เรียนรู้ปัญหาอดีต ปัจจุบัน และมองอนาคต ระบุจุดความร้อนที่เกิดน่าสงสัย ทำไมมักเกิดหลังเที่ยงคืน และเกิดในพื้นที่ป่าสงวน พร้อมมองปัญหาเรื่องกำลังคน อุปกรณ์ป้องกัน การประกาศเขตภัยพิบัติ รวมทั้งการนำปัญหาหมอกควันไฟป่าภาคเหนือเข้าสู่ระดับอาเซียน
รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) เป็นประธานประชุมเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาหมอกควันในจ.เชียงราย ครั้งที่ 1/2562 ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานเกี่ยวข้องแก้ปัญหาหมอกควัน จังหวัดเชียงราย อาทิ มณฑลทหารบกที่ 37, ตำรวจภูธร, สาธารณสุขจังหวัด, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย เป็นต้น โดยกล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้เป็นตัวแทนในการออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลขอให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังไปในช่วงที่ผ่านมา นำไปสู่การจัดการประชุมเสวนากับหน่วยงานเกี่ยวข้องและสรุปผลออกเป็นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และจัดตั้งศูนย์การศึกษาวิจัยและปฏิบัติการเพื่อลดปัญหาหมอกควัน โดยเตรียมเสนอการวิจัยการแก้ปัญหาหมอกควันระยะยาวต่อไป พร้อมประเดิมทุนจัดตั้งไปจำนวนหนึ่งซึ่งได้รับการตอบรับจากทุกภาคส่วน ที่ทยอยให้การสนับสนุนเข้ามาทั้งเงินทุนและสิ่งของเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันต่อไป
ข้อมูลจากการประชุมครั้งนี้สะท้อนว่าแต่ละหน่วยงาน ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงต่างแก้ปัญหาอย่างแข็งขัน และหน่วยงานสนับสนุนทั้งรัฐและเอกชนพร้อมที่จะมีส่วนร่วม แต่ที่ผ่านมาอาจขาดการประสานงาน และขาดการประชาสัมพันธ์ ขาดการเปิดช่องให้สังคมหรือชุมชนมีส่วนร่วม
ทั้งนี้ มฟล.ได้นำเสนอข้อมูลจากการศึกษาถึงรูปแบบไฟป่า พบว่าช่วงแรกที่เกิดหมอกควันในภาคเหนือ ในจ.เชียงรายแทบไม่ปรากฎจุดความร้อน แตกต่างจากพื้นที่โดยรอบที่เกิดจุดความร้อนจำนวนมาก และเมื่อถึงเวลาประกาศห้ามเผา ข้อมูลจุดความร้อนเริ่มเปลี่ยนไป ทั้งจำนวนที่มากขึ้นแล้ว ยังมีแพทเทิร์นการเกิดที่แปลกไปจากเดิมและแตกต่างจากพื้นที่รอบๆ จ.เชียงรายด้วย อย่างพื้นที่อื่นมักเกิดจุดความร้อนในพื้นที่เกษตรซึ่งสอดคล้องกับเวลาที่เกิดเป็นช่วงบ่าย เป็นไปได้ที่เผาเพื่อจัดการที่ทำกิน ขณะที่จ.เชียงรายมักเริ่มปรากฎจุดความร้อนหลังเที่ยงคืนและมักเกิดในพื้นที่ป่าสงวน เป็นต้น
นอกจากนี้ แต่ละหน่วยงานยังได้รายงานที่ประชุมถึงการดำเนินงานในการจัดการกับปัญหาหมอกควันที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทั้งปัจจัยความสำเร็จและปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยแต่ละหน่วยงานต่างได้ดำเนินการตามมาตรการที่วางไว้เพื่อรับมือปัญหาหมอกควันจากไฟป่าซึ่งเกิดขึ้นประจำปีมานานกว่า 10 ปี โดยที่ระยะหลังมีความเบาบางลงด้วยหลายปัจจัยทั้งควบคุมได้และไม่ได้ ตลอดจนการเกิดเป็นวิกฤติขึ้นมาในปีนี้ และเป็นไปได้ที่จะมีผลต่อเนื่องไปในปีต่อไป อย่างการบังคับใช้กฎหมายเพื่อห้ามเผาหรือสภาพอากาศที่เกิดฝนตกในช่วงเวลาที่มักเกิดหมอกควันมาต่อเนื่อง 2 – 3 ปี แต่ในขณะที่ปีนี้ยังไม่มีฝนตก สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป เชื้อเพลิงสะสมจำนวนมากขึ้น รูปแบบการเผาเปลี่ยนไป หรือบางครั้งการเผาเกิดในจุดที่อยู่ลึกเข้าไม่ถึง เป็นต้น
อีกทั้งที่ประชุมยังได้พูดถึงกำลังคนอุปกรณ์ในการแก้ปัญหาไฟป่า การประกาศเขตภัยพิบัติ ตลอดจนนำปัญหาหมอกควันในภาคเหนือเข้าสู่การแก้ปัญหาระดับอาเซียนได้อย่างไร พร้อมได้ส่งมอบหน้ากากอนามัย N95 ที่ได้รับมาเพื่อส่งมอบต่อผู้ปฏิบัติงานต่อไป
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ