เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 นายวรัท พฤกษาทวีกุล เลขาธิการ กศน. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการปรับหลักสูตรการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ในการประชุมประชุมเชิงปฎิบัติการเพื่อวิเคราะห์กรอบสมรรถนะ คุณลักษณะของผู้เรียน และยกร่างโครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ณ โรงแรมปิกนิก กรุงเทพฯ ที่จัดโดยกลุ่มพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา สำนักงาน กศน.ว่ า “ตนให้ความสำคัญกับเรื่องของ “หลักสูตร” เป็นอย่างมากเพราะหลักสูตร คือ เบ้าหลอม “เราอยากเห็นคนที่จบจาก กศน.เป็นอย่างไร เราต้องทำหลักสูตรให้เป็นอย่างนั้น มีการวัดผลแบบใด วัดอย่างไร และประกาศใช้ให้ได้ หลักสูตรต้องมีการนำร่องการใช้หลักสูตร ต้องคำนึงถึงกฎหมาย”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
สั่ง กศน.เร่งสำรวจความต้องการการเรียนออนไลน์ทั่วประเทศ
ซึ่งขณะนี้การปรับหลักสูตรดังกล่าวได้มีการยกร่างกรอบสมรรถนะ คุณลักษณะของผู้เรียนและ(ร่าง)โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ กศน.ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้องและจากผลการประชุมกลุ่ม (Focus group) จากกลุ่มผู้บริหาร กศน. ครู กศน.ทุกประเภทและกลุ่มผู้เรียนการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้ว โดยเฉพาะเสียงสะท้อนของทุกภาคส่วนที่เสนอแนวคิดการปรับหลักสูตรใหม่ โดยสำนักงาน กศน.ได้นำข้อเสนอต่างๆของมาสู่กระบวนการพิจารณากรอบสมรรถนะ คุณลักษณะของผู้เรียน และนำไปสู่การยกร่างโครงสร้างหลักสูตรในครั้งนี้ เพื่อทบทวนการดำเนินงาน โดยระดมความคิดร่วมกันเพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ทั้งเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลรายวิชา การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ บนพื้นฐานข้อมูลพัฒนาการของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ของ กศน.ที่มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน มีบทเรียน ประสบ การณ์เกิดขึ้นมากมาย ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรในก้าวต่อไป
เลขาธิการ กศน.กล่าวต่อไปว่า “ สำหรับหลักสูตรฐานสมรรถนะที่เป็นหลักสูตรใหม่นั้นจะเป็นหลักสูตรที่จะช่วยเน้นศักยภาพของผู้เรียนตามความถนัด มีความยืดหยุ่น แต่มีคุณภาพ ตามบริบทของพื้นที่ โดยการจัดการเรียนรู้จะมุ่งเป้าหมายที่การพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสมรรถนะที่ต้องการ ไม่ใช่มุ่งไปที่เนื้อหาความรู้จำนวนมาก ซึ่งผู้เรียนไม่ได้ประโยชน์ ลดภาระและเวลาในการสอบตามตัวชี้วัดจำนวนมาก ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้มีสมรรถนะที่สำคัญต่อการทำงาน การดำรงชีพอย่างมีคุณภาพในโลกแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยน แปลงอย่างรวดเร็ว เพราะ กศน.มีกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายที่นอกเหนือจากผู้เรียนปกติ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ชาวเล ชายแดนชายขอบ กลุ่มคนเร่ร่อน คนพิการ และผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้นจึงต้องเป็นหลักสูตรที่สร้างทางเลือกให้แก่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ยุ่งยาก เรียบง่าย ได้ประโยชน์สูงสุด ให้ผู้เรียนได้ค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งปีนี้เราถือว่าเป็นปีแห่งออกแบบหน้าตาตัวตนของผู้เรียน กศน.โดยจัดทำร่างโครงสร้างหลักสูตรฐานสมรรถนะและเตรียมความพร้อมในรายละเอียดต่างๆก่อนการใช้จริงในปี 2565 ทั้งนี้การปรับหลักสูตรใหม่ยังคำนึงถึงความก้าวหน้าและความทันสมัยของเทคโนโลยี ความหลากหลายของ Platform ที่มียู่บนระบบดิจิทัลในปัจจุบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาเชื่อมโยงสู่การจัดการศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้การจัดการศึกษาของ กศน.มีความทันสมัย สอดคล้องกับสภาพสังคม New Normal และตอบสนองต่อผู้เรียน กศน.ที่มีช่วงอายุน้อยลง ในขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับกลุ่มผู้เรียนที่ขาดโอกาส ในทุกประเภทให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพต่อไป ”เลขาธิการ กศน.กล่าว