สมุนไพรไทยถือเป็นหนึ่งในสมบัติชาติที่สืบทอดภูมิปัญญาไทยมาแต่บรรพกาล ท่ามกลางกระแสสมุนไพรที่เป็นที่นิยมกันในระดับนานาชาติ แต่กระนั้นสำหรับไทยการจะก้าวไปสู่ตลาดโลกยังดูเป็นเรื่องยาก
รศ.ดร.สุรพจน์ วงศ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญสมุนไพรของสหประชาชาติ และอาจารย์ประจำวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ประเทศไทยมีการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษามานาน บรรพบุรุษได้สั่งสมองค์ความรู้ด้านนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยก.สาธารณสุขได้ออกประกาศ กระทรวงฯ คุ้มครองตําราการแพทย์แผนไทยของชาติ 198 ตํารา และตํารับยาแผนไทยของชาติ 30,000 ตํารับ
ตํารายาสมุนไพรที่สําคัญ เช่น “แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์” ซึ่งเป็นตําราที่ล้นเกล้ารัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราช ดําริให้รวบรวมไว้กว่า 1,200 ตํารับ และยังมีตํารายาวัดโพธิ์ที่รวบรวมจากจารึกในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น ซึ่งจากเอกสารและจารึกเหล่านี้ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ประเทศไทยมีการรักษาโรคด้วยยาสมุนไพรมานาน แต่เมื่อยาเคมีจากต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตคนไทย ทําให้ความนิยมใช้ยาสมุนไพรลดน้อยลง
ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าวว่า ประเทศไทยขาดโอกาสทางการแข่งขันในตลาดยารักษาโรคไปอย่างน่าเสียดาย ทั้งที่มีวัตถุดิบคือ สมุนไพรที่มีคุณภาพ มีสารสําคัญที่จะสกัดออกมา แปรรูปเป็นยาสมุนไพรที่มีมูลค่าสูง แต่ด้วยปัญหาคือ การขาด Know-How เทคโนโลยีสมุนไพรขั้นสูง ซึ่งทําให้ไม่สามารถสร้างนวัตกรรมยาสมุนไพรได้ ตั้งแต่ต้นน้ำคือ การคุมการปลูกพืชสมุนไพรให้ได้คุณภาพ ตัวยาสม่ำเสมอ การขาดเทคโนโลยีการสกัดและการผลิตที่ทันสมัยเพื่อรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล อันจะทําให้สามารถส่งไปจําหน่ายได้ทั่วโลก
“เวลานี้กระแสความต้องการสมุนไพรเพิ่มขึ้นสูงมากในตลาดโลก เพราะสมุนไพรช่วยทั้งการรักษาโรคป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ ประเทศเรามีสมุนไพรมากมายและหลากหลาย แต่ขาดการสร้างนวัตกรรม เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีมีคุณภาพ ประสิทธิภาพและปลอดภัย ในขณะที่การผลิตตัวผลิตภัณฑ์ต้องไม่กระทบสิ่งแวดล้อม และต้องปลอดจากสารเคมี
หากต้องการแข่งขันในตลาดโลกจะต้องเร่งพัฒนานวัตกรรมทั้งการปลูกให้ได้คุณภาพสม่ำเสมอ ปลอดสารพิษ และต้องมีกระบวนการผลิตที่ได้คุณภาพเป็นที่ยอมรับ มีการวิจัยเพื่อยืนยันว่าเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ดีจริงๆ หากทําได้ก็จะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศอย่างมหาศาล”
ส่วนเหตุที่ทําให้ความต้องการใช้ยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นนั้น ภก.รศ.ดร.สุรพจน์ กล่าวว่า เวลานี้ยาเคมีกําลังประสบปัญหาหลายประการ กล่าวคือ การวิจัยและพัฒนายาใหม่แต่ละตัวต้องลงทุนสูงมาก และใช้เวลานาน ยาบางชนิดจะมีอาการข้างเคียงที่เป็นพิษ ไม่สามารถนําวัตถุดิบเคมีในกระบวนการสังเคราะห์ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ได้ โรงงานที่สังเคราะห์ตัวยาเคมีอาจก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ยาเคมีมีราคาแพงทําให้ประชาชนเข้าถึงยาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกําลังพัฒนา
นอกจากนั้น ยังมีข้อจํากัดในประสิทธิภาพการรักษา โดยเฉพาะการรักษากลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางชนิดที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เช่น โรคหัวใจหลอดเลือด ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง เป็นต้น
ปัจจุบันมีคนป่วยด้วยไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ มะเร็ง เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจหลอดเลือด โรคระบบทางเดินหายใจ โรคทางสมอง โรคซึมเศร้ากันมากขึ้น โดยกลุ่มโรคเหล่านี้ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรโลก 70% องค์การอนามัยโลก คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ.2593 จะมีประชากรครึ่งโลก คือกว่า 4,650 ล้านคน ป่วยด้วยโรค NCDs อย่างน้อยคนละ 1 โรค อันจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่สูงขึ้นอย่างมากมาย ทั้งระดับประเทศและระดับโลก
กล่าวได้ว่าศตวรรษที่ 21 นี้ ที่เกิดวิกฤติด้านสุขภาพของโลกและเป็นหนึ่งในปัจจัยสําคัญที่ส่งผลกระทบให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ จึงต้องเร่งรีบแก้ปัญหาแบบองค์รวม เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้รัฐบาลได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2560 มาตรา 55 ว่าด้วยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาด้านการแพทย์แผนไทยในการบริการสุขภาพ โดยบัญญัติไว้ว่า รัฐต้องดําเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพทั่วถึง เสริมสร้างให้ประชาชนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์สูงสุด
บริการสาธารณสุขต้องครอบคลุมการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมและป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพด้วย รัฐต้องพัฒนาบริการสาธารณสุขให้มีคุณภาพและมีมาตรฐานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมาตรา 69 ว่าด้วยเรื่อง การส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศ และการสร้างนวัตกรรมยาสมุนไพรก็นับเป็นโอกาสทองของคนไทย
“ การที่รัฐบาลสนับสนุนการพัฒนาสมุนไพรไทยนับเป็นเรื่องที่ดี ทําให้เปิดโอกาสให้มีการศึกษาวิจัย ค้นคว้าสมุนไพรมากขึ้น แต่ก็จะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ภาคส่วนมาทำงานร่วมกัน และปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ต้องเรียนรู้ว่าตลาดโลกต้องการอะไร แล้วกําหนดกฎเกณฑ์เพื่อผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีการขึ้นทะเบียนตํารับยาสมุนไพรไทยเพื่อส่งออก
หากทําสําเร็จและได้ผลจริงก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างแท้จริง เพราะประชาชนทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ เป็นการต่อยอดสร้างเศรษฐกิจประเทศ บนพื้นฐานที่เป็นจุดแข็งของประเทศเรา จะช่วยขับเคลื่อนสู่การเป็นผู้นําของโลกด้านยาสมุนไพรต่อไป”
** อ่านต้นฉบับเต็มได้ที่ หนังสือพิมพ์สยามรัฐ