลืมอีกอย่าง คือ การทำบัญชีครัวเรือนซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญมาก เพราะเป็นหลักแก่นของความพอเพียง และไม่น่าเชื่อว่าเมื่อกันมาทำเกษตรผสมผสานแล้วปี 2548 ผมใช้หนี้หมด ซึ่งถือว่าเร็วมาก”
ลุงสำรอง เล่าต่อไปว่า เมื่อหมดหนี้สินแล้วก็ทำมาเรื่อย ๆ โดยนำโครงการพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เกษตรทฤษฎีใหม่ มาประยุกต์ใช้ปลูกทุกอย่าง เน้นปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน ที่จะซื้อก็คือเครื่องอุปโภคเช่นน้ำมัน สบู่ ยาสีฟัน ผงซักฟอก ที่เหลือก็ขายเป็นรายได้เสริมและอยู่อย่างพอเพียง
“ความพอเพียงอยู่ที่ตัวเรา เราคิดว่าเราพอในสิ่งที่เรามีนั่นแหละความพอเพียง ใช้จ่ายพอประมาณมีเหตุมีผลในการใช้จ่าย สร้างภูมิคุ้มกัน พอมีความรู้ก็ต้องมีคุณธรรมด้วย ซึ่งนี่คือหัวใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการเดินทางสายกลาง 3 ห่วง 2 เงื่อนไข ได้แก่ ความพอประมาณ ความมีเหตุผล และการมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี โดยมีเงื่อนไขคือความรู้และคุณธรรม ใครก็ตามถ้าปฏิบัติได้ตามนี้เชื่อได้ว่าจะทำให้ครอบครัวมีความสุข”
ลุงสำรอง เล่าต่ออีกว่า ปีนี้ขายไก่ประดู่หางดำได้หลายแสนบาท ซื้อพันธุ์มาจากแม่ฮ่องสอน ครั้งแรกเอามาเลี้ยงเป็นแม่พันธุ์ไว้ 10 ตัว เลี้ยงอยู่ 3 ปี ก็ขยายให้เครือข่าย 10 ครัวเรือน ตอนนี้รายได้เสริมใน 10 ครัวเรือนนี้ดีมาก ไก่ประดู่หางดำเนื้อทานอร่อย แม่พันธุ์ขายตัวละ 300-400 บาท ไก่รุ่นกิโลกรัมละ 120 บาท ไก่น้ำหนัก 3-5 ขีดตัวละ 100 บาท ส่วนใหญ่จะขายให้กับหน่วยงานปศุสัตว์ จะซื้อไปแจกเกษตรกร
ครูภูมิปัญญาเกษตรผสมผสาน คนนี้ตอกย้ำ ถ้าใครมาทำเกษตรผสมผสานกับทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราจะหมดหนี้หมดสิน จะอยู่แบบครอบครัวมีความสุข ตอนนี้ในหมู่บ้านของลุง 60 กว่าครัวเรือนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ประสบความสำเร็จอยู่แบบพอเพียงกันทั้งนั้น
“เกษตรผสมผสาน แม้จะช้าแต่ก็ได้ผลผลิตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน มีรายได้ทุกวัน แต่หากทำเกษตรเชิงเดียว ทำได้ปีละ 1ครั้ง หากเกิดอุทกภัยขึ้นมาเกิดขาดทุนเป็นหนี้ ต้องไปกู้ยืมกันอีก เพราะไม่มีภูมิคุ้มกัน ลุงจึงอยากให้เกษตรกร ไทยหันมาทำเกษตรผสมผสานตามทฤษฏีใหม่ของ “พ่อ” และอยู่อย่างพอเพียงชีวิตเราก็จะเป็นสุข”
ทุกวันนี้ ลุงสำรอง ได้ช่วยเหลือสังคมมากโดยการให้ความรู้และเติมเต็ม จะไม่ให้น้ำเต็มแก้ว เพราะเมื่อน้ำเต็มแก้วเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็คือจบ จึงพยายามให้น้ำพร่องแก้ว เพื่อจะได้เติมเต็มและให้เผยแพร่กับพี่น้องเกษตรกรต่อไป ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก
“ความสุขของเราอยู่ที่ความพอเพียง ไม่มีหนี้สินแค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว” ลุงสำรอง กล่าวย้ำถึงหลักการดำเนินชีวิตอย่างพอเพียง
“สำรอง แตงพลับ” ผู้ก้าวตามรอยพระบาทองค์พระราชา
“… ความพอเพียงอยู่ที่ตัวเรา
เราคิดว่า เราพอในสิ่งที่เรามี
นั่นแหละความพอเพียง…”
—————–
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ