เลขาธิการ กช.สั่งสำรวจตัวเลขโรงเรียนที่ปิดกิจการ-และที่อยู่ในความเสี่ยง ลุ้น!ครม.ไฟเขียวเพิ่มงบอุดหนุนเสริมสภาพคล่อง รร.เอกชน
วันที่ 27 ก.พ.60 นายพะโยม ชิณวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (กช.) เปิดเผยว่า ตนได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) สำรวจตัวเลขโรงเรียนเอกชน ทั้งโรงเรียนสามัญศึกษา และโรงเรียนนอกระบบ ทั้งที่ยังจัดการศึกษาอยู่ ที่ปิดกิจการไปแล้ว ตลอดจนโรงเรียนที่มีแนวโน้มจะปิดกิจการ เพื่อส่งเสริมพัฒนาการจัดการศึกษาให้เป็นไปตามนโยบาย
ที่ผ่านมาพบว่ามีโรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการลงเรื่อย ๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอัตราการเกิดของประชากรลดลง ทำให้มีจำนวนเด็กเข้าเรียนน้อย ครูมีการเคลื่อนย้ายหางานใหม่ที่มั่นคงกว่า โดยส่วนใหญ่ไปสอบบรรจุเป็นข้าราชการครู สพฐ. รวมทั้งมีปัญหาโรงเรียนขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นต้น
“ข้อมูลในปีการศึกษา 2558 สช.มีโรงเรียนในสังกัดอยู่ 3,845 แห่ง โรงเรียนนานาชาติ 161 แห่ง และโรงเรียนนอกระบบ 8,429 แห่ง แต่จากข้อมูลการปิดกิจการของโรงเรียนย้อนหลัง 3 ปี คือปี 2557 ปิดกิจการ 9 แห่ง ปี 2558 ปิดกิจการ 27 แห่ง และปี 2559 ปิดกิจการ7แห่ง ซึ่งเกือบทั้งหมดอยู่ในกรุงเทพฯ โดยผมคิดว่าตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง เมื่อสอบถามเจ้าหน้าที่ก็พบว่าการปิดกิจการของสถานศึกษา แจ้งปิดที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และไม่มีการส่งข้อมูลมาที่ สช. ดังนั้นก็เป็นไปได้ว่าน่าจะมีโรงเรียนปิดตัวมากกว่านี้ ผมจึงมอบให้สำนักงานโยบายและแผน สช.ไปสำรวจข้อมูลที่แท้จริง เพื่อนำมาวางแผนการพัฒนาได้อย่างถูกต้อง”
นายพะโยม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือดูแลโรงเรียนเอกชนนั้น ขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ทำเรื่องเสนอ ครม.ปรับเพิ่มการอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนโรงเรียนเอกชนรายบุคคล โดยปรับเพิ่มเงินอุดหนุนสมทบเป็นเงินเดือนครู, เงินสบทบค่าธรรมเนียมโรงเรียนการกุศล, เพิ่มปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน และช่วยเหลือโรงเรียนขนาดเล็ก ใช้งบฯ เพิ่มประมาณ 4,170.32 ล้านบาทต่อปี ซึ่งหาก ครม.อนุมัติ ก็จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่โรงเรียนเอกชนได้
อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมด้วยผู้แทนจากสภาการศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย ได้เข้าชี้แจงกับกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ว่าหากรัฐใช้กฎหมายใหม่เก็บภาษีกับโรงเรียนเอกชน จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งกระทรงการคลัง ก็เข้าใจและมีแนวโน้มหาแนวทางแก้ไขให้โรงเรียนเอกชนในทิศทางที่ดีขึ้น
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ