</p>
รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ โครงการดีปี 14
เข้าสู่ปีที่ 14 สำหรับโครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” ที่สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินการจัดการศึกษาเสริมสร้างและเติมเต็มศักยภาพของนักเรียน ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้มีคุณภาพทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา และที่เห็นชัดเจนคือการส่งเสริมและเตรียมพร้อมทางด้านวิชาการ ให้กับนักเรียนชั้น ม.6 ให้มีโอกาสได้ศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษามากขึ้น การสร้างความเข้มแข็งให้กับครูผู้สอนในพื้นที่ สามารถพัฒนาการจัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ที่สำคัญนักเรียนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสุข เกิดสันติสุขในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) กล่าวถึงโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ เกิดขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 5จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่งผลให้การจัดการศึกษาไม่สามารถดำเนินการได้อย่างปกติ การหยุดการเรียนการสอน ครูได้รับการคุกคามและถูกปองร้ายจนต้องขอย้ายออกนอกพื้นที่ทุกปี นักเรียนจึงไม่ได้รับการศึกษาอย่างเต็มศักยภาพ นักเรียนขาดโอกาสทางการศึกษาไม่สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาได้
ในปีการศึกษา 2547 สำนักพัฒนาการศึกษาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ริเริ่มโครงการ “รินน้ำใจสู่น้องชาวใต้” ขึ้นมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนชั้น ม.6 ในพื้นที่ดังกล่าวได้รับการเตรียมพร้อมทางด้านวิชาการอย่างเต็มศักยภาพ รวมทั้งสร้างประสบการณ์ตรงในการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น มีความพร้อมที่จะสอบเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาและสถาบันการศึกษาอื่นได้
โดยดำเนินการจัดครู อาจารย์ และวิทยากรที่มีความรู้เป็นที่ยอมรับ ทั้งจากส่วนกลางและโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในจังหวัดต่างๆ มาสอนเสริมให้ความรู้กับเด็กเหล่านี้ ทั้งเทคนิควิธีการ และเตรียมความพร้อมใน 5 วิชาหลัก ประกอบด้วย วิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป, คณิตศาสตร์, ภาษาไทย, ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา รวมทั้งการแนะแนวการศึกษาต่อ ให้กับเด็กนักเรียนชั้น ม.6 การจัดกิจกรรมสานฝันกีฬาสู่ระบบการศึกษาจังหวัดชายแดนใต้ และจัดอบรมครูผู้สอน 5 วิชาหลักในพื้นที่ดังกล่าว ในช่วงเดือน พ.ย.ถึง ม.ค.ของทุกปี มาอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากนักเรียนไม่กี่ร้อยคนในปีแรกๆ จนถึงปีการศึกษา 2560 นี้ พบว่ามีนักเรียนและผู้ปกครองสนใจส่งบุตรหลานเข้าร่วมโครงการจำนวนถึง 5,000 กว่าคน
น.ส.ชญานิศ ทองเกื้อ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล พูดถึงการสอนของครูติวเตอร์ในโครงการนี้ว่า ครูมีเทคนิคมากมาย ให้แง่คิด ให้หลักสูตร ให้เรานำมาปรับใช้กับการสอบ เช่น วิชาภาษาไทย ครูมีเทคนิคการจำ ที่สอนเป็นเพลง เราก็จดบันทึกเพื่อไปทบทวนต่อที่บ้าน ครูสอนสนุกมีการเอนเตอร์เทน มีบทเพลงช่วยจำคำศัพท์ง่ายๆ ต่างกับอาจารย์ที่โรงเรียนเน้นทฤษฎีบทเรียน ส่วนครูติวเตอร์แนะนำแบบสรุปแล้วให้เข้าใจง่ายมากขึ้น
“ในอนาคตอยากเป็นผู้พิพากษา ชอบความยุติธรรม อยากช่วยเหลือคน มีแรงบันดาลใจมาจากคุณพ่อที่เป็นตำรวจ และอยากขอบคุณ สพฐ.ที่จัดทำโครงการรินน้ำใจสู่น้องชาวใต้ อยากจะให้จัดกิจกรรมดีๆ เพื่อรุ่นน้องต่อไป” ชญานิศ กล่าว
เช่นเดียวกับ น.ส.จิวารีย์ มะลี นักเรียนชั้น ม.6 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล บอกว่าโครงการนี้มีความสำคัญมาก เพราะการเรียนในห้องเรียนมีหลายบทเรียน บางครั้งเรายังไม่เข้าใจในบทเรียนนั้นดีพอ แต่เมื่อได้มาติวเพิ่มก็ทำให้เราสามารถเข้าใจบทเรียนนั้น ๆ ได้ดีมากขึ้น คือครูติวเตอร์จะมีเทคนิคและก็ความรู้ดีๆ มามอบให้ ซึ่งทำให้เราเรียนสนุกขึ้น ทำให้เราสามารถเข้าใจอะไรได้ง่ายขึ้น และสามารถนำมาใช้ในการสอบได้ เหมือนการสอบ บางทีก็มีหลายเรื่องที่เราต้องอ่าน แต่ถ้าเราอ่านเยอะไปก็จำไม่ได้ หรืออาจหลงลืมบ้าง แต่ถ้าเรามีเทคนิคแล้วการจำก็จะง่ายขึ้นและจำได้นาน
“หนูคิดว่าโครงการนี้มีประโยชน์ สำหรับนักเรียน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เราสามารถใช้ความรู้ที่เราได้รับมาทำข้อสอบให้ดีขึ้น และอีกอย่างก็คือถ้าคะแนนสอบของเราดีขึ้น ก็สามารถยกระดับสถานศึกษาให้มีมาตรฐานมากขึ้น และอยากมีโครงการดีๆ แบบนี้ต่อไป ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีของเด็ก3จังหวัดชายแดนใต้ ที่ได้มาติวความรู้เพิ่มเติม กับครูติวเตอร์ที่เอ่าความรู้และเทคนิคดีๆ มาฝาก ส่วนตัวหนูอยากเรียนด้านเทคนิคการแพทย์ เพราะได้ทำงานในสายสุขภาพ และในโรงพยาบาล อยากนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตัวเองต่อไป“น.ส.จิวารีย์ กล่าว
สำหรับเหล่าติวเตอร์ที่ทำงานร่วมกับโครงการนี้มานานอย่าง “กุลนาถ ทีปประพันธ์ณี” ติวเตอร์วิชาคณิตศาสตร์ กล่าวว่าปีนี้เป็นปีที่ 10 แล้วที่มาสอนน้องๆ ที่ปัตตานี ถามว่ารู้สึกอย่างไรก็ต้อบอกว่าเหมือน ทุกๆ ปี คือประทับใจ อยากจะบอกน้องๆ หลายคนว่าโครงการนี้ดีมากๆ ดีตรงที่ได้เห็นตัวเราเป็นๆ เราได้ให้กำลังใจใกล้ชิดเขา ทำให้เขารู้สึกว่า คณิตศาสตร์ที่เขาว่ายาก พอเข้าใจสูตร รู้ว่าทำยังไง สำคัญคืออ่านโจทย์ให้ครบเพราะปัญหาส่วนใหญ่คือมักจะอ่านไม่ครบ แต่ถ้าอ่านดีๆ มันไม่ได้ยากขนาดนั้น โดยเฉพาะการสอบ O-Net สอบได้แค่ครั้งเดียวเพราะฉะนั้นต้องทำให้ดีที่สุด ซึ่งเด็กๆ แฮปปี้มากขึ้น
“อยากให้ทุกคนตั้งใจ เรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่วัดกันที่ความขยัน จัดเวลาให้ดี ต้องแบ่งเวลาทุกวันต้องมีเวลาอ่านหนังสือ ทำโจทย์ พยายามฝึกไป สิ่งที่ให้เราทำจนเป็นนิสัยและเป็นเคล็ดลับที่ทำให้เราไม่ลืมสูตรคณิตศาสตร์ วันหนึ่งต้องอยู่ให้ได้อย่างน้อย1ชั่วโมง ทำอย่างนี้ทุกวันจะเป็นนิสัย สุดท้ายครูขอฝากไว้ว่าคณิตศาสตร์ที่ทุกคนบอกยาก ถ้าเราตั้งใจ เราขยัน มีความมานะ ทุกคนจะทำได้สำเร็จ ขอให้ทุกคนโชคดีในการเข้าสอบมหาวิทยาลัยในปีนี้” กุลนาถ กล่าว
ด้าน “กรกฤช ศรีวิชัย” เป็นติวเตอร์วิชาวิทยาศาสตร์ บอกว่าดีใจที่ได้กลับมาติวให้น้องๆ อีกครั้ง ขอให้ทุกคนรักษาความดี ตั้งใจเรียนแบบนี้ไปตลอด ครูสัญญาว่าจะกลับมาสอนทุกปี ขอให้ทุกคนเก็บมาตรฐาน เก็บความรู้ที่ครูมอบให้ แล้วก็ตั้งใจนำความรู้ที่ได้ในวันนี้กลับไปใช้ในการทำข้อสอบเพื่อกลับมาพัฒนาบ้านของเรา
หลายปีผ่านมา ผลสัมฤทธิ์ที่ได้เป็นที่น่าพอใจอย่างยิ่งนักเรียนในเขตพื้นที่เสี่ยงภัย 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้สามารถเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาเพิ่มขึ้นเป็น 100 % และที่สำคัญยังได้รับความสนใจจากผู้ปกครองและนักเรียน เข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากในแต่ละปี ทั้งหมดนี้ เกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานทุกภาคส่วน และความเสียสละของครูติวเตอร์ทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ที่เดินทางมาช่วยสอนเสริมให้กับนักเรียน โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ทำให้โครงการนี้ดำเนินมาได้ด้วยดีและประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์
เมื่อคุณภาพการศึกษาในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง นักเรียนมีความพร้อมและมีศักยภาพทางวิชาการ ได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ก็จะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาในพื้นที่ดังกล่าวสูงขึ้น
**************
(ข้อมูล : มาดีฮะ เลาะห์มะลี )
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ