วารินทร์ พรหมคุณ
พัฒนาครูรูปแบบครบวงจร การปฏิรูปครู..ด้วยตัวครูเอง
สัปดาห์นี้ยังคงเกาะติดโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร “คูปองครู 10,000” ที่สร้างปรากฏการณ์ “ครู” ตื่นตัวพัฒนาตนเอง ตามเป้าหมายที่จะนำความรู้ใหม่ ๆ มาจัดการเรียนการสอน เป็นประโยชน์กับนักเรียนและเป็นการพัฒนาต่อยอดความก้าวหน้าในวิชาชีพ สู่วิทยฐานะของครูด้วยตัวเอง โดยมีการคาดการณ์ว่าในปีการศึกษา2561นี้ จะมีครูเข้าอบรมพัฒนาได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้ 400,000 คน เพราะช่วงเวลานี้ก็เข้าใกล้เดือน ก.ย. ใกล้สิ้นปีงบประมาณเต็มทีแล้ว ประมาณการว่า จะมีครูได้รับการอบรมพัฒนาในโครงการดังกล่าว อาจจะไม่ถึง 200,000คน
และนับแต่เปิดโครงการให้ ครูเข้าลงทะเบียนช้อปปิ้งหลักสูตร ก็พบปัญหาตามมามากมาย เรียกว่าฮ็อต!มากในวงวิชาชีพครู…
ทำให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ต้องจัดเดินสายสร้างความเข้าใจแบบฉับพลันทันที กับผู้อำนวยการ/รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา โดยประเดิมที่จังหวัดพิษณุโลก และจะเดินสายอีก 5 จุด คือ กรุงเทพฯ อุดรธานี อุบลราชธานี สงขลา และเชียงใหม่
นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้เราต้องทำความเข้าใจกับสังคมในเรื่องการพัฒนาครูทั้งระบบ ว่าเราไม่ได้ถูกบังคับให้มาอบรม แต่ครูต้องอบรมเพื่อพัฒนาตนเอง และถ้าวันนี้ ถ้าไม่สามารถขับเคลื่อนโครงการต่าง ๆ ไปสู่เด็ก ก็จะไม่สามารถสร้างพื้นฐานใหม่ ๆ ให้กับเด็ก ดังนั้นผู้บริหารจะต้องรับรู้ ครูจำเป็นต้อง Shopping List ตามที่ สพฐ.จัดให้เพื่อประเทืองปัญญาตัวเองให้ทันสมัยเท่าเทียมกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
ขณะที่ ดร.เกศทิพย์ ศุภวานิช ผอ.สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) กล่าวถึงภาพรวมยอดผู้ลงทะเบียนพัฒนาครู สามารถบ่งบอกได้ว่า ครูมีความตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง เป็นการปฏิรูปพัฒนาตนเอง ที่ครูสามารถเลือกที่จะพัฒนาตนเองได้ตามความสมัครใจ ซึ่งนโยบายพัฒนาครูครบวงจรรูปแบบใหม่นี้ เป็นแนวคิดจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ
ทั้งนี้มีเสียงสะท้อนปัญหาของการละเบียนจากครู ค่อนข้างมาก จึงขอฝากประชาสัมพันธ์ เรื่องหลักสูตรที่ไม่ได้รับการรับรอง นั้นยังเป็นหลักสูตรที่สามารถอบรมได้ แต่ไม่ผ่านเกณฑ์การนำความรู้ปฏิบัติสู่การพัฒนานักเรียน ซึ่ง ผอ.โรงเรียน มีหน้าที่พิจารณาว่าหลักสูตรนั้น ๆ สามารถนำมาใช้กับนักเรียนได้หรือไม่ แล้วพิจารณาอนุมัติ จากนั้นเมื่อครูผ่านอบรมเสร็จแล้วให้ ผอ.โรงเรียน ประเมินว่าครูได้นำความรู้ไปพัฒนาเด็กนักเรียนได้มากน้อยเพียงใด
“สพค.ทราบดีว่าระบบการบริหารจัดการหลักสูตร ยังมีปัญหาอยู่บ้าง ขอให้ครูใจเย็น ๆ เพราะเรากำลังดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ซึ่งปัญหาที่พบมากคือ มีผู้ยกเลิกการอบรมจำนวนมากนั้น เกิดจากผู้ลงทะเบียนอบรม เกินงบประมาณจำนวนมาก หน่วยพัฒนายกเลิกการจัดอบรม เนื่องจากมีผู้เข้าอบรมจำนวนน้อย ส่วนครูลงทะเบียนและสำรองเงินจ่ายค่าเดินทางไปอบรมแล้ว แต่พบว่าหน่วยพัฒนายกเลิกการจัดอบรม ขณะนี้ สพค.ได้ให้ครูกรอกแบบฟอร์มปัญหาที่พบ เพื่อพิจารณาการอนุมัติหลักสูตรที่อื่นให้อบรมแทน” ดร.เกศทิพย์ อธิบาย
อีกตัวแปรสำคัญของโครงการนี้ คือ “สถาบันคุรุพัฒนา” ของใหม่แกะกล่องที่มีภารกิจใหญ่มาก ในฐานะผู้รับรองหลักสูตรพัฒนาครูนั่นเอง
นายสมศักดิ์ ดลประสิทธิ รองเลขาธิการสภาการศึกษา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการธิการคุรุสภา กล่าวถึง “สถาบันคุรุพัฒนา” เกิดขึ้นตามดำริของ รมว.ศึกษาธิการ มีจุดประสงค์ต้องการให้ครูได้มีการพัฒนาในระบบเดียวกัน และได้ทั้ง 2 เรื่อง คือสามารถนำไปใช้ในเรื่องของการพิจารณาวิทยฐานะ และการนับชั่วโมงเพื่อการต่อใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงระบบการพัฒนาเข้าด้วยกัน
อย่างไรก็ตาม การพิจารณารับรองหลักสูตรของสถาบันคุรุพัฒนา เป็นเพียงภารกิจเสริมเท่านั้น แต่ภารกิจหลักของสถาบันคุรุพัฒนา คือ เมื่อมีการคัดเลือกกรรมการตัวจริงแล้ว ก็จะมากำหนดในเรื่องของระบบการพัฒนาครู เช่น หลักพัฒนาครูพื้นฐาน หลักสูตรการพัฒนาครูอาชีวะ หลักสูตรพัฒนาครูสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ขณะเดียวกันในระเบียบสถาบันคุรุพัฒนา สามารถที่จะจัดหลักสูตรขึ้นมาเองได้ นอกจากการรับรองหลักสูตร แต่ขณะนี้ยังไม่มีความพร้อม และเมื่อยังไม่มีความพร้อมก็รับรองที่อื่นไปก่อน
สำหรับ สถาบันคุรุพัฒนา ตั้งขึ้นตามมติของคณะกรรมการคุรุสภา เท่านั้นยังไม่มีการประกาศใช้อย่างเป็นทางการ หรือตามระเบียบที่ถูกต้อง แต่เมื่อ สพฐ.แจ้งว่าจะมีการอบรมครู จึงได้ตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินงานสถาบันคุรุพัฒนา อยู่ภายใต้สำนักงานคุรุสภา โดยมีนางรัตนา ศรีเหรัญ ผู้ช่วยเลขานุการ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน
อย่างไรก็ตาม ในการประชุมริเริ่มโครงการพัฒนาครูรูปแบบครบวงจร ตั้งแต่เริ่มแรกมีการพูดคุยกันว่าในการพัฒนาครู จะให้มีหลักสูตรทั่วไป หลักเกณฑ์จะเข้มมาก และการพิจารณาหน่วยฝึกอบรมอยู่ที่การประเมินของครูที่จะเข้ามาอบรม ถ้าไม่มีครูไม่เข้าไปลงทะเบียนอบรมหลักสูตรเลย หลักสูตรนั้นก็จะถูกยุบไปโดยปริยาย ขณะเดียวกันหากจัดอบรมแล้วไม่เข้าท่า ก็จะเข้าสู่ระบบของการพัฒนาว่า “ดี” หรือ “ไม่ดี” ก็จะรายงานไปยังสถาบันคุรุพัฒนา ดำเนินการ และ นพ.ธีระเกียรติ ยังพูดถึงเรื่องเงินทอนว่าหากโรงเรียนไหนไปอบรมและมีเงินทอนจะลงโทษให้เด็ดขาด
…ถึงขนาดปรามกันก่อนริเริ่มโครงการ แต่ก็ยังมีข่าวสารพัดปัญหา แว่วมาให้ได้ยิน…อย่างนี้ก็ต้องจัดการกันปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว
——————-
@ มีปัญหา “คูปองครู” แจ้งทางนี้
สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) ได้แจ้งไปยัง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สถานศึกษาและครู เกี่ยวกับช่องทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการอบรม “คูปองครู 10,000 บาท” ดังนี้ กรณีที่เข้าระบบไม่ได้หรือมีปัญหา ติดต่อได้ที่ 1.Email: hrdtrainingobec@gmail.com 2.ID Line:@trainingobec และ 3.โทรศัพท์ 06-2622- 4747หรือ 0-2288-5634-5
กรณีครูพบปัญหาจำรหัสผ่านเข้าระบบ training.obec.go.th ไม่ได้ หรือจำ E-mail/รหัสผ่าน E-mail ตนเองไม่ได้ ให้กรอกคำร้องได้ที่ https://goo.gl/forms/QtCxUt2E2O80Q2MJ3
กรณีที่ครูสำรองเงินจ่ายแล้วและถูกระบบยกเลิก เนื่องจากการยืนยันลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนดระยะเวลา หรือมีปัญหาต่อไปนี้ 1.กรณีครูจ่ายค่าอบรมไปก่อน โดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย2.กรณีครูจ่ายค่าตั๋วเครื่องบินหรือจองตั๋วรถทัวร์ ล่วงหน้าแล้ว โดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย3.กรณีครูจ่ายค่าที่พักล่วงหน้า โดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย4.กรณียืมเงินจากสถานศึกษา หรือ เขตพื้นที่ จ่ายค่าลงทะเบียน,ค่าที่พัก,ค่าเดินทาง ล่วงหน้าแล้ว ให้กรอกแบบกรอกข้อมูลการอบรม โดยตรวจสอบข้อมูลให้ถูกต้องก่อนยืนยันในระบบโดยใช้ chromeในการกรอกข้อมูลที่ https://goo.gl/forms/lzGNXkhp2W4F3XJn2
กรณีที่หลักสูตรบางหลักสูตร เลื่อนหรือยกเลิกการอบรม ดังนี้ ถ้าผู้จัดขอเลื่อน โดยแจ้งมายัง สพค.ให้เปลี่ยนวันที่อบรม และสถานที่อบรมนั้น เจ้าของหลักสูตรจะต้องแจ้งกลับไปยังครูที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้าแล้วเรียบร้อยทุกคน ถ้าไม่แจ้งให้ครูทราบ ก็ต้องแจ้งมาทาง ผอ.เขตพื้นที่ฯ ซึ่งจะรวบรวมให้ส่วนกลาง หรือแก้ไขปัญหาตามดุลยพินิจของ ผอ.เขตพื้นที่ฯ ในกรณีที่จัดการได้ ส่วนปัญหาที่ต้องร่วมกันตัดสินใจให้ส่งมาที่ส่วนกลาง หรือไลน์รวม ผอ.เขตพื้นที่ฯ หรือให้ครูส่งข่าวมาที่ @trainingobec ถ้าผู้จัดเลื่อนหรือยกเลิกโดยไม่แจ้ง (แต่หลักสูตรนั้นจะต้องยังคงอยู่ใน shopping list) ครูสามารถลงทะเบียน “ให้ 1 ดาว” และแสดงความคิดเห็นได้
ทั้งนี้ ครูจะได้รับลิ้งค์ให้ประเมินความพึงพอใจหลังจากหมดระยะเวลาการอบรมแล้ว ซึ่ง สพค.จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ครูได้รับความเสียหายส่งไปที่สถาบันคุรุพัฒนา ให้ถอนออกจาก list รวมทั้งจะประกาศให้ครูทุกท่านทราบว่า ต่อไปอย่าเลือกหลักสูตรอีก เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของตนเองและเป็นการช่วยกันแก้ปัญหา
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ