11 พฤษภาคม 2564 | โดย ภัทร์ฐิตา ทุมเกิด | คอลัมน์ ทัศนะจากผู้อ่าน
21
หลังโควิด-19 ทุกอย่างจะเปลี่ยนไป ทั้งโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ รูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นเสาหลักการดำเนินชีวิตในโลก กำลังถูกเปลี่ยนแบบยกแผง
ถึงตอนนี้แล้วชื่อของโควิด-19 กลายเป็นอาวุธชีวภาพที่สร้างความหวาดหวั่นไปทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้การจะลงมือแก้ไขภาวะวิกฤติมีความยากลำบากที่สุด โดยวิกฤติครั้งนี้ทำให้เราได้พบปรากฏการณ์ใหม่ใน 2 รูปแบบ คือ สังคมที่เราเชื่อกันว่ามั่นคง ที่แท้อ่อนไหวมาก เมื่อต้องเจอกับวิกฤติที่นับว่าวิกฤติจริงๆ ผลกระทบที่ต้องเยียวยา รับมือกันแทบไม่ไหว
รูปแบบที่สองคือ เป็นวิกฤติที่ส่งผลเชิงพฤติกรรมสุขภาพและเทคโนโลยี สังคมต้องใช้วิกฤติเป็นตัวพลิกเกมเปลี่ยนแปลงมิติทั้งเทคโนโลยีและชีวิต ต้องใช้แนวคิดด้านการจัดการและการสื่อสารเพื่อนำมาใช้แก้ไขวิกฤติ ทำให้ประเทศกลับมาสร้างโอกาสและเข้าสู่การฟื้นฟูให้เร็วที่สุด ต้องยอมรับว่าพฤติกรรมเชิงโครงสร้างและการตระหนักถึงความสำคัญของสุขอนามัย ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดมือบ่อยครั้ง การเว้นระยะห่างทางกายภาพ การติดป้ายกำกับที่มองเห็นได้ชัดเจน การสนับสนุน ประชุมที่ปลอดภัย การทำงานร่วมกันในสไตล์ใหม่ๆ เหล่านี้จะถูกแทนที่พฤติกรรมแบบเดิมและกลายเป็นชีวิตปกติใหม่ของโลก
อนาคตข้างหน้าของมนุษยชาติได้เปลี่ยนไปแล้ว โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทางการเมือง-ความมั่นคง เศรษฐกิจ รูปแบบทางสังคมและวัฒนธรรม ที่เป็นเสาหลักการดำเนินชีวิตในโลก กำลังถูกเปลี่ยนแบบยกแผง พฤติกรรมของโลกสีน้ำเงิน เปลี่ยนแบบหัวทิ่ม ความหวาดระแวงหมู่จากชุมชนถูกยกระดับไต่สูงขึ้นๆ จนพุ่งทะยานสุดขีดเป็นความระแวงหมู่ระดับโลก ทำให้สังคมไม่สามารถก้าวออกไปทำอะไรอย่างที่ต้องการได้แบบเดิมอีกต่อไป ชนิดที่เรียกว่าถอดของเก่าแล้วเอาของใหม่เสียบแทนทั้งดุ้นเลยทีเดียว
วิถีเก่าๆ ถูกโยนทิ้งไปแบบไม่ต้องแยแส ใครไม่ยอมปรับเปลี่ยนตามก็ไม่รอด ความไม่เหมือนเดิมในหลายรูปแบบ อย่างเช่นความเปลี่ยนแปลงรูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ สังคมต้องทำความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล การประชุมออนไลน์ เงินดิจิทัล ดูหนังออนไลน์ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมแบบสังคมดิจิทัลเต็มรูปแบบ ในขณะที่แนวโน้มอุตสาหกรรม เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ การประกอบธุรกิจท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า ธุรกิจสตาร์ทอัพ จะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น เฉพาะสตาร์ทอัพกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มเทคโนโลยีขั้นสูงที่จะอยู่รอด
สถานการณ์ขณะนี้นับว่าส่งผลกับธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างเป็นด้านหลักด้วย ธุรกิจร้านขายปลีกเสื้อผ้า ร้านค้าเบ็ดเตล็ด ธุรกิจในภาคบริการ มีความเสียหายอย่างรุนแรง ดังนั้น ความพยายามที่จะรักษาฐานลูกค้าเดิมไว้ยังไม่พอ ต้องหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าใหม่ เช่น มีการผุดแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้า การดิลิเวอรี่สินค้าถึงบ้าน ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือแม้แต่การทำ SEO (Search Engine Optimization) ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านบน Google Business หรือเพจเฟซบุ๊คและอินสตาแกรม เป็นการสร้างโอกาสในการทำให้ธุรกิจออนไลน์
อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศคงต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าผู้ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้ก็คงจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินสำรองสูง สายป่านยาวหน่อย หรือประเภทที่มีธุรกิจรองรับหลากหลาย หรือแม้แต่กลุ่มที่อยู่ในภาคการผลิต น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมจะกลับมาได้รวดเร็ว
รูปแบบสังคมไทยที่เป็นวิถีชีวิตใหม่ ต้องปรับเพื่อก้าวข้ามวิกฤติ 4 ด้านหลัก คือ 1.ด้านสุขภาพ ผู้คนจะต้องตระหนักให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของตน ไม่ให้เสี่ยงต่อโรคมากขึ้น 2.ด้านเศรษฐกิจ กลุ่มคนองค์กรที่ใช้แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงได้ผลกระทบน้อยที่สุด กลุ่มคนว่างงานจากวิกฤติระบาดของโรคอาจจะนำไปสู่การทางเลือกคือการเน้นเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้นในชีวิต 3.ด้านสังคม การเคลื่อนย้ายแรงงานน้อยลง บทบาทเทคโนโลยีเข้ามาแทนที่ และ 4.ด้านการศึกษา จะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เต็มรูปแบบ จัดการเรียนการสอนออนไลน์เข้ามามีอิทธิพลต่อระบบการศึกษา ผลต่อการศึกษาของชาติในระยะยาวจะเปลี่ยนไป
วิถีชีวิตใหม่ในการดูแลสุขภาพ การตระหนักถึงโรคหรือสิ่งที่บันทอนชีวิตที่นอกเหนือการคาดการณ์ว่าจะมีโรคใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การทำความเข้าใจต่อโรคต่ออื่นๆ มากขึ้น ปรากฏการณ์ทางสังคมที่จะปรากฏปกติหลังการแพร่ระบาดของโรคสิ้นสุดลง ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญและแวดระวังโรคติดต่อมากขึ้น
สิ่งที่ผู้คนส่วนหนึ่งยังปฏิบัติเป็นปกติวิถีชีวิตใหม่ คือ การสวมหน้ากากในที่สาธารณะ การเว้นระยะห่างระหว่างกันมากขึ้น การเดินทาง ผู้จัดกิจกรรมการท่องเที่ยวเน้นให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสุขภาพมากขึ้น แบบแผนการดำเนินชีวิตส่วนบุคคล ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองมากขึ้น ตรวจสุขภาพมากขึ้น การใส่ใจบุคคลรอบข้างและครอบครัวมากขึ้น เพราะในช่วงโควิดการไปมาหาสู่ได้ยากสืบเนื่องจากมีข้อจำกัดของการเคลื่อนย้ายระหว่างพื้นที่ แบบแผนชีวิตด้านสุขภาพทางสังคม มีการเว้นระยะห่างความระมัดระวังการรวมกลุ่มมากขึ้น วิถีชีวิตใหม่ด้านเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจะไม่เหมือนเดิม
ความปกติใหม่ที่ดีต้องอยู่ภายใต้ความรู้ ความเข้าใจและมีระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด ให้อยู่ในระดับที่พอดำเนินชีวิตต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์ที่กำลังเผชิญ เป็นส่วนที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการจัดการชีวิตปกติใหม่ ท่ามกลางภัยพิบัติไวรัสโควิด-19 อยู่อย่างปลอดภัย การพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะในระดับประเทศหรือระดับประชาคมโลก ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสังคม
นั่นหมายความว่าการพัฒนาต้องทำให้คนในสังคมเข้มแข็ง มีความเข้าใจตัวเอง เข้าใจบริบทความเปลี่ยนแปลงของโลก และที่สำคัญต้องเข้าใจให้ชัดว่าหลังโควิด-19 โลกและทุกอย่างได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ว่าระบบเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม คงต้องลุ้นว่าการเมืองไทยจะเปลี่ยนไปด้วยหรือไม่ คงต้องจับตากันต่อไป