วารินทร์ พรหมคุณ
จับตาหัวขบวนองค์กรหลัก ศธ. ขับเคลื่อนการศึกษาของชาติ
…ล่วงผ่านเป็นสัปดาห์แล้วกับการรับผิดชอบในตำแหน่งหน้าที่ ใหม่ของ 3 ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) นำโดยนายการุณ สกุลประดิษฐ์ รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.), ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา(กกศ.) และนายบุญรักษ์ ยอดเพชร รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2560
ทั้ง 3 ท่านแม้จะสลับสับเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ใหม่ แต่ทว่าเนื้องานหลักที่อยู่ในมือคือการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาไทย ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกัน และเชื่อว่าฝีไม้ลายมือการบริหารงานของ 3 ท่าน จะสามารถฝ่าฟันทุกอุปสรรคไปได้อย่างสง่างาม
อย่าง “ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์” ลาจากตำแหน่งพ่อบ้าน ศธ. เป็นรักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา รับหน้าเสื่องานช้าง “แผนการศึกษาแห่งชาติ” พูดถึงงานใหญ่หลังจากที่ ครม.เห็นชอบแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 (ระยะ20ปี) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางพัฒนาการศึกษาในช่วงระยะเวลาดังกล่าว บทบาทสภาการศึกษาจากนี้ไปคือการสนับสนุน และให้ความช่วยเหลือทางวิชา โดยจะทำความชัดเจนในเชิงทิศทาง และการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ สู่แผนการศึกษาระดับภาคทั้ง 6 ภาคของรัฐบาล ระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่วางไว้
“แผนการศึกษาแห่งชาติ เป็นแผนระยะยาว 20 ปี ดังนั้นสภาการศึกษา จะจัดเป็นแผน 5 ปี และแผนรายปี แต่เนื่องจากปี 2561 เป็นปีพิเศษ ซึ่งจะต้องทำแผนการศึกษา 2562 ควบคู่ไปด้วย ดังนั้น ทุกหน่วยงานไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานระดับกระทรวง ระดับภาคทั้ง 6 ภาคของรัฐบาล และ 18 ภาคของ ศธ. และระดับจังหวัด ซึ่งสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด จะต้องทำแผนพัฒนาการศึกษาของตนเองให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
…ส่วนหน่วยงานปฏิบัติเช่น สำนักงานเขตพื้นที่ประถมศึกษา สำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษา สำนักงาน กศน.จังหวัด การศึกษาเอกชนจังหวัด และอาชีวศึกษาจังหวัด ก็จะต้องทำแผนพัฒนาการศึกษา ให้สอดรับกับต้นสังกัด และแผนพัฒนาการศึกษาจังหวัดด้วย ซึ่งทุกหน่วยงานจะต้องดำเนินการให้เสร็จภายในเดือน ก.ย.60 นี้เป็นอย่างช้า เพื่อนำแผนดังกล่าวไปใช้ปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.60 เป็นต้นไป เพราะแผนดังกล่าวจะผูกโยงกับแผนงบประมาณและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วย”
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้สภาการศึกษา ยังมีหน้าที่ประเมินผลการจัดการศึกษา ซึ่งเน้นทั้งการประเมินผล การจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ และการประเมินสภาวการณ์ในการจัดการศึกษาของไทยในภาพรวม ซึ่ง 2 เรื่องนี้จะเป็นข้อมูลที่จะบ่งชี้ได้ว่า การจัดการศึกษาในแต่ละปีมีความคืบหน้าไปถึงไหนอย่างไร ซึ่งขณะนี้กำลังวางแผนควบคู่กันไปว่า ในการจัดการศึกษาตามแผนการศึกษาแห่งชาติ ควรดูตรงไหนบ้าง ที่จะมาเป็นตัวชี้วัด ส่วนเรื่องของสภาวการณ์จัดการศึกษาของไทย ซึ่งเป็นตัวชี้วัดในภาพรวมจะไม่จำแนกสังกัด ก็มีการวางแผนที่จะทำควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้มั่นใจว่าทิศทางการศึกษาเป็นไปตามที่วางไว้
ส่วนเรื่องการพัฒนามาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งสภาการศึกษา ต้องมากำหนดมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติ ต้องวิเคราะห์ใหม่ว่ามีความสอดคล้องกับแผนการศึกษาแห่งชาติหรือไม่ จะมีแนวทางการขับเคลื่อนเป็นอย่างไร ซึ่งขณะนี้เรื่องของการเรียนรู้มุ่งเน้นไปที่ปฐมวัยมากขึ้น
ด้านนายการุณ สกุลประดิษฐ์ รักษาราชการแทนปลัด ศธ. เผยว่า สำนักงานปลัด ศธ.มีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของ ศธ.ในภูมิภาค ซึ่งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) จะต้องทำงานร่วมกันกับเขตพื้นที่การศึกษา โดยยึดตาม 6 ยุทธศาสตร์ ของแผนการศึกษาแห่งชาติระยะ 20 ปี เพื่อให้ผลของการปฏิบัติงานร่วมกันให้เกิดกับเด็กเป็นสำคัญ
ส่วนเรื่องปัญหาข้อขัดแย้งที่ยังไม่เข้าใจกันอยู่ ในเร็ว ๆ นี้ ตนและหารือกับนายบุญรักษ์ ยอดเพชร รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. โดยจะพยายามแก้ปัญหาเพื่อให้การทำงานร่วมกันเป็นไปด้วยความราบรื่น
ขณะที่นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้กำชับเรื่องการทำงานกันระหว่าง ศธจ. และ ผอ.เขตพื้นที่การศึกษา โดยให้มีการบูรณาการกันอย่างไรให้การทำงานเกิดประโยชน์มากที่สุด โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา โดยเน้นไปที่การพัฒนาผู้เรียนให้มากขึ้น และห้องเรียนให้นักเรียนสามารถเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนครูต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยครูต้องมีความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของความเป็นครูที่แท้จริง ซึ่งวันนี้มีความชัดเจนแล้วว่า จะต้องมีการพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา ทั้ง 4 สายงาน ให้ได้รับการพัฒนา ตั้งแต่สายงานบริหาร สายงานศึกษานิเทศก์ สายงานผู้สอน และสายงานอื่น ซึ่งจะได้รับสิทธิในการพัฒนาในงบประมาณที่เท่ากัน
เรียกว่าไม่ต้องออกตัวแรงเพราะทั้ง 3 ผู้บริหารรู้งานก่อนหลัง และมีกำลังใจที่ดี
…ถึงแม้ระบบบริหาร “ข้าราชการ ศธ.” จะพลิกผันไปตามช่วงเวลาและความเหมาะสมที่ “ทั่นผู้นำ” จะพิจารณาจับโยงว่า”ใคร”ควรคู่กับงานใด…เมื่อนั้นก็ย่อมต้องทำได้ทุกตำแหน่งหน้าที่ ด้วยเป้าหมายหลักเดียวกัน คือ การขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย
———————
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ