เมื่อเร็วๆ นี้ ม.วลัยลักษณ์ ได้จัดกิจกรรมกินแตงโม ปลอดสาร @ ม.วลัยลักษณ์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายแตงโมแก่เกษตรกร พร้อมปลูกสละต้นแรก บนพื้นที่ 130 ไร่
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดี ม.วลัยลักษณ์ กล่าวว่า กิจกรรม “กินแตงโม ปลอดสาร @ ม.วลัยลักษณ์” ในครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากโครงการ “การสร้างความมีส่วนร่วมกับชุมชน” เปิดโอกาสให้ชาวบ้านในชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ร่วมกันปลูกพืชอายุสั้น แซม หรือเสริมพืชหลักของมหาวิทยาลัย
นอกจากจะได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างชุมชนกับมหาวิทยาลัย ยังเป็นการส่งเสริมการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น และเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยจำหน่ายผลผลิตแตงโม ให้ถึงมือผู้บริโภคได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น
ในส่วนของโครงการปลูกพืชระยะสั้น โดยการปลูกแตงโมปลอดสารพิษ จำนวน 130 ไร่ในครั้งนี้ได้รับความสนใจจากชาวบ้านในชุมชนรายรอบเข้าร่วมโครงการ 14 ราย และในอนาคตมหาวิทยาลัยยังมีโครงการ ที่จะเชิญชวนลูกหลานของชุมชนมาร่วมกันปลูกผักปลอดสารพิษ หรือผักไฮโดรโปนิกส์ เพื่อสร้างอาชีพแก่ชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้น
ศ.ดร.สมบัติกล่าวว่า ที่ดินผืนนี้เดิมทีจะให้เป็นพื้นที่ปลูกสละพันธ์สุมาลี ซึ่งคาดว่าในอนาคต 3-4 ปีข้างหน้า พื้นที่ตรงนี้จะเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ จัดให้มีการเยี่ยมชมสวนผลไม้ รับซื้อผลผลิตได้จากศูนย์ Smart Farm โดยตรง ซึ่งขณะนี้มีไม้ผลที่ปลูกไปแล้ว กว่า10 ชนิด เช่น มะพร้าวน้ำหอม ขนุนพันธ์ทองประเสริฐ ทุเรียน ฝรั่งกิมจู และอื่นๆอีกหลายชนิด คาดว่าภายในปี 2562 จะสามารถปลูกไม้ผลได้ประมาณพันกว่าไร่
นอกจากนี้ ภายในศูนย์ Smart Farm ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ยังมีการก่อสร้างโรงเรือนเลี้ยงไก่ระบบปิดซึ่งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ได้ร่วมก่อสร้างโรงเรือน และโรงเรือนเลี้ยงสุกรอีก 650 ตัว เพราะฉะนั้นต่อไปศูนย์ Smart Farm ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จะเป็นศูนย์กลางที่ทันสมัย ปลูกพืชไม้ผล รวมทั้งการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เป็นแหล่งวิจัยของอาจารย์ เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของนักศึกษาและการอบรมสร้างอาชีพให้แก่ชุมชน
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ