วารินทร์ พรหมคุณ
อาชีวะเกษตรมหาสารคาม ชูเรียนเกษตรยุคใหม่ Project based learning
โครงการอาชีวศึกษาเพื่อพัฒนาชนบท หรือ อศ.กช. เดิมเป็นโครงการอาชีวศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบท สำหรับประชาชนวัยทำงานด้านอาชีพเกษตรกรรม โดยรับผู้ที่จบระดับชั้น ป.6เข้าศึกษา ต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพพิเศษ ประเภทวิชาเกษตรกรรม หลักสูตร 5ปี ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยสถานศึกษาจัดครูไปสอนที่แหล่งเรียนรู้ชุมชน และในฤดูกาลที่ว่างจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม แต่ไม่สามารถใช้วุฒิการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นได้
ต่อมามีการปรับหลักสูตรเป็นรับผู้ที่จบการศึกษา ม.3เข้าศึกษาต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)เกษตรกรรม หลักสูตร 3ปี เป็นการจัดการศึกษาให้แก่ประชาชนทั่วไปที่สำเร็จการศึกษา ชั้น ม.3เข้าเรียนต่อระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สาขาการเกษตร จัดการเรียนการสอนทั้งในระบบเทียบโอนหน่วยกิต และการเรียนรู้ตามอาชีพ เริ่มดำเนินการมาตั้งปี 2530 ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี 47 แห่งทั่วประเทศ
นายอภิมุข ศุภวิบูลย์ รอง ผอ.วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี(วษท.)มหาสารคาม กล่าวถึงการเรียนการสอนของ อศ.กช. แต่ละวิทยาลัยจะแตกต่างกัน บางวิทยาลัยมุ่งเน้นที่จะให้เกษตรกรได้วุฒิการศึกษา ปวช.ก็จะเรียนแบบนักเรียนทั่วไป บางวิทยาลัยต้องการให้วุฒิเร็วก็จะสอนแบบเทียบโอน
แต่สำหรับ วษท.มหาสารคาม ผู้เรียนจะเป็น “เกษตรกร”วุฒิการศึกษา เป็นเพียง “โบนัส” อาชีพต่างหากที่เป็นสิ่งที่เกษตรกรอยากได้
ดังนั้น วษท.มหาสารคาม จึงต้องพัฒนาอาชีพให้กับเกษตรกร โดยให้เกษตรกรเป็นผู้เลือกเรียนอาชีพร่วมกับวิทยาลัยในแต่ละภาคเรียน เช่น ภาคเรียนที่แรกเรียนเรื่องการเลี้ยงสัตว์ใหญ่ ก็จะเรียนการดูแลเอาใจใส่ รักษา แต่พอมาภาคเรียนที่สอง เรียนเรื่องการขยายพันธุ์พืช ก็จะเรียนเรื่องน้ำหมัก การทำปุ๋ย เป็นต้น ซึ่งแต่ละหมู่บ้านจะเรียนไม่เหมือนกัน เพราะลักษณะภูมิประเทศไม่เหมือนกัน และตอนนี้วิทยาลัยจะให้ครูภูมิปัญญาพื้นบ้านมาสอน ซึ่งเป็นเกษตรกรที่ชนะเลิศโครงการชีววิถี
ปัจจุบัน วษท.มหาสารคาม ได้ดำเนินโครงการอาชีวศึกษาเพื่อการพัฒนาชนบท โดยจัดการเรียนการสอนให้แก่ประชาชนและชุมชนที่สนใจ อาทิ ที่บ้านหนองโน ต.บ่อพาน อ.นาเชือก, บ้านหนองบัวชุม ต.นาภู อ.ยางสุราช และบ้านดอนมัน ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย ด้วยการจัดการเรียนการสอนที่แตกต่างจากสถานศึกษาอาชีวศึกษาเกษตรแห่งอื่น คือ จัดการเรียนการสอนแบบ Project based learning เน้นให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติภาคเรียนละ 1 อาชีพ ซึ่งรายวิชาที่ประกอบในแต่ละภาคเรียนนั้น ต้องมุ่งสู่อาชีพของผู้เรียน ได้แก่ อาชีพการเพาะเห็ด การเลี้ยงสัตว์ การทำนาและพืชไร่ การเลี้ยงสัตว์ใหญ่ การทำประมงน้ำน้อย และการแปรรูปผลิตภัณฑ์พืชและสัตว์
นางพิมพ์ปวีณ์ ศุภวิบูลย์ หัวหน้าแผนกเกษตรศาสตร์ วษท.มหาสารคาม กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่สาม ของการจัดตั้ง อศ.กช. ซึ่งเพิ่งเริ่มดำเนินการยังไม่ค่อยสมบูรณ์มากนัก เพราะเดิมให้ครูในวิทยาลัยมาสอน ซึ่งความเป็นมืออาชีพจะน้อยกว่าคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งจากความสำเร็จของโครงการฯ ที่เริ่มจากเป็นนวัตกรรมของการจัดกลุ่มอาชีพให้เขาเรียนกลุ่มวิชา มีอยู่ 6ภาคการเรียน เราก็จะจัดอาชีพ 3ปี ก็จะได้ 6อาชีพ และการเรียนทุกวิชา ไม่ว่าจะเป็นภาษาไทย ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ จะมีการบูรณาการเข้าสู่อาชีพทั้งหมด
ดังนั้น เมื่อเป็นการเรียนก้อนเดียวกัน ก็จะทำให้เขามีความรู้สึกว่าไม่ได้เรียนยากลำบากเหมือนเด็กนักเรียนปกติทั่วไป การบูรณาการเรียนแบบนี้ เนื่องจากเราเอาหลักสูตรมาคลี่ แล้วจัดกลุ่มวิชาให้เป็นไปตามหลักสูตร เพียงแต่ว่ารายวิชาเอื้อต่ออาชีพก็เลยทำให้เขาเรียนรู้ได้ง่าย เรียนแล้วเกิดอาชีพ เช่น ครูพุธ ทองลา เป็นเกษตรกรที่มีความรู้ประสบความสำเร็จในอาชีพเกษตรกร ผู้เรียนชอบมากเพราะสามารถนำความรู้ที่ได้ถ่ายทอดไปเป็นแนวทางประกอบอาชีพได้จริง ๆ
นายพุธ ทองลา ครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน พูดถึงการสอนมุ่งเน้นเรื่องการปฎิบัติ และดูจากสิ่งที่มีในท้องถิ่นปรึกษาปัญหาออกมาว่าเป็นอย่างไร เช่น ทุกวันนี้ดินเสื่อม เราต้องปรับปรุงดิน มีการขยายพันธุ์พืช สอนทำน้ำหมัก ไล่ศัตรูพืช เพราะพืชส่วนใหญ่จะมีแมลงซึ่งเราจะต้องหาวิธีไล่แมลง และทำน้ำหมักใช้เองซึ่งตรงนี้ก็มีอยู่แล้ว
ผู้เรียนที่เรียน อศ.กช.เรียนแล้ว ทำอาชีพแล้วก็สามารถตัดสินใจว่าทำอาชีพอะไร เพราะจะเห็นได้ว่าน้ำหมัก เขาสามารถทำเองได้ และได้ผลจริง ๆ ซึ่งตรงนี้ผมประทับใจมาก ตอนนี้ก็สอนเรื่องการทำน้ำหมัก ขยายพันธุ์พืช ทำปุ๋ยไปแล้ว และกำลังสอนเรื่องการทำระบบน้ำแบบสปิงเกอร์ ใช้เพิ่มแรงอัด สอนทำเครื่องวัดน้ำหมัก วัดดิน ซึ่งทั้งหมดลงทุนไม่แพง
“ผมจบปริญญาตรีการเกษตร หลังจากที่ทดลองทำเกษตรเอง และประสบความสำเร็จ ก็อยากจะมาถ่ายทอดวิชาแก่เกษตรกร ได้ใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ยึดกิจกรรม 4 ด้าน คือ พืช เลี้ยงสัตว์ ประมง และสิ่งแวดล้อม ซึ่งทุกส่วนล้วนเกี่ยวพันกันทั้งสิ้น ซึ่งตนได้นำความรู้ตรงนี้ที่เป็นประสบการณ์มาสอนนักเรียน สอนจากสิ่งที่ตนเองลงมือทำจริงๆ และก็มีความสุขด้วย มีลูกศิษย์เยอะ กลุ่มนี้ก็มี 53 คน เขาได้เปรียบเพราะถนัดเรื่องการสร้างอาชีพ ถ้าโครงการนี้ถ้าทำไปเรื่อย ๆ จะได้ผลยิ่ง ๆ ขึ้นไปเพราะเป็นการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรจริงๆ
ด้านนายทองใบ วงศ์เดือน นักศึกษาในโครงการ อศ.กช. กล่าวว่า ตนมีอาชีพทำไร่ ทำนาอยู่แล้ว แต่ทว่าทำไปก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเพิ่มขึ้น พอได้ข่าวว่ามีโครงการ อศ.กช. ที่ วษท.มหาสารคาม ก็มาสมัครเรียน หวังจะได้ความรู้เพิ่มเติม จากที่เลี้ยงวัว ทำนา กันมานาน พอได้มาเรียนความรู้ก็เข้ามามายกมาย เกิดความคิด อยากทำโน่น ทำนี่ อยากขยายพันธุ์พืช ทำน้ำหมักไล่แมลง
“ตอนนี้เข้าสู่ภาคเรียนที่สองแล้ว ผมเรียนกับครูพุธ ครูให้หมดทุกอย่างแล้ว ผมมาเรียนวิชาความรู้จากครูทั้งหมดที่สอน ไม่ยอมขาดเรียนเด็ดขาด เพราะถ้าขาดเรียนเราจะรู้ไม่ทันเพื่อน ผมมีความสุขกับการเรียน ผมมุ่งที่จะปฏิบัติให้ได้อาชีพมากกว่า สำหรับใบประกาศ ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความรู้เท่านั้น”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ