วธ.ศึกษา-ออกแบบการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ หวังเพิ่มสถานที่บริการทางวัฒนธรรม
วันพุธ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2566, 17.57 น.
กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ จังหวัดนราธิวาส ศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส บนพื้นที่กว่า 18 ไร่ เพื่อเพิ่มสถานที่บริการทางวัฒนธรรมรองรับผู้ใช้บริการมากขึ้น
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส เพื่อเพิ่มสถานที่บริการทางวัฒนธรรมรองรับผู้ใช้บริการมากขึ้น และครอบคลุมการให้บริการ อาทิ เพิ่มห้องจัดแสดงเรื่องราวทางสังคมวัฒนธรรมของพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสให้สมบูรณ์ จัดสร้างโรงละคร ลานศิลปวัฒนธรรม ปรับปรุงอาคารสำนักงาน เป็นห้องจัดแสดงนิทรรศการหมุนเวียน ห้องประชุมสัมมนา ห้องถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญา พัฒนาพื้นที่และภูมิทัศน์ ให้เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยง การแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ และจัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ ที่มีขนาดและรูปแบบหลากหลาย เพื่อสร้างคุณค่าทางสังคม และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ทั้งในเชิงอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนาสร้างสรรค์ ต่อยอดนวัตกรรมต่าง ๆ สำหรับเยาวชน ประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภูมิภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ตลอดถึงภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ
สืบเนื่องจากในปี 2565 สำนักงานต่าง ๆ จำนวน 10 หน่วยงานในจังหวัดนราธิวาส จะต้องย้ายสำนักงานออกไปอยู่ ณ ศาลากลางแห่งที่ 3 บริเวณศูนย์ราชการจังหวัดนราธิวาส กระทรวงวัฒนธรรม จึงได้มีแผนที่จะพัฒนาพิพิธภัณฑ์เมืองนราธิวาสบนพื้นที่ 18 ไร่ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ จึงได้เสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 1/2563 ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 20 – 21 มกราคม 2563 โดยนายกรัฐมนตรีได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสม (Feasibility Study) ของการจัดตั้งศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ ณ จังหวัดนราธิวาส โดยคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ การสร้างวัฒนธรรมภายใต้อัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลาย และความพร้อมในการบริหารจัดการโครงการหลังก่อสร้างแล้วเสร็จเพื่อความยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน สถาบันการศึกษาภาคประชาสังคมและประชาชนในพื้นที่ เพื่อลดความขัดแย้ง รวมทั้งการเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน
การศึกษาความเป็นไปได้และออกแบบศูนย์วัฒนธรรมฯ ในครั้งนี้ ได้มีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จังหวัดนราธิวาส รวมถึงจังหวัดปัตตานีและจังหวัดยะลา โดยการออกแบบมีแนวคิดที่สะท้อนอัตลักษณ์ วัฒนธรรม และเชื่อมโยงกับความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ที่จะสามารถสร้างความรู้และความเข้าใจของการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายทางวัฒนธรรม ซึ่งผลการศึกษาและออกแบบจะนำไปสู่การพิจารณาให้มีการก่อสร้างศูนย์วัฒนธรรมชายแดนใต้ที่นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้และให้บริการทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวจุดแรกที่นักท่องเที่ยวและผู้มาเยือน มาแวะชมก่อนไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ เช่น พระพุทธทักษิณมิ่งมงคล อำเภอเมืองนราธิวาส พิพิธภัณฑ์วิถีวัฒนธรรมอิสลาม และศูนย์เรียนรู้ อัลกุรอานคัดด้วยลายมือ ศูนย์วัฒนธรรมเฉลิมราชขุนละหาร อำเภอยี่งอ มัสยิดตะโละมาเนาะ ซึ่งปัจจุบันมีอายุกว่า 400 ปีแล้ว ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดปัตตานีและยะลา ตลอดจนภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน อีกทั้ง เชื่อมโยงไปยังเมืองสุไหงโก-ลก ที่ถูกกำหนดให้เป็นเมืองการค้าชายแดนประตูเชื่อมต่อไทย – มาเลเซีย ที่สามารถรองรับการเข้า – ออกของนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ได้เป็นอย่างดี
-(016)