อีกหนึ่งผลงานของน้องๆ นักศึกษาในยุคนี้ ที่ทำให้รู้ว่าเด็กไทยสมัยนี้เก่งไม่แพ้ชาติใด
ด้วยผลงานนวัตกรรม ริสแบนด์ “จับใจ” ตรวจจับชีพจรสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยนายธนพจน์ ญาสมุทร นักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ น.ส.วิลาสินี เรืองอร่าม นักศึกษาสาขาวิชาสารสนเทศการแพทย์ นายอุดมศักดิ์ แสนสุด นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ วิทยาลัยนวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยรังสิต
ด้วยนวัตกรรม ริสแบนด์ “จับใจ” เพื่อตรวจจับชีพจรสำหรับผู้สูงอายุและผู้ป่วยโรคหัวใจ พร้อมแจ้งเตือนหากเกิดความผิดปกติเพื่อให้การช่วยเหลือได้ทันเวลา
แนวคิดในการสร้างสรรค์ ธนพจน์ว่า เริ่มจากมีความคิดว่าผู้สูงอายุเป็นโรคหัวใจและมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจจำนวนมาก อีกทั้งผู้สูงอายุมักอยู่บ้านเพียงลำพังเพราะลูกหลานไปทำงานและไปโรงเรียน หากมีอาการโรคหัวใจกำเริบหรือเสี่ยงเป็นลมก็จะไม่มีใครช่วยเหลือได้ทันท่วงที
ตนจึงชวนรุ่นพี่และเพื่อนร่วมกันเสนอไอดีเพื่อสร้างนวัตกรรมส่งเข้าร่วมประกวดเวที Startup Thailand 2017
สำหรับการทำงานของริสแบนด์ “จับใจ” คือ จะให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจสวมไว้ เพื่อตรวจจับชีพจร โดยส่งข้อมูลชีพจรผู้ป่วยผ่านบลูทูธที่เชื่อมต่อกับApplicationในSmart Phoneเพื่อประมวลผลค่าเฉลี่ยและเก็บสถิติชีพจรผู้ป่วย
หากเกิดความผิดปกติก็จะแจ้งเตือนไปยัง Application ของผู้ป่วยหรือญาติเพื่อให้เฝ้าระวังเป็นกรณีพิเศษ หรือเพื่อจะได้ช่วยเหลือได้ทันท่วงที เป็นต้น
แนวคิดของนวัตกรรมดังกล่าวได้รับรางวัลจากเวที Startup Thailand 2017 และได้นำเงินรางวัลมาพัฒนาต่อ ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาระบบหลังบ้านหาค่าสมการที่ถูกต้องของผู้ป่วย อาทิ เพศ อายุ น้ำหนัก การเต้นของชีพจร ฯลฯ และส่งผลไปยังเซิร์ฟเวอร์โรงพยาบาล เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับโรงพยาบาลในการเช็คประวัติผู้ป่วยได้ตลอดเวลา (เฉพาะผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาที่โรงพยาบาลที่เข้าร่วม)
หลังจากการเสนอไอเดียได้มีโรงพยาบาลหลายแห่งให้ความสนใจที่จะนำไปใช้กับผู้ป่วยโรคหัวใจ นอกจากนี้ ผลงานดังกล่าวได้นำเสนอไอเดียในงานประชุมวิชาการระดับชาติ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 6 และได้รับรางวัลนวัตกรรมดี ทั้งยังได้ทุนสนับสนุนจาก ทรู อินคิวบ์ ในการพัฒนาต่อ โดย ทรู อินคิวบ์ จะเข้ามาช่วยวางแผนการทำงานและตรวจสอบความคืบหน้าเป็นระยะ
อีกทั้งยังมีพาร์ทเนอร์นับสนุนฮาร์ตแวร์ ทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัย ให้คำแนะนำด้านการตลาด และดูแลภาพรวมของการบริหารจัดการธุรกิจในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
วิลาสิณี, ธนพจน์, อุดมศักดิ์ (จากซ้ายไปขวา)
“การที่ไอเดียของเราสามารถนำมาพัฒนาต่อเป็นนวัตกรรมได้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจอย่างมาก ทำให้มีแรงผลักดันและตั้งใจสร้างนวัตกรรมให้ออกมาสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว คาดว่าน่าจะพร้อมเปิดตัวเดือนธันวาคมนี้
การทำงานทุกขั้นตอนถือเป็นประสบการณ์ที่สำคัญมากที่ไม่สามารถหาได้ในห้องเรียน โดยเรานำสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ หาความรู้เพิ่มเติมโดยใช้เวลาว่างหลังเลิกเรียน นอกจากนี้ ยังได้เรียนรู้สายงานด้านอื่นๆ เช่น การบริหารจัดการ การเขียนแผนธุรกิจ และการทำการตลาด ฯลฯ
รวมทั้งคำแนะนำต่างๆ ที่ได้จากคณะกรรมการถือว่าสำคัญมาก ทำให้เรารู้ว่าชีวิตจริงนั้น กว่าที่จะผลิตผลงานสู่ท้องตลาดและให้คนยอมรับนั้นไม่ง่ายเลย แต่พวกเรากำลังจะทำให้สิ่งนั้นเป็นจริง” ธนพจน์ทิ้งท้าย
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ