วารินทร์ พรหมคุณ
“ฟ้าหลังฝน”กศน.ขอนแก่น
น้อมนำเกษตรอินทรีย์เพื่อชีวิต
ตลอดรัชสมัยแห่งการครองราชย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงงาน “เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อย่างแท้จริง ทุกพื้นที่ในประเทศไทย ธ เสด็จฯ ไปโดยมิทรงย่อท้อ ทรงต่อสู้กับความทุกข์ยากของพสกนิกรมาตลอดพระชนม์ชีพ
กว่า 4,000 โครงการพระราชดำริครอบคลุมทั่วประเทศ ยังดำรงอยู่ถึงทุกวันนี้ คือสิ่งที่ชาวไทยประจักษ์ว่าจากนี้ไปคือการสานต่อสิ่งที่ “พ่อ” ทำไว้ให้ยั่งยืน
เรื่องหนึ่งที่เราชาวไทยได้ยินได้ฟังกันมาตลอดคือ เศรษฐกิจพอเพียง
“…เศรษฐกิจพอเพียง จะทำความเจริญให้แก่ประเทศได้ แต่ต้องมีความเพียร แล้วต้องอดทน ต้องไม่ใจร้อน ต้องไม่พูดมาก ต้องไม่ทะเลาะกัน ถ้าทำโดยเข้าใจกัน เชื่อว่าทุกคนจะมีความพอใจได้…”
พระราชดำรัสเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทาน ณ วันที่ 4 ธันวาคม 2541
วันนี้ 13 ตุลาคม 2560 ครบปีแห่งการสวรรคต จากความโทมนัสหรือความเศร้าแปรเปลี่ยนเป็นพลังชีวิต “ข่าวการศึกษาสยามรัฐ” ขอน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ ผ่านบทความ “ฟ้าหลังฝน” เบื้องหลังของชาว กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น ที่น้อมนำแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของ “พ่อ” มาเป็นหลักชัยชีวิต และขยายผลสู่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย ให้ดำเนินชีวิตแบบพอเพียงอย่างยั่งยืน
พันธกิจหลักศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองขอนแก่น (กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น) มุ่งให้ความสำคัญกับการรณรงค์ให้ครู ผู้เรียน ผู้รับบริการและประชาชนดำเนินชีวิตแบบพอเพียง ผ่านกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้รับข้อมูล และเกิดแนวปฏิบัติที่ถูกต้องสามารถดำรงตนในสังคมอย่างมีความสุข
โครงการ “ฟ้าหลังฝน” เป็นการจัดแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน มีกิจกรรมเรียนรู้ สาธิตการเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ การจัดทำปัจจัยการผลิตแบบเกษตรอินทรีย์ พร้อมทั้งให้ข้อมูลด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำมาหากิน เพื่อการพึ่งตนเอง เช่น ด้านการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ การประกอบอาชีพ รวมถึงข่าวสารสาระความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง
ผอ.บุญส่ง ทองเชื่อม ผู้อำนวยการเชี่ยวชาญของศูนย์ กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น กล่าวถึงที่มาของโครงการและขยายความว่า
“สิ่งหนึ่งที่พวกเราชาว กศน.น้อมนำใส่เกล้า คือการนำเศรษฐกิจพอเพียง เป็นตัวตั้งในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมกลุ่มอาชีพ หรือศูนย์เรียนรู้ต่างๆ จัดให้ชุมชนเห็นว่าการเดินตามรอย “พ่อ” อย่างแท้จริงจะนำมาซึ่งความยั่งยืน โดยยึดหลักของ 3 ห่วง 2 เงื่อนไข เป็นทางสายกลาง เรามีทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง เราจะเดินตามรอยของ “พ่อ” ก็เปรียบเหมือนฟ้าหลังฝน”
ในพื้นที่ของ กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น นั้นจะมีทั้งชุมชนเมือง และชุมชนชนบทที่อยู่รอบนอกประมาณ 14-15 ตำบล ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ปลูกพืชผักต่าง ๆ ซึ่งเป็นพืชผักเศรษฐกิจ แต่ทว่าฟ้าฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล เกิดความแห้งแล้ง เกิดความยากจนผู้คนมีความทุกข์ยากลำบาก
“เราคิดว่าควรจะนำเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสาน มาใช้ โดยให้ กศน.ตำบล ทุกตำบลในขอนแก่น จัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านนี้แก่เกษตรกร และชาวบ้าน เน้นความต้องการของชุมชน เช่น หลักสูตรอาชีพระยะสั้น การพออยู่พอกิน การทำบัญชีครัวเรือนซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพื่อให้เขาเห็นว่ามีรายได้-รายจ่าย เท่าไร เพื่อเป็นภูมิคุ้มกัน
…ส่วน กศน.อำเภอเมืองขอนแก่น ก็จัดเป็นศูนย์เรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งเป็นฐานเรียนรู้ต่างๆ มีทั้งหมด 13 ฐาน เช่น ฐานบัว ฝึกเลี้ยงบัวประดิษฐ์ พืชปลูกง่าย รายได้งาม ทั้งบัวฝรั่ง บัวผัว บัวเผื่อน บัวสาย, ฐานผสมดิน, ฐานพลังงานแสงอาทิตย์ ฐานเลี้ยงปลา เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์, ฐานปลูกผักปลอดสารพิษ ในครัวเรือน การปลูกกุยช่ายขาว พืชระยะสั้นที่ปลูกง่ายขายได้รายดี และฐานการใช้แก๊สชีวภาพ เป็นต้น
เมื่อ กศน.มีโครงการนี้ขึ้นก็เปรียบเสมือนว่าฟ้าให้ฝนตกลงชะโลมพื้นดินให้อุดมสมบูรณ์ ชื่อ “ฟ้าหลังฝน” จึงเป็นนิมิตหมายที่ดี ทุกวันนี้มีเกษตรกร ชาวบ้าน ตลอดจนนักเรียน นักศึกษาทั้งสายสามัญและสายอาชีพ เข้ามาเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียง ที่ค่อนข้างครบวงจร
นอกจากโครงการ “ฟ้าหลังฝน” ที่น้อมนำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาเผยแพร่แก่ประชาชนจนเป็นรูปธรรมแล้ว ผอ.บุญส่ง ยังกล่าวต่อไปว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เราชาว กศน.ตระหนักเสมอถึงการทำคุณงามความดี การแทนคุณแผ่นดิน มีกิจกรรมมากมายที่เราแสดงออกถึงความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณและความอาลัยต่อ “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ตลอดจนแสดงความจงรักภักดี รัชกาลที่10จะด้วยภาพหรือรูปปั้นต่างๆ ก็เป็นการแสดงลักษณะกายภาพที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่ง แต่สิ่งหนึ่งที่เราชาวกศน.พึงยึดถือประจำใจ คือ ความซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่การงาน ตั้งใจการปฏิบัติหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด เพื่อรับใช้เบื้องยุคลบาทอย่างสุดหัวใจ
“ผมบอกกับชาว กศน.เสมอว่า เราจะไม่ใช้คำว่า “ปฏิบัติราชการ” แต่ใช้คำว่า “ทำหน้าที่ราชการ” เพราะเราเป็น “ข้าราชการ ข้าของแผ่นดิน”…ดังนั้น โครงการพระราชดำริต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในหลวงรัชกาลที่ 10และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เราต้องทำงานอย่างเต็มกำลังความสามารถ”
ดังเช่นที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ มีพระราชดำริว่า เด็กป่วยเหล่านี้ต้องออกจากการศึกษาในระบบโรงเรียน และไม่สามารถเข้าเรียนปกติต่อได้ เพราะต้องเข้าออกโรงพยาบาลตลอดเวลา ทำอย่างไรจะให้เด็กเหล่านี้ได้รับการศึกษาต่อเนื่อง จึงเกิดความร่วมมือระหว่างการศึกษาพิเศษเขต 9 กศน. และ รพ.ศรีนครินทร์ จัดกิจกรรม “หนังสือข้างเตียง” ขึ้น
“ทุกงานที่จะสนองพระราชดำริ ได้พวกเราชาว กศน.รับใส่เกล้า และทำอย่างเต็มกำลังความสามารถ” ผอ.บุญส่ง กล่าวทิ้งท้าย
——————-
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ