วารินทร์ พรหมคุณ
“สื่อ 60 พรรษา” ช่วยการเรียนรู้ง่ายแก่ครู นักเรียน
ผลสำเร็จจาก รร.พื้นที่เกาะแก่ง จ.สตูล
จังหวัดสตูล เป็นจังหวัดชายแดนเล็ก ๆ บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันทางภาคใต้ของประเทศไทย ล้อมรอบไปด้วยเกาะแก่งที่งดงามเป็นที่กล่าวขาน ทั้งยังอุดมด้วยธรรมชาติป่าเขาที่สมบูรณ์ มีชายฝั่งทะเลยาว 80 กิโลเมตร …
จากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและเก็บข้อมูลการจัดการศึกษาของโรงเรียนบ้านเกาะบูโหลนดอน โรงเรียนบ้านเกาะบูโหลนเล โรงเรียนบ้านเกาะอาดัง โรงเรียนบ้านตันหยงกลิง โรงเรียนบ้านตันหยงอุมา และอีกหลาย ๆ โรงบนเกาะต่าง ๆ ในจังหวัดสตูล ของทีมผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)
ดร.บุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.)กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ร่วมกับ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการ รมวศึกษาธิการ รศ.นพ.โศภณ นภาธร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) และผู้แทนมูลนิธิชัยพัฒนา เพื่อดูการจัดการศึกษาของโรงเรียนบนเกาะในจังหวัดสตูล เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า พื้นที่เหล่านี้เป็นอีกพื้นที่ที่มีรูปแบบของปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาโอกาสทางการศึกษาของเด็กบนพื้นที่เกาะแก่ง การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เห็นสภาพที่แท้จริงในการจัดการศึกษาของพื้นที่ ที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ได้ไปดูโรงเรียนบนพื้นที่สูงมาแล้ว ส่วนครั้งนี้เป็นการมาดูโรงเรียนบนเกาะ ทำให้เห็นสภาพที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในการวางนโยบายการจัดการศึกษา เพื่อให้เกิดโยชน์และประสิทธิภาพสูงสุด
ทั้งนี้ จากการติดตาม พบว่า ทุกโรงเรียนมีโอกาสได้ใช้สื่อและชุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ “โครงการจัดทำสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” หรือที่เรียกกันว่า “สื่อ 60 พรรษา”หรือ”สื่อสมเด็จพระเทพฯ” ซึ่งเป็นสื่อบูรณาการที่ออกแบบมาเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนที่ขาดแคลนครู โดยมีรูปแบบกิจกรรม การจัดเรียนการสอนที่ชัดเจนซึ่งได้ผลดีมาก ดังนั้น ปีการศึกษา 2561 สพฐ.จะขยายผลนำสื่อ 60 พรรษาส่งต่อไปยังโรงเรียนขนาดเล็กหมื่นกว่าโรงทั่วประเทศ
ดร.สุชาติ วงศ์สุวรรณ ที่ปรึกษาสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี หนึ่งในคณะทำงานจัดทำสื่อ 60 พรรษาสมเด็จพระเทพฯ กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเห็นปัญหาของการจัดการศึกษาในพื้นที่ทรงงานซึ่งเกือบทั้งหมดจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีจำนวนนักเรียนน้อย และมีครูไม่ครบชั้น จึงมีแนวพระราชดำริให้มีการจัดสร้างสื่อและออกแบบกิจกรรม เพื่ออำนวยความสะดวก หรือ ช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูไม่ครบชั้น ให้สามารถจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสำนักงานโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นเจ้าภาพหลัก และมีหน่วยงานต่าง ๆ เข้าไปร่วม เช่น สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) แล้วเชิญผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงครูของ สพฐ.โดยเฉพาะครูจากโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบความสำเร็จในการจัดการศึกษาได้อย่างมีประสิทธิภาพมาช่วยกันออกแบบกิจกรรม และสื่อสำเร็จ
ดร.สุชาติ บอกอีกว่า สื่อและกิจกรรมสำเร็จนี้ถูกคิดและออกแบบโดยทำเป็น 2 ช่วงชั้น คือ ป.1-3 และ ป.4-6 โดยจัดทำครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่มี 8 กลุ่มสาระการเรียน เพียงแต่มาจัดกลุ่มใหม่เป็นกลุ่มวิชาหลัก 4 วิชา คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ส่วนอีก 4 วิชา คือ ศิลปะ พลศึกษา สังคมศึกษา และการงานอาชีพ เป็นวิชากลุ่มบูรณาการ ทำให้ได้สื่อ 5 ชุดการเรียนรู้ แล้วมาออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมของแต่ละช่วงชั้น โดยมีทั้งกิจกรรมเดี่ยว กิจกรรมกลุ่ม กลุ่มย่อย กลุ่มใหญ่ และที่สำคัญมีการวัดผลทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน คือ ทำทุกอย่างเหมือนหลักสูตรปกติ
ส่วนการนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนด้วยสื่อชุดนี้ จะไม่แบ่งเป็น ป.1 ป.2 ป.3 จะแบ่งตามศักยภาพของผู้เรียน ที่เรียกว่า ระดับพื้นฐาน ระดับพัฒนา ระดับก้าวหน้า ซึ่งกิจกรรมที่ถูกออกแบบมาจะมีความลุ่มลึกและเหมาะกับวัยและพัฒนาการของเด็ก จึงมั่นใจได้ว่าเด็กที่เรียนรู้ด้วยสื่อและกิจกรรมชุดนี้ได้เรียนครบตามที่หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนด โดยผ่านกิจกรรมจากสื่อสำเร็จชุดนี้
อย่างไรก็ตาม การใช้สื่อดังกล่าวได้มีการทดลองกลุ่มแรกใน 5 จังหวัด 8 เขตพื้นที่การศึกษา จำนวน 40 โรงเรียน จากนั้นได้มีการขยายผลไปยังกลุ่มโรงเรียนในพื้นที่ทรงงานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก และโรงเรียนกองทุนการศึกษา จำนวนกว่า 90 โรง แล้วได้มีการขยายผลไปในโรงเรียนขนาดเล็กของ สพฐ. โดยเฉพาะโรงเรียนตามเกาะ ต่าง ๆ อีกกว่า 800 โรงเรียน และทราบว่าปีการศึกษาหน้าทางมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จะขอพระบรมราชานุญาตนำไปออกอากาศสอนทางไกลผ่านดาวเทียม เพื่อขยายผลไปทั่วประเทศอีกด้วย
ครูนิสรีน หมาดหวัง ครูโรงเรียนบ้านตันหยงกลิง ต.เกาะสาหร่าย อ.เมืองสตูล กล่าวว่า สื่อชุดนี้ช่วยครูได้มาก ลดเวลาที่ต้องไปทำสื่อการสอนเอง ทำให้การจัดการเรียนการสอนง่ายขึ้น โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายไปหายาก ทำให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้นมาก ถือเป็นสื่อที่ดีจริง ๆ ทั้งครูและนักเรียน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ