วันเยาวชนแห่งชาติ จี้ศธ.แก้ปัญหาเด็กและเยาวชนอย่างเข้าใจ ให้โอกาส ไม่ตีกรอบ ติงระบบแพ้พลาดคัดออก ซ่อนความจริงไว้ใต้พรม เพื่อหวังผลการประเมิน ชงยกเครื่องฝ่ายแนะแนว ชูแนวคิด“วิชาชีวิต” สร้างภูมิคุ้มกันเมื่อต้องเผชิญกับความจริงทางสังคม
วันนี้(20กันยายน2561) เวลา10.00น.ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นายณัฐพงศ์ สำเภาแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน พร้อมด้วย เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิต เครือข่ายนักกฎหมายเพื่อเด็กและเยาวชน และมูลนิธิแพธทูเฮลท์ กว่า30 คน ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ผ่านทาง ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภาเพื่อเรียกร้องเนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ โดยขอให้ศธ.ทำงานเชิงรุก ออกมาตรการรับมือกับปัจจัยเสี่ยงทางสังคมที่ล่อลวงเด็กและเยาวชน หลังพบว่าปัญหาเด็กและเยาวชนทวีความรุนแรงขึ้นในทุกมิติ เช่น ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียล ติดเกมส์ พร้อมนำชุดความรู้วิชาชีวิตจากบ้านกาญจนาฯ ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต
ทั้งนี้เครือข่ายได้ทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “ปัญหาเด็กเยาวชน ที่ถูกซุกไว้ใต้พรหม” เพื่อสะท้อนตัวอย่างที่ตามมากับระบบแพ้คัดออกของการศึกษาไทย พร้อมทั้งนำอดีตนักเรียนที่เคยก้าวพลาด แล้วถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน มาร่วมสะท้อนความจริงที่เกิดขึ้นด้วย
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า สืบเนื่องจากปัญหาอบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน ยาเสพติด ติดเกมติดมือถือ รวมถึงท้องไม่พร้อม เป็นปัญหาสำคัญที่ฉุดรั้งอนาคตของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เด็กและเยาวชน เล่นพนันมากถึง 3.6 ล้านคน มีนักดื่มหน้าใหม่ 250,000 คนต่อปี รวมถึงมีเด็กและเยาวชนไทยเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุเฉลี่ยปีละ 2,510ราย ขณะเดียวกันในวัยนี้เด็กไทยต่ำกว่าอายุ15-24ปี ติดบุหรี่กว่า1,500,000 คน นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่ตามมาอีกมาก เช่น เด็กตังครรภ์ในวัยเรียนแล้วถูกให้ออก ลอยแพเด็กหลังห้อง ระบบการประเมินผลที่ทำให้เกิดการซุกขยะไว้ใต้พรหม ไม่กล้านำความจริง นำปัญหามาพูดกันเพราะกลัวกระทบการประเมินหรือภาพลักษณ์สถาบัน
นายณัฐพงศ์ กล่าวว่า จากข้อห่วงใยที่เกิดขึ้น เครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ มีข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เนื่องในวันเยาวชนแห่งชาติ 2561 เพื่อนำไปพิจารณา ดังนี้1.นำแนวคิดเรื่องวิชาชีวิต ซึ่งพัฒนาและรวบรวมโดยศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก ไปต่อยอดพัฒนากระบวนการเรียนรู้ เพิ่มทักษะชีวิต เป็นภูมิคุ้มกันให้เด็กและเยาวชนเมื่อต้องเผชิญกับความจริงในสังคม 2.ให้ความสำคัญกับปัญหาปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน (ยาเสพติด เหล้า บุหรี่ การพนัน ท้องไม่พร้อม ติดโซเชียลมีเดีย ฯลฯ) โดยกำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องดำเนินงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม นำการแก้ไขปัญหาเด็กที่เคยผิดพลาดมาพิจารณาร่วมในการประเมิน3.ปฏิรูปฝ่ายแนะแนวของทุกสถาบันการศึกษาให้ทำงานเชิงรุก เพื่อรับมือกับปัญหาปัจจัยทางสังคมที่ชักนำ ล่อลวง เด็กและเยาวชน ให้ตกหลุมพลาง มีการให้คำปรึกษาที่เป็นมิตร ไม่ซ้ำเติมและเป็นที่ไว้วางใจของเด็กและเยาวชนโดยอาจมีการทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน มูลนิธิต่างๆในพื้นที่ ที่พร้อมให้ความช่วยเหลือ
ขณะที่นายชยุต พ่วงมหา เจ้าหน้าที่มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่า ปัจจุบันวัยรุ่นที่พลาดพลั้งเกี่ยวกับเรื่องเพศมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงเด็กที่ต้องออกโรงเรียนกลางคันมีสูงกว่า1แสนคนต่อปี คำถามคือ เด็กนักเรียนต่ำกว่า15ปี ควรต้องอยู่ในระบบการศึกษา แต่ทำไมเด็กกลุ่มนี้ต้องออกมาและส่วนใหญ่มาเรียนต่อที่ กศน.จำนวนมาก นั่นแปลว่าเด็กมีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากโรงเรียน และโรงเรียนก็ไม่ได้รับผิดชอบถึงจุดสูงสุด โดยไม่ส่งเสริมให้เขาได้เรียนจนจบ แต่กลับปัดปัญหาผลักดันเขาออกมา แต่แม้เขาอยากจะออกมา ทางโรงเรียนก็ควรต้องดึงเขาไว้ไม่ใช่หรือ เพราะอย่าลืมว่า กศน.ไม่ได้ทำระบบไว้รองรับเด็กนักเรียนที่อายุต่ำกว่า15ปี เช่น กรณีล่าสุดที่ทางมูลนิธิฯเข้าช่วยเหลือ คือ นักเรียนม.5 ตั้งครรภ์ พอครูรู้จะให้ออก แต่เด็กต้องการเรียนต่อให้จบ เรื่องนี้ต่อสู้กันและเคยนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาในที่ประชุมสภา พ.ร.บ.การตั้งครรภ์ไม่พร้อม จนหลายฝ่ายเข้าช่วยเหลือให้เด็กสามารถเรียนต่อได้ แต่เมื่อเด็กถูกต่อว่าจนบอบช้ำ จึงเลือกที่จะไม่เรียนต่อ นอกจากนี้ยังมีเคสที่โรงเรียนให้เด็กเลือกระหว่างยุติการตั้งครรภ์แล้วได้เรียนต่อ หรือ ถ้าไม่ยุติการตั้งครรภ์ก็ต้องออกจากโรงเรียน
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ชี้ให้เห็นว่า ทางโรงเรียนไม่มีระบบการช่วยเหลือ จะให้ออกอย่างเดียว มุ่งเน้นรักษาภาพลักษณ์สถาบัน ห่วงผลประเมิน หากพบว่าเด็กมีปัญหา ดังนั้นเมื่อหลักสูตรทุกอย่างต้องผ่านศธ. ศธ.ก็ควรต้องเป็นที่พึ่ง เป็นโค้ชให้เด็กและเยาวชน ควรทำระบบการศึกษาให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน มีวิชาเพศศึกษาวิชาชีวิตให้เข้าไปอยู่ในหลักสูตร และต้องมีในคาบเรียนเกิน16คาบต่อปี อีกทั้งครูแนะแนวต้องมีความรู้ความเข้าใจ ให้คำปรึกษาอย่างเป็นมิตร สร้างระบบ สร้างสิทธิให้เด็กได้เข้าถึงการเรียนด้วย จึงอยากสนับสนุนให้ ศธ.เร่งนำองค์ความรู้เรื่องวิชาชีวิต ของบ้านกาญจนาฯ มาประยุกต์ต่อยอด เพื่อเป็นต้นทุนชีวิตให้เด็กๆและเยาวชน” นายชยุต กล่าว
ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งเลขาธิการคุรุสภา กล่าวภายหลังรับหนังสือจากเครือข่ายเยาวชนฯ ว่า ต้องขอบคุณเครือข่ายเยาวชนฯที่ห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและรวมตัวกันมาในวันนี้ ทางศธ.ยินดีรับข้อเสนอทั้ง3เรื่องไปพิจารณา ซึ่งเรามีศูนย์ดำเนินการในระดับโรงเรียน ส่วนชุดความรู้วิชาชีวิตของบ้านกาญ เป็นบทเรียนที่ดีมาก โดยจะนำไปดูว่าตรงไหนจะนำมาปรับใช้ในหลักสูตรให้กว้างขวางชัดเจนยิ่งขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ