วารินทร์ พรหมคุณ
สกสค.จะอยู่หรือไป…อยู่ในกำมือ”ครู”
ภายหลังมีขบวนการโหมข่าวร้องเรียนความไม่โปร่งใสในการดำเนินโครงการต่าง ๆ ในสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน สกสค.) ทำนองว่า..ครูถูกเอารัดเอาเปรียบ จากธนาคารออมสิน และบริษัทประกันภัย
ล่าสุดตามข่าวว่า ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสกสค.ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เรื่องการหักเงินสนับสนุนพิเศษตามโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา(ช.พ.ค.) และการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีคู่สมรสถึงแก่ชีวิต(ช.พ.ส.) ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการ สกสค. ที่มี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นประธาน ซึ่งให้ยกเลิกบันทึกข้อตกลง(เอ็มโอยู) ที่นายเกษม กลั่นยิ่ง อดีตเลขาธิการ สกสค.ได้ทำสัญญาและหนังสือยินยอมไว้ รวมถึงให้ยุติการหักเงินสนับสนุนพิเศษจากโครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค.และขอให้ธนาคารออมสิน คืนเงินที่หักไปแล้วแก่สำนักงาน สกสค.
อย่างไรก็ตาม หากจะถามว่าทำไมครูถึงเป็นหนี้สินกันมาก คงไม่มีใครตอบได้แน่ชัด แต่สาเหตุหนึ่ง เพราะคนที่มาเป็นครูส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่มีรายได้น้อย มีภาระต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ต้องส่งลูกหลานเรียนหนังสือ แถมยังต้องผ่อนบ้าน ผ่อนรถ และยังมีภาษีสังคมอื่น ๆ อีกมากมาย แม้แต่การขอโยกย้ายราชการ ก็ยังมีกระแสข่าวอยู่เสมอว่าต้องเตรียมค่าโน่น..นี่..นั้น เป็นตัวเลขอย่างน้อย 6หลัก เพื่อเบิกทางให้การขอย้ายสะดวกขึ้นบ้าง
ดังที่ตกเป็นข่าวเมื่อ 3-4 ปี ที่ผ่านมาว่า ศธ.โดยคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) กำลังสอบสวนกรณีได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาว่า มีคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษาบางแห่ง เรียกรับเงินจากการโยกย้าย ซื้อขายตำแหน่งต่างๆ และวิ่งเต้นให้ได้วิทยฐานะ และยังเคยมีกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการโยกย้ายไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์กำหนด จนศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ฯ ทั้งคณะโดยไม่รอลงอาญามาแล้ว
และทั้งหลายทั้งมวลเหล่านี้จะเป็นสาเหตุของการชะลอการพิจารณาอนุมัติให้สมาชิก ช.พ.ค.ใช้สิทธิกู้เงินตามโครงการสวัสดิการเงินกู้สมาชิก ช.พ.ค.รอบใหม่ออกไปก่อน โดยให้เหตุหลัก 3 ประเด็น คือ
เหตุผลที่ 1.กรณีมีสมาชิก ช.พ.ค.ซึ่งเป็นผู้กู้ ร้องเรียนว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ในการกู้ยืมเงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. กรณีเงื่อนไขดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ที่รับทำประกันสินเชื่อ ซึ่งเรื่องนี้นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เมื่อครั้งปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงาน สกสค.ได้เชิญบริษัท ทิพยประกันภัยฯ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มาหารือ ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า เนื่องจากผู้รับผลประโยชน์ คือธนาคารออมสิน ในฐานะเป็นเจ้าของเงินกู้ ซึ่งเป็นเงินก้อนใหญ่ วงเงินกู้ 2-3 ล้านบาท ต้องสร้างหลักประกัน และมีข้อเสนอให้ทำประกัน แต่เพราะการทำประกันชีวิต ต้องจ่ายเบี้ยประกันในอัตราสูง จึงได้มีข้อเสนอให้ทำเป็นโครงการพิเศษเป็นประกันอุบัติเหตุ สุขภาพ และสินเชื่อ โดยเก็บล่วงหน้า 9 ปี เพราะมีความครอบคลุมและเสียเบี้ยประกันน้อยกว่า ขณะที่ทายาทก็ไม่ต้องรับภาระหนี้
แต่เมื่อมีผู้ร้องเรียนว่าเบี้ยประกันมีวงเงินสูงเกินไป ควรต้องมีการปรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์การปล่อยกู้หรือไม่ซึ่งขณะนั้นนายพินิจศักดิ์ ได้ขอให้ คปภ.ช่วยไปกำหนดเพดานการเก็บเงินเบี้ยประกันแต่ละประเภทว่า ควรอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะแต่ละประเภทเก็บไม่เท่ากัน ทั้งประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุรวมถึงประกันสุขภาพ และสินเชื่อ ซึ่งทาง คปภ.จะต้องนำเรื่องเข้าหารือกับธนาคารออมสิน ถึงความเป็นไปได้ในการปรับเงื่อนไขการปล่อยกู้ก่อน
เหตุผลที่ 2.ในกรณีมีสมาชิกผู้กู้แสดงความกังวลว่า หากเสียชีวิตแล้วทายาท อาจจะไม่ได้รับผลประโยชน์ กรณีนี้นายพินิจศักดิ์ ระบุว่าได้มีการตรวจสอบในเบื้องต้นแล้วว่า ในการบริหารจัดการเงิน ช.พ.ค.ตามปกติมีกำหนดรอบระยะเวลาการแจ้งสมาชิกเสียชีวิตทุกเดือน ว่าทายาทจะได้รับเงินเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 9แสนบาทต่อคน และจะมีการหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายไม่เกินร้อยละ 4 ตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ว่าด้วยการฌาปนกิจสงเคราะห์ของส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรวิชาชีพ ซึ่งเป็นนิติบุคคล ที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐ พ.ศ.2547 อาทิ เป็นค่าบริหารจัดการ ค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ในการดำเนินการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและสำนักงาน สกสค.จังหวัด ค่าผ้าไตร พวงหรีด เป็นต้น ที่เหลือก็จะจ่ายให้แก่ทายาท
โดยในการจ่ายเงินให้ทายาทจะแบ่งเป็น 2 งวด โดยงวดแรกจะจ่ายทันที 2แสนบาท สำหรับเป็นค่าจัดการศพของสมาชิกที่เสียชีวิต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 7แสนบาท จะจ่ายในงวดถัดไปภายในเวลา 30 วัน นับแต่การประกาศรายชื่อ ตามรอบระยะเวลาการแจ้งถึงแก่กรรม ซึ่งกำหนดให้ประกาศรายชื่อ ในวันที่ 25 ของทุกเดือน ที่สำนักงาน สกสค.จังหวัด และขึ้นไว้บนเว็บไซต์ สกสค. www.otep.go.th และที่ผ่านมา ไม่เคยมีทายาทคนใดไม่ได้รับเงินหลังสมาชิก ช.พ.ค.เสียชีวิต แต่อาจจะมีปัญหาล่าช้าบ้างในกรณีต่างๆ อาทิ มีการร้องคัดค้านกรณีสมาชิกเสียชีวิตด้วยการฆาตกรรม เป็นต้น ซึ่งกรณีเหล่านี้ เมื่อกระบวนการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ช.พ.ค.ก็จ่ายเงินให้ทันที
และเหตุผลสุดท้าย คือ การดำเนินการกับผู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ธนาคารออมสิน ซึ่งเวลานี้มียอดชำระน้อยกว่ายอดค้างชำระ เนื่องจากพบว่ามีการสื่อสารอย่างไม่ถูกต้องว่า “ไม่ต้องนำเงินมาชำระหนี้” เพราะ สกสค.ได้รับเงินคืนจากธนาคารออมสิน ส่วนหนึ่ง และมีเงินสำรองจ่ายแทนอยู่แล้วอีกส่วนหนึ่ง ทั้งที่เงินจำนวนดังกล่าวต้องใช้ในการบริหารจัดการต่างๆ
ดังนั้น เมื่อมีคนยุ!! ให้เบี้ยวผ่อนหนี้ธนาคารออมสิน โดยมีกระบวนการสื่อสารให้สมาชิกที่เป็นผู้กู้เงินโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค.เบี้ยวผ่อนชำระหนี้ คืนธนาคารออมสิน จนถึงวันนี้มีครูเบี้ยวหนี้แล้วกว่า 65,000 ราย และขณะนี้ก็มีกลุ่มข้าราชการครูที่เริ่มเคลื่อนไหวทยอยยื่นขอหน่วยงานต้นสังกัด ไม่ให้หักเงินเดือนมาผ่อนชำระหนี้ และบางรายยังไปกู้เงินสหกรณ์ออมทรัพย์ครู เพื่อไม่ให้มีเงินเดือนเหลือหักให้ธนาคารออมสินด้วย
ถึงตรงนี้ถ้าทีมบริหารสำนักงาน สกสค.ยังไม่สามารถหยุดปัญหาได้…แน่นอนว่าปัญหาหนี้สินครูจะเรื้อรังไปอีกยาวนาน เพราะปัญหาหนี้สินครูไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น และไม่ว่ารัฐบาลไหนเข้ามาบริหาร ก็ไม่เคยมีใครแก้ปัญหาได้ เรียกว่า”ไม่รอดซักราย” และตอนนี้ครูเป็นหนี้ธนาคารออมสินรวมกันถึงไม่น้อยกว่า 4.4 แสนล้านบาท
สุดท้ายธนาคารออมสิน อาจเจอกับภาวะหนี้เสียขั้นรุนแรง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมา คือธนาคารออมสิน อาจยื่นฟ้องศาล เพื่อดำเนินคดีกับสมาชิกครู…ที่เบี้ยวผ่อนชำระหนี้
…เรื่องนี้ต้องติดตาม
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ