รัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศนโยบายปฏิรูปประเทศ ขับเคลื่อนไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 โดยมีปัจจัยสำคัญคือเรื่องกำลังคน ตั้งแต่ระดับฝีมือแรงงานไปถึงระดับมันสมอง นักคิด นักวิจัยสร้างสรรค์ โดยมอบโจทย์ใหญ่ข้อนี้ให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปคิดสร้างหลักสูตรผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ให้สอดรับกับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายสู่ไทยแลนด์ 4.0
โดย 10 กลุ่มอุตสาหกรรม หลักแบ่งเป็น 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร และอีก 5 กลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย 1.อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ 2.อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ 3.อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัล 5.อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร
ศ.คลินิก นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ กล่าวถึงความคืบหน้าของหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ว่าหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะทำให้นิสิต นักศึกษา ต้องไปเรียนรู้ด้วยการฝึกงานกับภาคเอกชนเป็นเวลา 50% หรือครึ่งหนึ่งของเวลาเรียนทั้งหมด เช่น หลักสูตร 4 ปี ต้องเรียนในมหาวิทยาลัย 2 ปี อีก 2 ปี ต้องไปเรียนรู้กับภาคเอกชนหรือสถานประกอบการ โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยตามไปประกบสอนด้วย ขณะเดียวกันภาคเอกชนก็ต้องส่งบุคลากรไปเป็นอาจารย์พิเศษ ประจำหลักสูตร ช่วยสอนช่วยฝึก ในแต่ละวิชาชีพตามมาตรฐานของเอกชน และที่สำคัญต้องช่วยวางแผนให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการในแต่ละสาขาด้วย
ศ.คลินิก นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ส่วนมหาวิทยาลัยที่จะเปิดหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ต้องมีพื้นฐาน มีคณาจารย์รองรับ หลักสูตรทั้งหมด ต้องมีมาตรฐาน มีคุณภาพ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) รับปากจะเร่งดูในเรื่องของมาตรฐานหลักสูตรต่าง ๆ ตลอดจนประสานกับสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อพิจารณาค่าตอบแทน (เงินเดือน) ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จะเข้ามาช่วยเสนอแนะความต้องการในการผลิตบัณฑิตด้านต่าง ๆ ด้วย
โดยหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะทำให้มหาวิทยาลัยโฟกัสผลิตบัณฑิตตามศักยภาพ ความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่งและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ โดยมหาวิทยาลัยที่ผ่านการพิจารณา จะได้รับการสนับสนุนงบประมาณพิเศษให้จนกว่ามหาวิทยาลัยจะตั้งตัวได้ และจะต้องดำเนินการจัดทำหลักสูตรให้แล้วเสร็จภายใน 6-8 อาทิตย์ เพื่อเปิดรับนักศึกษาได้ทันทีในเดือน พ.ค. และเปิดการเรียนการสอนในเดือน มิ.ย. แค่หากมหาวิทยาลัยไหนเปิดไม่ทันก็ให้เลื่อนถึงเดือน ก.ค.นี้ได้
หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ จะทำให้มหาวิทยาลัยโฟกัสผลิตบัณฑิตตามศักยภาพ ความเชี่ยวชาญของแต่ละแห่ง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ
ศ.คลินิก นพ.อุดม ยังกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เรายังปรับปรุงหลักสูตรอาชีวศึกษาให้มีคุณภาพระดับสูง เป็นหลักสูตรอาชีวะนักเทคโนโลยีพันธุ์ใหม่ ซึ่งในส่วนของอุดมศึกษาต้องปรับหลักสูตรที่เชื่อมโยงกับอาชีวะ ขณะเดียวกันจะต้องพัฒนาศักยภาพคนไทย ทั้งบัณฑิตและคนวัยทำงานให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มการแข่งขันของประเทศ นำไปสู่การเพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) พร้อมที่จะก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ในเบื้องต้นคนวัยทำงานซึ่งเป็นแรงงานสำคัญ ที่ส่วนใหญ่จบระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ต้องพัฒนาศักยภาพแบบก้าวกระโดดให้มีคุณภาพระดับนานาชาติ ในส่วนของอาชีวศึกษา จะมีต้นแบบการพัฒนาคือ ประเทศญี่ปุ่นและเยอรมนี
ทั้งนี้อาชีวะจะเริ่มดำเนินการใน 7 หลักสูตร ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติมานำร่องพัฒนา คือ 1.ระบบการขนส่งทางราง สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 2 แห่ง 2.ช่างอากาศยาน สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 5 แห่ง 3.แมคคาทรอนิกส์ สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 1 แห่ง 4.หุ่นยนต์อุตสาหกรรม สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 6 แห่ง 5.เทคนิคพลังงาน สถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 4 แห่ง 6.การเทคโนโลยีการท่องเที่ยว มีสถานศึกษาที่พร้อมเข้าร่วม 6 แห่ง และ 7.โลจิสติกส์ ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาความพร้อมของสถานศึกษา
อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของสถานศึกษาที่มีความพร้อมดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด เพราะต้องพิจารณาขีดความสามารถที่แท้จริงประกอบด้วย การดำเนินการจะไม่ทำปูพรมทั้งหมด จะคัดเลือกสถาบันอาชีวะที่มีความพร้อม หรือมีการทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมอยู่แล้วมานำร่องก่อน โดยรัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณ จัดการศึกษารายหัว เช่นเดียวกับการผลิตแพทย์ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ไปคำณวนปริมาณความต้องการในแต่ละสาขา รวมทั้งให้คำนวณงบฯ สนับสนุน และงบฯ ต้นทุนการจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรจากรัฐบาลต่อไป
ขณะที่มหาวิทยาลัยที่พร้อมเปิดหลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ อย่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) โดย รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี กล่าวว่า มทร.ธัญบุรี มีเป้าหมายต่อยอดศักยภาพผู้เรียนสายอาชีวศึกษา ที่จบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้เข้าเรียนต่อเนื่องในระดับปริญญาตรี ประกอบด้วย 6 สาขา คือ 1.แมคคาทรอนิกส์ 2.ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.คอมพิวเตอร์ 4.นวัตกรรมสุขภาพ ของวิทยาลัยการแพทย์แผนไทย 5.สมาร์ทฟาร์ม และ 6.โครงการที่เกี่ยวกับการพัฒนาครู ได้แก่ การพัฒนาการเรียนการสอนรูปแบบเยอรมัน ที่มุ่งเน้นการผลิตครูช่าง ซึ่งที่ผ่านมา มทร.ธัญบุรี ได้ส่งอาจารย์ไปอบรม หรือที่เรียกว่าไมเซอร์ที่ประเทศเยอรมนี และสอบไลเซนส์มาตรฐานเยอรมัน และการพัฒนาครูรูปแบบฟินแลนด์โมเดล
ซึ่งแต่ละหลักสูตรจะตอบโจทย์เป้าหมายการผลิตและพัฒนากำลังคนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ 1.อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ 2. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี 4.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ 5.อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร ทุกหลักสูตรเน้นที่การต่อยอดผู้เรียนที่จบอาชีวะให้ได้รับการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศในสายอาชีพเฉพาะด้านจะใช้เวลาเรียน 2 ปี และจะรับสมัครนักศึกษาด้วยวิธีการรับตรง ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาก็เป็นไปตามปกติ
“ผมคิดว่าน่าจะทำโครงการนี้ให้เป็นโครงการระยะยาว เพราะจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวในการผลิตและพัฒนากำลังคนที่จะช่วยพัฒนาประเทศ ซึ่งเชื่อว่าในระยะต่อไปมหาวิทยาลัยต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มราชมงคลที่กระจายอยู่ในภูมิภาคต่างๆ และมีความพร้อมก็จะได้เตรียมการยื่นสมัครเข้าร่วมโครงการนี้ด้วย”
อธิการบดี มทร.ธัญบุรี กล่าวด้วยว่า ขณะนี้ มทร.ธัญบุรี ได้ส่งหลักสูตรการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมตรวจสอบหลักสูตร เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในเดือน เม.ย. ก่อนเปิดรับสมัครในวันที่ 9 -13 พ.ค.และเปิดสอนได้ในทันเดือน มิ.ย.นี้แน่นอน
หลักสูตรบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ถือเป็นโปรเจกต์ทางการศึกษาที่ลงมือทำเร็วก็จะได้เห็นผลเร็วทันตาไทยแลนด์ 4.0 คงไม่เกินรอ
@ วารินทร์ พรหมคุณ
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ