27 เมษายน 2564 | โดย ทีมข่าวคุณภาพชีวิต
827
จากการสังเกตผู้เสียชีวิตจากการระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ พบว่า ปัจจัยเสี่ยงส่วนใหญ่ ได้แก่ “โรคอ้วน” และ NCDs หลายราย “อายุน้อย” โดยภาพรวมระลอก เม.ย. พบผู้เสียชีวิตอายุเฉลี่ย 29 ปี ต่างจากระลอกที่ผ่านมาซึ่งผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นสูงอายุ
จากรายงาน ผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 เฉพาะในวันที่ 25 เม.ย. 64 จำนวน 11 ราย พบว่า ส่วนใหญ่ มีโรคประจำตัว คือ โรคอ้วน ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง มากถึง 9 ราย ได้แก่
รายที่ 1 ชายไทยอายุ 27 ปี จากกทม. มีภาวะเบาหวาน และ โรคอ้วน
รายที่ 2 หญิงไทย อายุ 34 ปี จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัวเป็นไซนัสอักเสบ และโรคอ้วน
รายที่ 3 ชายไทย อายุ 69 จ.ปทุมธานี มีโรคประจำตัว ความดันโลหิตสูง และเก๊าท์
รายที่ 4 หญิงไทย อายุ 62 ปี จ.สุโขทัย มีโรคประจำตัวความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือด
รายที่ 5 ชายไทย อายุ 70 ปี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้ป่วยติดเตียง มีโรคประจำตัว เบาหวาน ไตวายเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง
รายที่ 6 ชายไทย อายุ 45 ปี จ.นครพนม มีโรคประจำตัวเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน
รายที่ 7 ชายไทย อายุ 35 ปี จ.นครราชสีมา มีโรคประจำตัว โรคอ้วน
รายที่ 8 ชายไทย อายุ 34 ปี กทม. มีโรคประจำตัวเบาหวาน และโรคอ้วน
รายที่ 10 ชายไทย อายุ 35 ปี กทม. มีโรคประจำตัวโรคอ้วน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : สธ. พบ ‘โรคอ้วน’ – ‘อายุน้อย’ ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิตในผู้ป่วยโควิด ระลอกเม.ย.
- “โรคอ้วน” กับอันตรายจากโควิด 19
แม้ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ยืนยันว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนเสี่ยงติดโควิด 19 มากกว่าคนปกติ แต่ในทางการแพทย์พบว่าคนกลุ่มนี้มีภูมิคุ้มกันต่ำ ถ้าติดโควิด 19 อาจจะมีอาการรุนแรงและเสียชีวิตง่ายกว่าคนที่สุขภาพแข็งแรง ดูได้จากปรากฏการณ์การระบาดของโรคติดเชื้ออื่น เช่น ไข้หวัดใหญ่ ทำให้คนอ้วนจัดเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรงกลุ่มแรก ๆ เพราะคนอ้วนจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงแรก ๆ ที่เป็นโรคต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs
เว็บไซต์ โรงพยาบาลกรุงเทพ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับ “เบาหวาน อ้วน รู้ทันความเสี่ยง COVID-19” ว่า ผู้ป่วยโรคอ้วนมักจะมีโรคร่วมหรือผลข้างเคียงจากโรคอ้วนร่วมด้วย ซึ่งถ้ามีการติดเชื้อไวรัส COVID-19 มีโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไป คล้ายคลึงกับโรคเบาหวาน นอกจากนี้ คนที่มีโรคอ้วนโดยเฉพาะคนที่มีดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) สูง ๆ อาจมีผลทำให้การขยายตัวของปอดทำได้จำกัด ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้นเมื่อมีการติดเชื้อไวรัสที่ปอด ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อผู้ป่วยโรคอ้วนมีอาการป่วยหนักและต้องเข้ารักษาในห้องภาวะวิกฤติ (ICU) อาจจะมีปัญหาในการใส่ท่อช่วยหายใจ การหาเตียงที่รองรับน้ำหนักได้มาก ๆ หรือ การทำ X-Ray Computer ที่อาจจำกัดขนาดและน้ำหนักของผู้ป่วย
ทั้งนี้ “โรคอ้วน” เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) “ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์” ประธานเครือข่ายคนไทยไร้พุง ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบันพบ “คนอ้วน” มากกว่า 800 ล้านคน กระจายอยู่ทั่วโลก สะท้อนให้เห็นว่าเป็นปัญหาทางสุขภาพสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ ขณะที่ช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทย พบเด็กและผู้ใหญ่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานจำนวนมาก จากการบริโภคเกินความจำเป็น ไม่ถูกหลักโภชนาการ โดยในปี 2557 ถึง ปัจจุบัน พบ คนไทย 19.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 34.1 มีภาวะ “อ้วน” และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน “อ้วนลงพุง” กว่า 20.8 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.5 ทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรค NCDs
- “โรคอ้วน” ปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 วัยทำงาน
หากย้อนกลับไปดูข้อมูลในปี 2563 ที่ผ่านมา “ผศ.นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์” หัวหน้าสาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ได้กล่าวถึง ความเสี่ยงของผู้สูงอายุและคนอ้วนกับโควิด 19 ว่า ผู้สูงอายุวัย 65 ขึ้นไปจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น รวมถึงผู้ที่โรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคอ้วน โรคหัวใจ หลอดเลือด หรือแม้แต่โรคมะเร็ง และคนที่กินยากดภูมิก็มีโอกาสติดเชื้อโควิด-19ได้ง่าย ซึ่งเมื่อติดเชื้อแล้วจะทำให้โรคมีความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ง่าย
จากการศึกษาของประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ในผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวข้องกับโรคความดันโลหิตสูง รองลงมา เป็นโรคหัวใจหลอดเลือด ส่วน “ความอ้วน” เป็นสาเหตุอันดับ 3 แต่ในกลุ่มที่อยู่วัยทำงาน อายุระหว่าง 18 – 49 ปี โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับ 1 ผู้ที่มีดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป โดยเฉพาะคนที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี มีโอกาสที่จะป่วยเพิ่มมากขึ้น 2 – 3 เท่า
นอกจากนี้ ผลการศึกษาของชาวเมืองนิวยอร์คกว่า 7,000 คน พบว่า คนอ้วนป่วยเป็นโควิด 19 ถึง 40% และเป็นโรคเบาหวาน 34% ส่วนที่ประเทศจีน โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคหัวใจอยู่แล้ว และมีดัชนีมวลกายมากกว่า 25 มีโอกาสเสียชีวิต 88% แต่ถ้าดัชนีมวลกายไม่ถึง 25 มีโอกาสเสียชีวิตแค่ 12% โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ติดเชื้อโควิด 19 แล้วตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับด้วยก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น
ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า คนอ้วนเมื่อได้รับเชื้อโควิด 19 เชื้อจะเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้นในร่างกาย ซึ่งในคนอ้วน เซลล์ไขมันในร่างกายจะมีตัวรับเชื้อโควิด 19 มากกว่าในปอด นอกจากนี้ ความอ้วนถือเป็นการอักเสบเรื้อรัง หากเกิดการอักเสบเฉียบพลันจากโควิด 19 หรือปอดอักเสบก็จะรุนแรงกว่าคนอื่น ซึ่งเกี่ยวพันกับการเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และหัวใจด้วย
“ถ้ามีทั้งโรคอ้วนและเบาหวาน ความเสี่ยงก็จะเพิ่มมากขึ้น ส่วนความดันโลหิตสูงกับเบาหวานมีความสัมพันธ์กันทำให้เกิดปอดอักเสบรุนแรงจากโควิด 19 ได้ถึง 1.8 – 2.3 เท่า เชื้อโควิดจะเป็นตัวกระตุ้นให้การอักเสบรุนแรงมากขึ้นจนลามไปยังอวัยวะต่างๆ เช่น ไตวาย หัวใจล้มเหลว ปอดล้มเหลว และสุดท้ายอาจทำให้เสียชีวิตได้” ผศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 4 มี.ค. ‘วันอ้วนโลก’ น้ำหนักแค่ไหน ถึงเรียกว่าเป็น ‘โรคอ้วน’ ?
- พฤติกรรมเนือยนิ่ง สาเหตุอ้วนลงพุง
ทั้งนี้ สาเหตุหนึ่งของการมี โรคอ้วน คือ “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ข้อมูลจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” หรือ Sedentary Behavior หมายถึง การนั่งหรือนอนในกิจกรรมต่างๆ โดยใช้พลังงาน 1.5 MET (หน่วยที่ใช้ในการประมาณค่าของจำนวนออกซิเจนที่ถูกร่างกายใช้) ไม่รวมการนอนหลับ
ขณะที่ เรามี “พฤติกรรมเนือยนิ่ง” ระบบเมตาบอลิกในร่างกายของเราจะทำงานแย่ลง รวมถึงอัตราการเผาผลาญพลังงาน ก็จะน้อยลงไปด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ในที่สุด มีความสัมพันธ์กับอัตราการตายจาก โรคหัวใจหลอดเลือด โรคเบาหวาน และภาวะของเมตะบอลิคซินโดรม หรืออาจเรียกว่า “โรคอ้วนลงพุง” มีสาเหตุเริ่มต้นจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม กินอาหารมากเกินไป โดยเฉพาะอาหารที่มีน้ำตาล และไขมันสูง ส่วนเด็กที่อายุไม่เกิน 8 ปี ทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน ปัญหาความดัน ระดับคอเลสตอรอล ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ พฤติกรรมการเข้าสังคม และผลการเรียน เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ‘กักตัว’ อย่างไร ไม่ให้ ‘อ้วนลงพุง’
- รู้ได้อย่างไรว่า “อ้วน”
ข้อมูลสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า สามารถใช้ค่าดัชนีมวลกาย (Body Mass Index หรือ BMI) เพื่อการวินิจฉัยโรคอ้วนทั้งตัว และวัดเส้นรอบเอวเพื่อการวินิจโรคอ้วนลงพุง เพราะ BMI คือค่าความหนาของร่างกาย ใช้เป็นมาตรฐานในการประเมินภาวะอ้วนผอมในผู้ใหญ่ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งคำณวนได้จาก การใช้น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมและหารด้วยส่วนสูงที่วัดเป็นเมตรยกกำลังสอง ซึ่งใช้ได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ดังสูตรต่อไปนี้ ดัชนีมวลกาย (BMI) = น้ำหนักตัว (กิโลกรัม) / ส่วนสูง (เมตร)2 เช่น มีน้ำหนัก 50 กิโลกรัม สูง 1.50 เมตร = 50/(1.5×1.5) = 22.22 จะมีค่า BMI อยู่ที่ 22.22 นั่นเอง
นอกจากนี้ การวัดเส้นรอบเอว หรือเส้นรอบพุง (โดยทั่วไปจะวัดรอบเอว ตรงระดับสะดือพอดี) เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อการก่อโรค ผู้ชายต้องมีเส้นรอบเอวน้อยกว่า 90 เซนติเมตร และผู้หญิงน้อยกว่า 80 เซนติเมตร ถ้าเส้นรอบเอวใหญ่เกินกว่าค่าดังกล่าวนี้แล้วก็จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ นั้นสูงขึ้น
โดยเกณฑ์มาตรฐานสากลที่ใช้วัดภาวะอ้วน คือ BMI: Body Mass Index ดังนี้ ค่า BMI ต่ำกว่า 18.5 ลงไป แสดงว่ามีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ค่า BMI ตั้งแต่ 18.5-24.9 แสดงว่าอยู่ในเกณฑ์สุขภาพดีค่า BMI ตั้งแต่ 25-29.9 แสดงว่ามีน้ำหนักเกินค่า BMI ตั้งแต่ 30-38.9 แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนที่เสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพค่า BMI ตั้งแต่ 40 ขึ้นไป แสดงว่าอยู่ในภาวะอ้วนอย่างมากและเสี่ยงต่อการเผชิญปัญหาสุขภาพที่รุนแรง